วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > จาก Go Global สู่ Go Fully Digital เปิดทางฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

จาก Go Global สู่ Go Fully Digital เปิดทางฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างยากที่จะปฏิเสธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตและเป็นตัวเร่งบทบาทของดิจิทัลให้ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งการทำงาน การเรียน การสื่อสาร การซื้ออาหารและสินค้า การชำระเงิน ตลอดจนมาตรการเยียวยาต่างๆ จากภาครัฐ ที่ล้วนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลแทบทั้งสิ้น

ไม่เพียงมีบทบาทในชีวิตประจำวัน แต่เทคโนโลยีดิจิทัลยังมีความสำคัญต่อระบบอุตสาหกรรมและเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคง ซึ่งหลายๆ ฝ่ายมองว่านี่คือการเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง และเมื่อประเทศกำลังเข้าสู่การฟื้นฟูหลังเผชิญกับวิกฤตโควิดที่หนักหน่วงครั้งนี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่เข้ามาช่วยพลิกฟื้นประเทศให้กลับมาดีขึ้นได้อีกครั้ง

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางในการฟื้นฟูประเทศหลังโควิดไว้ว่า “ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โลกจะปรับตัวเข้าสู่ New Normal และจะมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและภาคการผลิตของไทย โดยระบบการผลิตแบบเดิมที่เน้นการผลิตปริมาณมากๆ จะลดบทบาทลง ในขณะที่การผลิตแบบ Small Lot ที่มีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ทั้ง 5G และ AI จะถูกเร่งให้มีการนำมาใช้เร็วขึ้น และจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมและการผลิต เพื่อช่วยให้ประเทศไทยพร้อมรับกับอุตสาหกรรม 4.0”

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะยกระดับศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นควบคู่กับการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนในชื่อ “แผน 6S” ประกอบด้วย
1. การพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

2. Smart Agricultural Industry ยกระดับเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตรโดยใช้การบริหารจัดการแบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

3. ส่งเสริม SME & Start up โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐานในการช่วยยกระดับเอสเอ็มอีและขยายธุรกิจให้กับกลุ่มสตาร์ตอัป

4. SEZ (Special Economic Zone) & Investment Promotion ส่งเสริมและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับแรงงานกลับถิ่นและการขยายตัวของเศรษฐกิจเชิงพื้นที่

5. Smart Factory 4.0 ยกระดับการประกอบการอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6. Service Transformation การยกระดับการให้บริการ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม 4.0 ปฏิรูปองค์กรไปสู่ Smart Government

ซึ่งถือเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังโควิดที่มาจากกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานของภาครัฐ

ในขณะที่ภาคเอกชนอย่างบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่เรียกได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่งด้านเทคโนโลยีก็ออกมาเปิดตัวนวัตกรรมดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ทั้ง 5G คลาวด์ และ AI ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมพลังงานอัจฉริยะ การเงิน การแพทย์และการศึกษา เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยปลดล็อกและยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจไทยสู่ยุคดิจิทัลได้

นวัตกรรมดิจิทัลจากหัวเว่ยที่ค่อนข้างน่าสนใจ เช่น นวัตกรรมคลาวด์สำหรับภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ในชื่อ “Cloud Tractor Training” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันจำลองการฝึกขับรถแทรกเตอร์ผ่านเครือข่าย 5G และคลาวด์ โดยเกษตรกรจะสามารถใช้โซลูชันดังกล่าวเพื่อฝึกฝนการขับรถแทรกเตอร์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร

“Machine Vision Product Line” นวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต โดยใช้ AI บนหัวเว่ยคลาวด์และเครือข่าย 5G ความเร็วสูงไปติดตั้งกับกล้องตรวจเช็กคุณภาพสินค้าจากโรงงานผลิต ซึ่งวิธีการนี้มีความแม่นยำในการตรวจสอบถึง 90% ลดการใช้แรงงานคนได้ถึง 70% และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งได้อีกด้วย

