การจับมือกันของ 2 ยักษ์ใหญ่ “ทรู-ดีแทค” กลายเป็นดีลประวัติศาสตร์ล่าสุดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) หลังจากช่วงปี 2563 ทุ่มเม็ดเงินมากกว่า 3 แสนล้านบาท เอาชนะการประมูลซื้อกิจการเทสโก้โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซีย พร้อม ๆ กับปมปัญหาใหญ่ที่ต้องตามเคลียร์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อครหาเรื่องการผูกขาดกินรวบตลาด
สำหรับดีลใหม่มีกระแสข่าวเล็ดลอดก่อนหน้าอยู่เป็นระยะ แต่หลายฝ่ายยังไม่อยากเชื่อ เพราะต่างเป็นคู่แข่งกัน โดยบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นค่ายเครือข่ายมือถืออันดับ 2 ของไทย มีผู้ใช้บริการกว่า 32 ล้านเลขหมาย ส่วนบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มีผู้ใช้บริการกว่า 19.3 ล้านเลขหมาย
ขณะที่เบอร์ 1 อย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส มีผู้ใช้บริการ 43.7 ล้านเลขหมาย
ใครจะคาดคิดว่า เบอร์ 2 และ 3 ตัดสินใจผนึกกำลังกันทำให้มีผู้ใช้งานรวมกันถึง 51.3 ล้านเลขหมาย แซงหน้าเอไอเอสทันที
ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ของบริษัทแม่ทั้งสองฝ่าย นำเสนอดีลรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า การสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยสนับสนุนผ่าน “ทรู” และ “ดีแทค” ปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ตอัป เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค โดยระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรูและดีแทคยังคงดำเนินตามปกติของแต่ละบริษัท
เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ตั้งเป้าจะหาข้อสรุปของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่
ด้านทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่ง (Due Diligence) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้แล้วเสร็จ
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ย้ำว่า การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยี คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดดและสร้างความเจริญกระจายทั่วประเทศ ซึ่งในฐานะบริษัทไทยมุ่งมั่นจะเป็นส่วนหนึ่งช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทยและผู้ประกอบการดิจิทัลไทย ดึงดูดคนที่เก่งที่สุดและธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลกเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย โดยบริษัทใหม่จะตั้งกองทุนมูลค่า 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ หนุนผู้ประกอบการ สตาร์ตอัป แพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ
ทว่า ทันทีในวันรุ่งขึ้น สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกันแถลงต่อต้านภายใต้หัวข้อ “กรณี ซีพี – เทเลนอร์ ควบรวมกระทบผู้บริโภค!” ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ สอบ. โดย ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. ระบุว่า ประเทศไทยมีค่ายมือถือ 3 ค่ายหลักแข่งขันกันอยู่ในประเทศ ทั้งด้านพัฒนาการบริการใหม่ๆ การขยายพื้นที่ให้บริการ การแข่งขันด้านราคา ซึ่งการแข่งขันต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แต่หากมีการควบรวมกัน แม้ในระดับผู้ถือหุ้น อาจทำให้สัดส่วนการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไปหรือลดลงจาก 3 ค่าย จะมีแค่ 2 ค่ายเท่านั้น ซึ่งกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมากอย่างแน่นอน
องค์กรผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงประชาชนให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อการควบรวมกิจการที่กำลังจะเกิดขึ้น เรียกร้องให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าสั่งห้ามการควบรวมกิจการที่จะนำไปสู่การสร้างอำนาจเหนือตลาด พร้อมทั้งทำหนังสือถึงคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดบริษัทใหม่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 52%
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ซีพียังมีดีลซื้อกิจการโลตัส ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับ 36 องค์กรผู้บริโภค ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายพร้อมขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวนั้น
แม้ล่าสุด ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ไม่รับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวดังกล่าว แต่องค์กรผู้บริโภคยืนยันจะยื่นคำคัดค้านต่อไป โดยงัดเอกสารนำเสนอเพิ่มเติมเป็นข้อมูลกรณีศึกษาคณะกรรมการของต่างประเทศที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการของซีพีที่เข้าซื้อธุรกิจแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา หลังจากศึกษาและพบว่า หากเกิดการควบรวมกิจการจะทำให้ซีพีมีอำนาจเหนือตลาด มีส่วนแบ่งตลาดราว 50%
