ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนเป็นต้นมา ทั้งผลพวงจากร่องความกดอากาศต่ำที่เกิดจากพายุโกเซิน พายุเตี้ยนหมู่ ก่อให้เกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดของประเทศไทย
แม้บางพื้นที่สถานการณ์จะคลี่คลายและกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วก็ตาม แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังต้องรับมือกับมวลน้ำในครั้งนี้ แม้ว่าปริมาณน้ำจะยังไม่เท่ามหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ก็ตาม
ความแปรปรวนของสภาพอากาศของโลกก่อให้เกิดพายุขึ้นอีกหลายลูก แม้ว่าความรุนแรงของพายุเหล่านั้นจะลดลงกลายเป็นหย่อมความกดอากาศกำลังแรงแล้วก็ตาม แต่อิทธิพลนั้นทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่
หากจะมองในแง่มุมของภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครสามารถกำหนดหรือหยุดยั้งได้ ทว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเรือกสวนไร่นาที่เพียงรอเวลาเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คงเป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับความสูญเสียครั้งนี้ เพราะสำหรับบางครอบครัวนั่นอาจหมายถึงรายได้หลักที่เกษตรกรรอคอยมาทั้งปี
สถานการณ์ความยากลำบากที่เกิดจากมหันตภัยโรคระบาดอย่างโควิด-19 สร้างบาดแผลให้แก่ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ แต่เหล่าเกษตรกรและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำตอนนี้คงคล้ายกับถูกโชคชะตากระหน่ำซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายหนักกว่าอีกหลายเท่า
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมในครั้งนี้ว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000-15,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีประมาณ 0.1-0.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความเสียหายแบ่งเป็นพืชเกษตร 6,349.51 ล้านบาท สิ่งสาธารณะ 4,972.20 ล้านบาท การค้า 1,316.10 ล้านบาท บ้านเรือน 1,320.30 ล้านบาท ปศุสัตว์ 753.90 ล้านบาท และอื่นๆ อีก 324 ล้านบาท ขณะที่นาข้าวจมน้ำไปกว่า 2 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบประมาณ 3 ล้านคน
ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปต่างรอคอยให้ภาครัฐออกมาตรการผ่อนปรน โดยหวังว่าจะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เช่น การอนุญาตให้กิจการกิจกรรมบางประเภทสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ แต่ดูเหมือนว่าอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คล้ายเป็นตัวการดับความหวังของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ยังประสบภัย
แสงแห่งความหวังที่คล้ายว่าจะเริ่มส่องสว่างอยู่ข้างหน้า ทว่ากลับไม่สามารถก้าวไปถึง มิหนำซ้ำอาจก่อให้เกิดความทุกข์ยากตามมาอีกมาก
แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วม ผู้ประสบภัยจะได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐในอนาคต กระนั้นยังไม่แน่ว่าจะเพียงพอให้กอบกู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ปัจจัยดังกล่าวเหมือนเป็นตัวบีบบังคับให้ประชาชนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย
ทั้งนี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 89.3 เปอร์เซ็นต์ ตามจีดีพีที่กลับมาขยายตัวจากฐานต่ำปีก่อนหน้าเป็นหลัก แต่สัดส่วนยังสูงกว่าระดับก่อนโควิดอย่างมีนัยสำคัญ และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 มาจากสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก เนื่องจากครัวเรือนยังคงมีความต้องการสินเชื่อทดแทนสภาพคล่องที่ลดลงในช่วงเศรษฐกิจซบเซา
ในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยปัญหาหนี้สูงจะยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ ซึ่งจากผลสำรวจผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่าส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาในการชำระหนี้และมากกว่า 1 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้มีปัญหาหนัก
