วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > พิษโอไมครอนชี้ชะตา “บิ๊กตู่” เดิมพันพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

พิษโอไมครอนชี้ชะตา “บิ๊กตู่” เดิมพันพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเจอบททดสอบอีกครั้งกับการเร่งสกัดการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่ลุกลามไปมากกว่า 21 ประเทศทั่วโลกแล้ว ท่ามกลางความหวังการพลิกฟื้นประเทศ ผลักดันเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 เพื่อเพิ่มแรงส่งต่อเนื่องไปถึงปี 2565

ล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้นัดประชุมหารือกันในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ เพื่อประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ และยังเชื่อว่า การระบาดใหม่จะไม่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจทันที แต่ปี 2565 มีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์ช่วงรอยต่อเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นมหกรรมหยุดยาวและนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย จะพบผู้ติดเชื้อหรือไม่ ระบบการตรวจสอบของทางการจะเข้มข้นหรือไม่ จะพบผู้ติดเชื้อและจะเกิดการแพร่ระบาดหรือไม่

สำหรับประเทศที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนล่าสุด ได้แก่ แอฟริกาใต้ บอตสวานา เบลเยียม ฮ่องกง อิสราเอล เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐเชก โปรตุเกส สหราชอาณาจักร สวีเดน ญี่ปุ่น สเปน ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ บราซิล ฝรั่งเศส กานา เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และไอร์แลนด์

สิ่งที่น่าวิตก คือ หลายประเทศต่างลุยมาตรการสกัดกั้นผู้ติดเชื้อจากประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่สุดท้ายมีผู้ติดเชื้อแทรกซึมเข้ามาได้อีก อย่างกรณีสหรัฐอเมริกาตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยผู้ติดเชื้อรายนี้เดินทางกลับจากประเทศแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ซึ่งทางการสหรัฐฯ ยังไม่ได้ประกาศบังคับใช้คำสั่งระงับการเดินทางในเวลานั้น และเขาฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือเข็มบูสเตอร์ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ขณะที่ประเทศไทยออกประกาศตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ห้าม 8 ประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย ซิมบับเว และแอฟริกาใต้เดินทางเข้าไทย

ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาแล้ว ต้องกักตัว 14 วันและตรวจเชื้อแบบ RT-PCR โดยข้อมูลผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกา ตั้งแต่วันที่ 15-27 พฤศจิกายน จากกลุ่มเสี่ยงสูง 8 ประเทศ เข้ามาในระบบแซนด์บ็อกซ์ 255 คน ออกจากไทยแล้ว 3 คน คงค้างในไทย 252 คน ซึ่งทางการไทยต้องติดตามอย่างเร่งด่วน เนื่องจากโอไมครอนมีการติดเชื้อง่ายและแสดงอาการไม่มาก จึงอาจเกิดการลุกลามได้ง่าย

แน่นอนว่า ไวรัสกลายพันธุ์เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดของแผนพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจด้านการบริการ โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว และธุรกิจค้าปลีก หากต้องบังคับมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งจะลามเป็นลูกโซ่ทันที

แผนผ่อนคลายกิจการที่เหลือต้องหยุดชะงักทั้งหมด รวมถึงกลุ่มกิจการผับ บาร์ คาราโอเกะ ซึ่งกำลังเรียกร้องเร่งปลดล็อกเปิดกิจการภายในเดือนธันวาคมนี้ หรือเลื่อนเร็วขึ้นจากเดิมที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนดไว้ในวันที่ 16 มกราคม 2565 และกระทรวงสาธารณสุขจะต้องทบทวนมาตรการการเปิดประเทศอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวยุโรปและอเมริกายังไม่มีการถอนการเดินทาง ส่วนผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อและตรวจสอบประวัติแล้ว รวมทั้งตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ยังไม่มีนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศแถบแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศไทย

“การเกิดโอไมครอนจะคิดเป็นลบ หรือบวกก็ได้ ตราบใดที่ประเทศเราโดยกระทรวงสาธารณสุขและคนไทยทั้งชาติรณรงค์ป้องกัน เมื่อผลกระจายข่าวออกไป จนถึงกลางเดือนธันวาคมอย่างเร็ว หรือสิ้นเดือนธันวาคมเป็นอย่างช้า หากผลออกมาในทิศทางที่ดีจะทำให้มีการตัดสินใจว่าควรเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย เพราะจากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พบในจังหวัดติดเชื้อ 100-300 คน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 6 หมื่นคน ติดเชื้อเฝ้าระวัง ระยะ 1-3 ประมาณ 200 คน หรือ 0.3% และไม่มีการแพร่ระบาดระหว่างกัน คือคนไทยติดหมู่คนไทย และการเปิดท่องเที่ยว 1-30 พฤศจิกายน นักท่องเที่ยว 1 แสนคน แต่มี 0.1% ที่ติดเชื้อ ตอบโจทย์ว่านักท่องเที่ยวในประเทศไทยดูแลตัวเองเป็นอย่างดี”

ขณะเดียวกัน กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังมั่นใจว่า ในปี 2565 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.3-1.8 ล้านล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยว 10-15 ล้านคน

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดทั้งปี 2564 ซึ่งเหลืออีก 1 เดือนสุดท้าย จะผลักดันตัวเลขเป้าหมายการสร้างรายได้รวมทั้งตลาดคนไทยและตลาดต่างชาติ 4 แสนล้านบาท และปี 2565 จะดึงรายได้การท่องเที่ยวกลับมาให้ได้ 50% ของปี 2562 หรืออยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท ปี 2566 ต้องให้ได้ 80% ของปี 2562 หรือเท่ากับรายได้ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 จะดีขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะตลาดท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากการเดินทางเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น ประกอบกับช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี มีวันหยุดยาวหลายวัน ถือเป็นฤดูกาลเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย โดยยอดจองห้องพักล่วงหน้าเริ่มเห็นบ้างแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน เพราะพฤติกรรมคนไทยมักจองโรงแรมที่พักเป็นอย่างสุดท้ายในการวางแผนการท่องเที่ยวและมักเลือกจองในช่วงวินาทีสุดท้ายก่อนตัดสินใจ แบบระยะสั้นมาก ๆ ไม่เกิน 1-3 วัน ทำให้ประเมินยาก

ในส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามานับตั้งแต่การเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมถึงเห็นการจองผ่านระบบไทยแลนด์พาสอีกกว่า 3 แสนคน แต่ต้องจับตาโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ตลาดยุโรปที่เป็นตลาดหลักของไทยอาจถูกกระทบได้ เพราะเห็นการติดเชื้อในประเทศยุโรปเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องคุมเข้มและพยายามปิดช่องโหว่ต่างๆ หลังเจอบทเรียนอันเจ็บปวดจากการแพร่ระบาดโควิดกลายพันธุ์เดลตา ทั้งยอดผู้ติดเชื้อทะลุหลัก 2 หมื่นคนต่อวัน มีผู้เสียชีวิตทุกวัน ตายคาบ้าน คาถนน ต้องใช้เม็ดเงินเยียวยาผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์หลายแสนล้านบาท ขณะที่ยังมีผู้คนตัดสินใจจบชีวิตหนีวิกฤตเศรษฐกิจเพราะถูกเลิกจ้าง ลดชั่วโมงการทำงาน สูญรายได้

ทั้งหมดยังคงหลอกหลอนและไม่มีใครอยากให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแน่นอน

ใส่ความเห็น