วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ถึงคิว “กระท่อม” โกอินเตอร์ ปั่นราคาเจาะตลาดส่งออก

ถึงคิว “กระท่อม” โกอินเตอร์ ปั่นราคาเจาะตลาดส่งออก

ช่วงเวลาเดือนเศษๆ “กระท่อม” ปลุกเศรษฐกิจชาวบ้านคึกคัก ทั้งการจำหน่ายใบสดและยกต้น ผ่านช่องทางออนไลน์ เปิดท้ายรถกระบะขายริมทางไปจนถึงตามตลาดสดไม่ต่างจากพืชผักชนิดหนึ่ง แถมราคาเคยพุ่งสูงสุดถึงกิโลกรัมละ 800 บาท โดยกลุ่มสมัชชาพืชกระท่อมแห่งประเทศไทยคาดการณ์มูลค่าการซื้อขายในทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ น่าจะสูงกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว

ล่าสุด บริษัทเอกชนรายใหญ่ต่างแห่ทำสัญญารับซื้อใบกระท่อมจากเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ล่วงหน้า 1 ปี เพื่อเตรียมต่อยอดธุรกิจผลิตสินค้า หลังกฎหมายเปิดทางการผลิตเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม อาหารเสริม และยา

อย่างไรก็ตาม หากสำรวจเพจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใบกระท่อมหลายๆ แหล่ง ราคาขายเริ่มลดลง เนื่องจากมีผู้จำหน่ายเพิ่มมากขึ้น ราคาปัจจุบันอยู่ระหว่าง 400-450 บาทต่อกิโลกรัม หากสั่งซื้อจำนวนมาก เช่น 10 กิโลกรัมขึ้นไป คิดราคาเหลือ 380 บาทต่อกิโลกรัม หรือแบบมัด 30 ใบ จากที่เคยได้ราคาสูงถึง 100 บาท ตอนนี้กลายเป็น 60 ใบ 100 บาท

แม่ค้ารายหนึ่งเล่าว่า ผู้ค้ารายย่อยส่วนใหญ่รับใบกระท่อมจากผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่งผูกสัญญาซื้อเหมายกสวนจากแหล่งปลูก เช่น ในจังหวัดปทุมธานี ชุมพร โดยคัดเกรดใบแตกต่างกันและนำมาแบ่งขายอีกทอด เช่น ใบเกรด A ขนาดกว้าง 5 นิ้ว ใบเสมอกันทั้งมัด ราคาขายปลายทางตอนนี้ลดเหลือประมาณ 450-500 บาทต่อกิโลกรัม ใบรองขนาด 3-4 นิ้ว ราคาประมาณ 380-400 บาทต่อกิโลกรัม

“ธุรกิจขายใบกระท่อมอยู่ที่ใครไวกว่ากัน ช่วงสัปดาห์แรกที่กฎหมายปลดล็อกให้ขายได้ช่วงต้นเดือนสิงหาคม ราคาพุ่งสูงมาก กิโลละ 600-800 บาท และคนบริโภคใบกระท่อมไม่ได้มากขึ้น บางคนต้มน้ำกินจะเลือกใบใหญ่เพราะขยี้ง่าย พวกคนแก่เคี้ยวกินจะเลือกใบรอง เคี้ยวง่าย แต่ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่า ถูกกฎหมาย คนขายเยอะมาก หาซื้อกันตามสบาย บางตลาดขายมัดละ 20 บาท และหลายคนหันมาซื้อยกต้นเอาไปปลูกที่บ้าน ลงทุนต้นละ 400-500 บาท ปลูกเอง 1-3 ต้น กินเอง ไม่จำเป็นต้องซื้อแบบมัดแล้ว ราคาจะถูกลงอีก”

ดังนั้น หากมีการส่งเสริมเชิงพาณิชย์และผลักดันการส่งออก แหล่งผลิตจะเบนเข็มไปจับกับกลุ่มบริษัทเอกชนมากขึ้น เพื่อผลิตสินค้าแปรรูปหรือเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งต้องรอพระราชบัญญัติพืชกระท่อมมีผลบังคับใช้ก่อน

สำหรับกฎหมายฉบับนี้เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม 2563 และสภาผู้แทนราษฎรลงมติไฟเขียวเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา

สาระสำคัญ คือการกำหนดมาตรการกำกับดูแลการปลูกพืชกระท่อม การขาย การนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น กำหนดให้การปลูกพืชกระท่อม การขาย การนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ต้องได้รับใบอนุญาต กำหนดสถานที่ขาย นำเข้าหรือส่งออกพืชกระท่อม การแต่งตั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมการนำเข้าส่งออก เพื่อป้องกันใช้ในทางที่ผิด กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนเพาะปลูก นำเข้าส่งออก ขายที่ไม่ได้รับอนุญาต เน้นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและประโยชน์ตามวิถีชุมชน

นอกจากนี้ กำหนดมาตรการป้องกันต่างๆ เช่น ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ห้ามบริโภคใบกระท่อมหรือน้ำต้มใบกระท่อมที่ปรุงผสมกับยาเสพติดให้โทษ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประกาศเดินหน้าผลักดันพืชกระท่อมไทยไปตลาดโลก โดยกล่าวว่า การผลักดันพืชกระท่อม หากทำให้ดีจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ มีประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมและการแพทย์ จะมีการทดลองวิจัยต่างๆ วันนี้ใบกระท่อมราคา 300-500 บาทต่อกิโลกรัม หากเราปลูกแบบพอเหมาะพอดีจะรักษาราคาไว้ได้และสามารถช่วยปลดหนี้ให้เกษตรกร

แน่นอนว่า ตัวอย่างที่หลายฝ่ายมักหยิบยกเสมอน่าจะเป็นกรณีในสหรัฐอเมริกา เพราะถือเป็นตลาดพืชกระท่อมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้เพื่อช่วยรักษาโรคซึมเศร้า บำบัดยาเสพติด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์แบบผง แคปซูล อาหารเสริม ยาดม ชา โดยมีหลากหลายแบรนด์จำนวนมาก

ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ คือ มาเลเซียกับอินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทย แม้สหรัฐฯ รับรองว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดี แต่ติดเรื่องกฎหมายมานานหลายสิบปี

ด้านบริษัทเอกชนหลายแห่งต่างเคลื่อนไหวพุ่งเป้าขยายธุรกิจจากใบกระท่อม เช่น บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) เตรียมแผนส่งออกผลิตภัณฑ์พืชกระท่อมไปสหรัฐฯ

บริษัท เค.ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) เตรียมออกผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ ยา อาหารและเครื่องดื่ม

บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) วางแผนผลิตอาหารเสริมจากพืชกระท่อม

ส่วนบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กำลังเร่งศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกัญชง-กัญชา และกระท่อม ทั้งเครื่องดื่มและสกินแคร์ โดยร่วมกับศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา โรงพยาบาลยันฮี หาโอกาสขยายผลทางธุรกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

แต่ทั้งหมดคงต้องพิสูจน์ว่า กระท่อมจะเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจพลิกฟื้นประเทศและผลประโยชน์จะตกถึงชุมชนตามเจตนารมณ์กฎหมายได้จริงหรือไม่!!

Related Story

1. อีด่าง อีแดง กระอ่วม 78 ปีก่อนปลดล็อก

 

ใส่ความเห็น