จนกระทั่งช่วงเดือนตุลาคม 2564 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในเครือซีพีเช่นกัน ได้รับโอนกิจการกลุ่มโลตัสในประเทศไทยและมาเลเซียจากบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) โดยระบุว่า เป็นการเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจในต่างประเทศ นำความเชี่ยวชาญในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกของทั้ง แม็คโคร และกลุ่มโลตัส สนับสนุน SMEs และผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของไทยผ่าน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่จะจัดจำหน่ายสินค้าสู่ผู้บริโภคในระดับภูมิภาคเอเชียและสร้างการยอมรับในมาตรฐานสินค้าไทยสู่ระดับสากล
แต่ที่หลายฝ่ายมองมากกว่านั้น คือ ปัจจุบัน แม็คโครดำเนินธุรกิจค้าส่ง ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในทวีปเอเชีย โดยพิจารณาจากยอดขายรวมเมื่อปี 2563 แยกเป็น 2 กลุ่มหลัก
กลุ่มแรก ธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้า เน้นการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง และสินค้าอุปโภค (Non-food products) แก่ลูกค้าที่เป็นร้านค้าปลีกรายย่อย (Food retailer) ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และจัดเลี้ยง (HoReCa) และผู้ประกอบธุรกิจบริการ มีสาขาทั้งหมด 145 สาขา แบ่งเป็นสาขาในไทย 138 สาขา ต่างประเทศ 7 สาขา ได้แก่ กัมพูชา 2 สาขา อินเดีย 3 สาขา (ภายใต้แบรนด์ “LOTS Wholesale Solutions”) จีน 1 สาขา และเมียนมา 1 สาขา คิดเป็นพื้นที่ขายรวมกว่า 800,000 ตารางเมตร
2. กลุ่มธุรกิจนำเข้า ส่งออก จำหน่ายอาหารแช่แข็งและแช่เย็นพร้อมบริการจัดส่ง (Food Service) แก่ลูกค้าหลักกลุ่มโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ร้านอาหารระดับบน โรงพยาบาล และสายการบิน
ส่วนกลุ่มโลตัสดำเนินธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยและมาเลเซีย มีร้านค้าในประเทศไทย 2,094 แห่ง ประกอบด้วย ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 219 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 196 แห่ง และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต 1,679 แห่ง รวมถึงดำเนินธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าอีก 196 แห่ง
ในมาเลเซียเปิดให้บริการห้างโลตัส 62 แห่ง ประกอบด้วย ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 แห่ง และซูเปอร์มาร์เก็ต 16 แห่ง รวมถึงมีธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า 57 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวมประมาณ 296,000 ตารางเมตร
การรับโอนกิจการทำให้แม็คโครมีธุรกิจแบบครบวงจร ครอบคลุมธุรกิจค้าส่งแบบ B2B ธุรกิจค้าปลีกแบบ B2C และธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าในไทยและมาเลเซีย ซึ่งแม็คโครระบุเป้าหมายเน้นการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ซึ่งยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หรือบอร์ดแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาการโอนกิจการจะขัดเงื่อนไขที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ากำหนดไว้ 7 ข้อหรือไม่ คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
เงื่อนไข 7 ข้อ ได้แก่ 1. ห้ามธุรกิจในเครือควบรวมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายอื่นนาน 3 ปี ไม่รวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
2. หลังควบรวมแล้วให้เพิ่มสัดส่วนสินค้าจากผู้ประกอบการ SME ไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี
3. หลังควบรวมแล้วห้ามมิให้ใช้หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด
4. ให้คงสัญญาที่ทำไว้กับซัปพลายเออร์ 2 ปี
5. กำหนดระยะเวลาเครดิตเทอม กลุ่มผู้ประกอบการ SME เป็นเวลา 30-45 วัน เป็นเวลา 3 ปี
6. ให้รายงานผลประกอบการต่อ กขค. เป็นเวลา 3 ปี และ 7. หลังควบรวมแล้วให้จัดทำ code of conduct เผยแพร่ต่อสาธารณะ
ดังนั้น ซีพีต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเคส “ทรู-ดีแทค” หรือดีลซื้อกิจการเทสโก้โลตัส ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อผูกขาด ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียวและไม่ได้ทำลายระบบการแข่งขันอย่างที่ถูกครหา ท่ามกลางการจับจ้องของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่พร้อมจะลุกฮือได้ตลอดเวลา