“Smart Energy” นวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดและเปลี่ยนอุตสาหกรรมพลังงานแบบเดิมสู่พลังงานดิจิทัล ซึ่งหัวเว่ยได้เปิดตัวธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2564 เน้นการผลิตพลังงานสะอาดทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิม รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นเทรนด์แห่งยุค โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT การประหยัดพลังงานทั้งจากบ้านเรือนและในภาคอุตสาหกรรม การกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และ Smart PV

“Immersive Retail” การทำตลาดร้านค้าปลีกแห่งอนาคต ยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งด้วยเทคโนโลยี Big Data, AI และ VR/AR เพื่อช่วยให้การซื้อของออนไลน์สะดวกมากยิ่งขึ้น

“Smart Finance” โดยใช้เทคโนโลยีคลาวด์มาประยุกต์กับอุตสาหกรรมการเงินเพื่อรองรับการใช้งานและบริการทางการเงินในทุกสถานการณ์ ซึ่งพบว่ามีความปลอดภัยและยืดหยุ่นสูง

ไม่เพียงภาคธุรกิจเท่านั้น แต่เทคโนโลยีดิจิทัลจากหัวเว่ยยังถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาและการแพทย์อีกด้วย อย่างนวัตกรรมด้านสาธารณสุขในชื่อ “Smart Healthcare” ที่สร้างแพลตฟอร์มการจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์โดยใช้คลาวด์และ 5G ในการรับส่งข้อมูล เน้นรองรับปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของคนไข้ระหว่างการนำส่งไปถึงมือแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะสามารถทำการวินิจฉัยผู้ป่วยและให้คำแนะนำบุคลากรในรถพยาบาลเพื่อรักษาอาการเบื้องต้นได้

“Smart Campus” โดยใช้คลาวด์, Big Data และ AI เชื่อมต่อผู้คน ยานพาหนะ และทุกอย่างในแคมปัสเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างแคมปัสที่ปลอดภัย สะดวก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“Smart Education” ประยุกต์ใช้คลาวด์ในภาคการศึกษาเพื่อสร้างห้องเรียนอัจฉริยะและห้องแล็บแบบเวอร์ชวลเรียลลิตี้สำหรับการสอนเชิงปฏิบัติการ ซึ่งคลาวด์จะเข้ามาปรับโฉมการเรียนการสอนให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้จับมือกับ 5 พันธมิตรหลัก ทั้งองค์กรจากภาครัฐและเอกชนที่ครอบคลุมทั้งโทรคมนาคม สื่อทีวี ภาคบริการ และการเงินการธนาคาร เพื่อปลดล็อกศักยภาพของธุรกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิดและผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งพันธมิตรทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีบีทีวี นิว มีเดีย จำกัด, บริษัท แอพแมน จำกัด, บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) และทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป

สำหรับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาตินั้น ถือเป็นผู้ให้บริการคลาวด์แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีผู้รับบริการมากกว่า 300 หน่วยงาน การร่วมมือกับหัวเว่ยครั้งนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์เพื่อรองรับโครงการสมาร์ทซิตีและรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันหัวเว่ยเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกเพียงรายเดียวที่มีศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย และยังได้ขยายศูนย์ข้อมูลแห่งที่สามเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งในเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ เทคโนโลยีคลาวด์ยังสามารถนำมาพัฒนาธุรกิจสื่อได้อีกด้วย ทั้งการพัฒนาคอนเทนต์ดิจิทัล การทำโฆษณา และกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ซึ่งน่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรมจากความร่วมมือกับทั้งบีบีทีวี นิว มีเดีย, แอพแมน และสยามราชธานี ส่วนความร่วมมือกับทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน EI (Enterprise Intelligence) และบริการคลาวด์ด้าน Machine Learning ซึ่งความร่วมมือทั้งหมดนี้หัวเว่ยเชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลในประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

จะเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5G, คลาวด์ และ AI ที่จะกลายเป็นเสาหลักของการฟื้นตัวและสร้างความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม การพลิกฟื้นประเทศคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญและคล่องตัวสูง รวมถึงภาครัฐในฐานะผู้กำกับนโยบายหลักที่ต้องก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

ใส่ความเห็น