ครัวเรือนที่มีหนี้สูงจะเข้าสู่ช่วงของการปรับตัวเพื่อลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (deleverage) ในระยะต่อไป เพื่อซ่อมแซมงบดุลของตนเอง ซึ่งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้และการเยียวยาด้านรายได้จากผลกระทบของมาตรการปิดเมือง ควบคู่กับการสนับสนุนการเพิ่มรายได้ในอนาคตผ่านมาตรการสนับสนุนการจ้างงานและการปรับทักษะแรงงาน จะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกระบวนการปรับตัวลดหนี้ของภาคครัวเรือนให้เป็นไปอย่างราบรื่น และลดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
การวิเคราะห์ของ SCB EIC เป็นไปในทิศทางเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจะกลับมาเร่งสูงขึ้น โดยคาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจขยับขึ้นเข้าใกล้กรอบบนของตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ในช่วง 90-92 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี เนื่องจากหนี้สินของภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง และครัวเรือนบางส่วนอาจก่อหนี้เพิ่มในช่วงต้นไตรมาสที่ 3/2564
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยธนาคารแห่งประเทศไทย โดย มนัสชัย จึงตระกูล ศรันยา อิรนพไพบูลย์ วัชรพงศ์ รัชตเวชกุล และอนุสรา อนุวงศ์ ได้เปิดเผยรายละเอียดจากรายงาน “X-ray หนี้ครัวเรือนภูมิภาค” โดยเป็นข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนทั้งประเทศในรอบ 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 5.6 ล้านล้านบาทในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านล้านบาทในปี 2563
ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมยังพบว่า ครัวเรือนไทยที่มีหนี้มีสัดส่วนลดลงจากระดับ 61 เปอร์เซ็นต์ในปี 2552 เหลือ 45 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564 และหากมองเป็นรายภาค ครัวเรือนภาคกลางมีหนี้ลดลงมากที่สุด โดยมีเพียง 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ขณะที่อีก 3 ภาคคือ อีสาน มีครัวเรือนที่มีหนี้เป็นสัดส่วนสูงสุด 61 เปอร์เซ็นต์ และสูงกว่าภาพรวม ขณะที่ภาคเหนือและภาคใต้มีสัดส่วนหนี้ที่ 49 และ 42 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้จะลดลง แต่ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยภาระหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนที่เป็นหนี้ในปี 2563 มีหนี้ 163,930 บาทเพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2552 โดยหนี้ของครัวเรือนภาคกลางค่อนข้างทรงตัว คือมีภาระหนี้ที่ 162,484 บาท เพิ่มขึ้นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนภาคอีสานแบกภาระหนี้เพิ่มสูงสุดคือมีหนี้ 180,277 บาท เพิ่มมากขึ้นถึง 52 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือภาคเหนือที่ 29 เปอร์เซ็นต์ และภาคใต้ 18 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนี้ครัวเรือนในภูมิภาคจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยแต่ทีมวิจัยยังพบว่าหนี้ครัวเรือนในภูมิภาคส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นที่เป็นไปเพื่อการอุปโภคบริโภค ในขณะที่หนี้ระยะยาวเพื่อซื้อสินทรัพย์ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย ยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ
แม้ครัวเรือนในภูมิภาคจะมีรายได้และรายจ่ายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่กลับมีภาระหนี้ต่อครัวเรือนสูง สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากครัวเรือนในภูมิภาคต้องพึ่งพารายได้ที่ไม่แน่นอน เช่น รายได้จากภาคการเกษตร เงินจากครอบครัว หรือเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งเมื่อเปิดภาวะเสี่ยงหรือขาดสภาพคล่องเป็นหนทางสู่การก่อหนี้เพิ่มขึ้น
นับเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสที่รัฐบาลปัจจุบันต้องเร่งหาทางแก้ไข ทั้งปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่ที่ประสบภัย อีกทั้งยังมีพื้นที่ที่ยังต้องการน้ำเพื่อการเพาะปลูก และอาจประสบกับปัญหาภัยแล้งในฤดูกาลหน้า
นอกจากนี้ สิ่งที่ภาครัฐต้องรับรู้คือ ปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้เป็นการซ้ำเติมภาคแรงงานที่หนีจากวิกฤตโควิดกลับไปยังภูมิลำเนาและผันตัวไปเป็นแรงงานภาคเกษตร
อุทกภัยที่กระหน่ำซ้ำเติมประชาชนหลายจังหวัดอยู่ในขณะนี้อาจจะส่งผลต่อการเพิ่มหนี้ครัวเรือนภูมิภาคในอนาคต