ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ หลายคนปล่อยตัวเองให้แสวงหาความสุขจากหน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ และละเลยที่จะขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายตามสมควร แม้จะมีความปรารถนาที่อยากจะให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดี
หลายคนมองหาตัวช่วย อุปกรณ์ออกกำลังกายขนาดเล็กที่สามารถเล่นที่ไหนก็ได้ด้วยเวลาเพียงน้อยนิดต่อวัน อีกทั้งยังอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถเนรมิตหุ่นให้สวย ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้ เช่นเดียวกับพรีเซนเตอร์ที่มานำเสนอ
แม้จะไม่อยากยอมรับไปเสียหมด แต่อุปกรณ์เหล่านั้นเป็นตัวช่วยที่สร้างให้เกิดสุขภาพที่ดี หุ่นแบบในฝันของใครหลายคนได้ แต่นั่นต้องมาพร้อมกับความอดทนและวินัยที่ดีเช่นกัน
สุขภาพร่างกายที่ดี แข็งแรง ปราศจากโรคภัยเป็นสิ่งที่ใครหลายคนปรารถนา นอกจากการเลือกรับประทานให้ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่แล้ว การออกกำลังคือกิจกรรมสำคัญที่ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้ คำแนะนำมากมายระบุว่า เราควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์
การออกกำลังกายที่หลายคนนิยม และง่ายที่จะเริ่มคือการวิ่ง แอโรบิก หรือกีฬาชนิดต่างๆ ที่มีอุปกรณ์เพียงไม่กี่อย่างก็สามารถเริ่มได้แล้ว
แต่วันนี้เรามาเจาะลึกลงไปอีกนิด เพราะยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่า การออกกำลังกายแบ่งได้เป็นกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร ข้อดี รวมไปถึงเหมาะสำหรับใครบ้าง
การออกกำลังกายแบ่งออกได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Strength 2. Cardio 3. Flexibility ซึ่งแต่ละรูปแบบมีข้อดีแตกต่างกัน วันนี้ “ผู้จัดการ 360 องศา” จะมาขยายความให้ได้เข้าใจกันมากขึ้น
1. Strength หรือความแข็งแรง เป็นการออกกำลังที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความทนทาน ความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย กล้ามเนื้อมัดต่างๆ จะถูกใช้งาน การออกกำลังชนิดนี้จะอาศัยแรงต้าน หรือการแบกน้ำหนักของตัวเอง หรืออาจมีการเพิ่มน้ำหนักเข้ามาในการออกกำลังกายจากอุปกรณ์เสริม
หากจะมองว่า การออกกำลังกายประเภทนี้เป็นการปูทางสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย เพื่ออัปเลเวลไปสู่กิจกรรมการออกกำลังที่หนักขึ้นก็ว่าได้
การออกกำลังประเภทนี้ ได้แก่ Weight Training, การยกน้ำหนัก และอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น ยางยืดแรงต้านขนาดต่างๆ ดัมบ์เบล ลูกบอล แผ่นสไลด์ หรือแม้แต่ตัวเปล่า
นอกจากนี้ การออกกำลังที่เพิ่มความแข็งแรง ทนทานให้ร่างกาย จะช่วยซ่อมแซมระบบเผาผลาญพลังงานให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับผู้ที่ต้องการเสริมสร้างพละกำลังให้ร่างกาย คนวัยหนุ่มสาว อาจไม่เหมาะกับผู้สูงวัยเท่าไรนัก
ขณะที่ข้อควรระวังคือ การออกกำลังกายด้วยการแบกน้ำหนักตัวเองหรือการยกดัมบ์เบลนั้น ไม่ควรฝืนจนเกินกำลังของร่างกายจนเกินไป อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อได้ง่าย
2. Cardio คาร์ดิโอเป็นการออกกำลังกายที่หลายคนเลือก เพราะง่าย สนุก ซึ่งการออกกำลังกายประเภทนี้เป็นการบริหารหัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิตได้เป็นอย่างดี เพราะลักษณะรูปแบบการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอนี้เป็นการออกกำลังกายที่ใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อเนื่อง ซึ่งนี่เองที่จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผู้เล่นอยู่ที่ระดับ 60-70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ด้วยอัตราการเต้นของหัวใจนี้เองที่จะช่วยให้ร่างกายได้เผาผลาญไขมันและพลังงานที่รับเข้าไปได้เป็นอย่างดี
การคาร์ดิโอ สามารถทำได้หลายแบบด้วยกัน เช่น การวิ่ง เดินเร็ว แอโรบิก บอดี้คอมแบต การเต้นแบบซุมบา (Zumba) หรือ HIIT
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ และไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรเริ่มด้วยการเดินด้วยความเร็วสม่ำเสมอ แกว่งแขน และควมคุมการหายใจเข้าออกให้เป็นระบบ จากนั้นค่อยพัฒนาเป็น เดินสลับวิ่ง
การคาร์ดิโอ เหมาะกับคนทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งสามารถเลือกความหนักเบาที่เหมาะสมกับตัวเองได้ เช่น ผู้สูงวัยควรเลือกการเดินแกว่งแขน เด็กหรือวัยรุ่นอาจเลือกการเต้นแอโรบิก ซุมบา หรือบอดี้คอมแบต
3. Flexibility การออกกำลังประเภทนี้มักเน้นไปที่การยืดเหยียดร่างกาย ผสมผสานกับการควบคุมลมหายใจในระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกายในท่วงท่าต่างๆ ได้แก่ โยคะ พิลาทิส ไทชิ
การออกกำลังชนิดนี้จะช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้ดีกว่า การออกกำลังสองประเภทแรก ที่มีความเสี่ยงมากกว่า เหมาะกับทุกวัย ทว่า สำหรับผู้เริ่มต้นควรมีเทรนเนอร์หรือผู้ฝึกสอนคอยให้คำแนะนำหรือจัดท่าที่ถูกต้องให้
หลังจากทำความเข้าใจการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ และเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเองได้แล้ว สิ่งสำคัญลำดับถัดมาคือ การตั้งเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความพยายามที่จะนำพาตัวเองออกไปออกกำลังกายในแบบที่ชอบ
การตั้งเป้าหมายนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจตั้งเป้าหมายเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วยง่าย บางคนอาจต้องการมีรูปร่างที่สวยงาม มีซิกซ์แพ็ก ร่อง 11 หรือบางคนอาจมีเป้าหมายที่สูงขึ้น เช่น เตรียมความพร้อมเพื่อจะเข้าร่วมการแข่งขันมาราธอน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดต้องมาจากความพยายาม และวินัยที่ดี
หลายคนอาจล้มเลิกได้ง่ายหลังจากเริ่มต้นออกกำลังกายไปได้เพียงไม่กี่วัน ดังนั้นหากเมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกท้อใจ หรือไม่มีแรงบันดาลใจที่จะออกกำลังกายอีกครั้ง ให้ลองนึกถึงความตั้งใจแรกที่ทำให้เราตัดสินใจลุกมาออกกำลังกายอีกครั้ง ถือเป็นตัวช่วยที่ดี
เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง