ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง มีผู้ประกอบการจำนวนมากทั้งรายใหญ่รายย่อยกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่จากวิกฤตโควิด-19 และการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ทำให้ธุรกิจกวดวิชาต่างได้รับผลกระทบและต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งกำลังปรับตัว บางแห่งสามารถไปต่อได้ แต่บางแห่งจำเป็นต้องปิดตัวลงหรือยุบรวมสาขาเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ “ออนดีมานด์” (OnDemand) สถาบันกวดวิชาเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย กลับยืนหยัดและยังคงศักยภาพในการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางโจทย์ยากที่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชากำลังเผชิญ
“ตั้งแต่วันแรกที่เราตัดสินใจทำออนดีมานด์ เราไม่ได้วาดภาพของการเป็นโรงเรียนกวดวิชา แต่ออนดีมานด์คือช่องทางที่ทำให้เราในฐานะเอกชนสามารถเข้าสู่เส้นทางในการพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยได้ เพราะฉะนั้นการออกแบบการเรียนการสอน การจัดรูปแบบองค์กร จึงแตกต่างจากโรงเรียนกวดวิชาทั่วไป” สาธร อุพันวัน ผู้ก่อตั้งออนดีมานด์ เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360” ถึงความเป็นมาของสถาบันกวดวิชาที่คิดต่างตั้งแต่เริ่มต้น
ย้อนกลับไปในปี 2548 ในยุคสมัยที่รูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่เป็นการเรียนในห้องเรียนหรือผ่านทีวี แต่ออนดีมานด์เป็นสถาบันกวดวิชาที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอนแบบหนึ่งต่อหนึ่งรายแรกในเมืองไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับแวดวงกวดวิชาในยุคสมัยนั้น
สาธรอธิบายแนวคิดของออนดีมานด์เพิ่มเติมว่า เพราะจุดตั้งต้นในการสร้างออนดีมานด์คือต้องการพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กไทย ดังนั้นจึงพยายามหาวิธีการเรียนการสอนที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เรียนมากที่สุด จึงกลายเป็นที่มาของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสอน เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีคือเครื่องมือที่สามารถช่วยพัฒนาระบบการศึกษาได้
การเรียนการสอนของออนดีมานด์นอกจากเรียนจากครูผู้สอนโดยตรงในห้องแล้ว ผู้เรียนยังสามารถเรียนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ที่สามารถกำหนดเวลาเรียน จะหยุดจะเริ่มตรงไหน ปรับความเร็ว/ช้า เหมือนปรับสปีดเวลาดูยูทูบได้ตามความต้องการของผู้เรียน ตรงตามคอนเซ็ปต์ของคำว่า “OnDemand”
อีกทั้งยังมีทีมวิชาการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละวิชาคอยให้คำแนะนำและหาคำตอบให้กับผู้เรียนผ่านระบบหลังบ้านอย่าง “clear” เพียงผู้เรียนแคปเจอร์หน้าจอในบทเรียนที่ไม่เข้าใจส่งเข้าระบบ ทีมวิชาการจะเป็นผู้หาคำตอบและอธิบายเพิ่มเติมให้กับผู้เรียนตลอด 24 ชั่วโมง และคอยช่วยครูผู้สอนอีกทางหนึ่ง
นอกจากภาควิชาการแล้ว สิ่งที่ทำให้ออนดีมานด์ต่างจากสถาบันกวดวิชาอื่นๆ คือ เพิ่มการแนะแนวให้กับเด็กๆ ทั้งในด้านการเรียน ค้นหาตัวตน เรื่องสังคม และแนะแนวด้านการเงินให้กับทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และครู โดยร่วมมือกับมันนี่โค้ชชื่อดังอย่าง “โค้ชหนุ่ม – จักรพงษ์ เมษพันธุ์” จัด Money Class แนะนำด้านการเงิน ทั้งการใช้เงิน การเก็บเงิน และการลงทุน เพื่อเป็นการปลูกฝังมุมมองด้านการเงินให้กับเด็กเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและในอนาคตได้
ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ออนดีมานด์แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 2 แบบคือ แบบออนไลน์ 15% และอีก 85% เป็นการเรียนกับคอมพิวเตอร์ที่สาขาของออนดีมานด์ แต่หลังการระบาดรอบแรก ออนดีมานด์ได้ปรับมาเป็นการสอนแบบออนไลน์ 100% ผู้เรียนสามารถเรียนได้จากทุกที่ผ่านแท็บเล็ต, คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือเพราะทุกอย่างอยู่บนคลาวด์
พร้อมทั้งปรับระบบโลจิสติกส์ในการจัดส่งตำราเรียนให้กับผู้เรียนถึงบ้าน ทำให้การเรียนการสอนไม่สะดุดแม้จะโดนสั่งปิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบการจัดอีเวนต์ต่างๆ มาเป็นแบบ “Live” แทน ทั้งการจัดติวก่อนสอบ หรือจัดรายการตอบปัญหาให้น้องๆ ทั้งปัญหาการเรียน ปัญหาชีวิตต่างๆ เพื่อประคับประคองจิตใจของเด็กและผู้ปกครองในช่วงโควิด จากการเตรียมพร้อมในการพัฒนาการเรียนแบบออนไลน์มาตั้งแต่ต้น ทำให้วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบต่อออนดีมานด์ได้น้อยมาก
“ผมมองว่าหัวใจสำคัญในการจะผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้คือต้องมีการปรับตัว เตรียมพร้อม และพัฒนา ซึ่งช่วงเวลาที่เราจะแก้วิกฤตได้ดีที่สุด คือช่วงที่มันยังไม่วิกฤต เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมพร้อม ทำให้ตัวเองแข็งแรงอยู่เสมอ และปรับตัวให้เร็ว เมื่อเกิดวิกฤตเราจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์มากกว่าจะเป็นผู้รับวิบากจากวิกฤตนั้นๆ” สาธรกล่าว
ปัจจุบันออนดีมานด์เปิดสอนในระดับประถมศึกษาถึงมัธยม ครอบคลุมเนื้อหาทั้งสายวิทย์-คณิต และวิชาสายศิลป์ จากโรงเรียนกวดวิชาที่เป็นพาร์ตเนอร์อย่าง Da’Vance, Forward English และ Farose Academy ในรูปแบบของ Ecosystem โดยมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 52 สาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีนักเรียนในระบบกว่า 100,000 คนต่อปี และได้ชื่อว่าเป็นสถาบันกวดวิชาเบอร์หนึ่งของประเทศ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดที่ผู้ก่อตั้งออนดีมานด์ตั้งใจให้เป็น
แม้จะเริ่มจากสถาบันกวดวิชา แต่อีกแง่หนึ่งออนดีมานด์คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการพัฒนาการศึกษาของไทย ที่ปัจจุบันได้แตกแขนงออกเป็นธุรกิจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประเภทต่างๆ ตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย ภายใต้ร่มใหญ่อย่าง “เลิร์น คอร์ปอเรชั่น” (Learn Corporation) องค์กรแห่งนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ด้วยแนวคิด “EdTech & Lifelong Learning” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
เลิร์น คอร์ปอเรชั่น เป็นหนึ่งในธุรกิจด้านการศึกษา ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาระบบและรูปแบบการศึกษาของไทย ประกอบด้วย 9 กลุ่มธุรกิจในเครือ
เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น (Learn Education) คิดค้นนวัตกรรมในการศึกษาที่ผสานเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอนด้วยระบบ “Blended Learning” ผสมการสอนของครูเข้ากับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาและช่วยให้ครูดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมใช้ระบบนี้กว่า 200 โรงเรียน ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ
ร่วมพัฒนาหลักสูตรใหม่กับโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม โรงเรียนในระบบกระทรวงการศึกษาแห่งแรกที่อยู่ภายใต้การดูแลของเลิร์น คอร์ปอเรชั่น ด้วยการนำหลักสูตรวิชาการจากออนดีมานด์และเทคโนโลยีจากธุรกิจในเครือ มีการใช้หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตามมาตรฐานของ Cambridge และสนับสนุนให้นักเรียนไม่ต้องเรียนเสริมนอกโรงเรียน
Learn O Life เป็นอีกหนึ่งหน่วยธุรกิจที่เน้นนวัตกรรมด้านการค้นหาตนเองผ่านหลักสูตรและเครื่องมือแนะแนว มีหลักสูตรสำหรับผู้ปกครอง โรงเรียน และครู เพื่อเป็นตัวช่วยในการพัฒนาจุดแข็งและทักษะที่เหมาะกับเด็กนักเรียน ซึ่งพบว่ามีโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง ที่ใช้หลักสูตรจาก Learn O Life ในการพัฒนาและแนะแนวเด็กนักเรียน
Skooldio เป็นหลักสูตรต่อยอดจากระดับมหาวิทยาลัย เน้นคอร์สเรียนเพื่ออัปสกิลใหม่ๆ ให้กับผู้ที่สนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยทำงาน เช่น คอร์สการเขียนโปรแกรม การทำธุรกิจดิจิทัล เวิร์กชอปต่างๆ โปรแกรมเทรนนิ่งให้กับองค์กร นำทีมโดย ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล อดีต Data Scientist ของ Facebook
แม้ว่านวัตกรรมต่างๆ ที่เลิร์น คอร์ปอเรชั่นคิดค้นขึ้นมาเพื่อพัฒนาการศึกษาของไทยจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับแวดวงการศึกษา แต่ความท้าทายจริงๆ แล้วอยู่ที่การศึกษาในระบบ การเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนในระบบจึงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่เลิร์น คอร์ปอเรชั่นให้ความสำคัญ
โดยได้แบ่งรายได้ 15% และนำนวัตกรรมตลอดจนระบบการเรียนการสอนของเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น เข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนและนักเรียนในระบบที่ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้แม้จะอยู่ในที่ห่างไกล อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและสมาคมต่างๆ อย่างมูลนิธิยุวพัฒน์ เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาแล้ว 9 ปี และให้การช่วยเหลือไปแล้วกว่า 600 โรงเรียน
นอกจากการช่วยเหลือโรงเรียนในระบบด้วยนวัตกรรมการศึกษาของเลิร์น เอ็ดดูเคชั่นแล้ว อีกหนึ่งโครงการที่ถือว่าสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนได้อย่างมากคือ “โครงการทุนเปลี่ยนชีวิต” (Life Changing Program) ที่ให้ทุนในการเรียนคอร์สต่างๆ จากออนดีมานด์และพาร์ตเนอร์ รวมถึงอุปกรณ์การเรียนในกรณีที่ความเหมาะสม พร้อมแนะแนวการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยและอาชีพในอนาคต สำหรับเยาวชนชั้นมัธยมปลายทั่วประเทศที่ต้องการโอกาส ซึ่งที่ผ่านมาสามารถสร้างโอกาสให้กับเด็กๆ จนสำเร็จการศึกษาและประกอบอาชีพตามที่ต้องการได้หลายราย
และในวิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง เลิร์น คอร์ปอเรชั่น ได้ขยายการให้ทุนการศึกษาอีกจำนวน 10,000 ทุน เพื่อแบ่งเบาภาระและสร้างโอกาสให้เยาวชน
แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นโรงเรียนกวดวิชา แต่ปัจจุบันออนดีมานด์กลับต่อยอดและพัฒนาจนกลายเป็นองค์กรนวัตกรรมที่พัฒนาการศึกษาซึ่งครอบคลุมในทุกมิติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการพัฒนาการศึกษาจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่สามารถทำสำเร็จได้จากเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ซึ่งภาครัฐสามารถใช้ความคล่องตัวและนวัตกรรมใหม่ๆ ของภาคเอกชน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาของประเทศได้
“เราไม่ได้ต้องการทำแค่โรงเรียนกวดวิชา เพราะฉะนั้นเป้าหมายเพียงเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มันจึงสั้นไป แต่สิ่งที่เราต้องการคือทำอย่างไรให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จได้จริงๆ เข้าถึงการศึกษาที่ดี ประสบความสำเร็จในการทำงาน ทำประโยชน์กลับคืนให้กับสังคม และตัวเขาเองมีความสุข นี่คือสิ่งที่เราวาดหวังเอาไว้” สาธรกล่าวทิ้งท้าย