วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > เคทีซีปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจสินเชื่อ ท่ามกลางสถานการณ์แห่งความไม่แน่นอน

เคทีซีปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจสินเชื่อ ท่ามกลางสถานการณ์แห่งความไม่แน่นอน

สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ตลาดสินเชื่อมีความไม่แน่นอนและเปราะบางสูง แม้ยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพ แต่จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มซบเซาได้ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจสินเชื่อท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและเต็มไปด้วยความท้าทาย

ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ไตรมาสแรกของปี 2564 ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันปรับตัวลดลง -2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ผู้บริโภคเกิดความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการขอสินเชื่อมากขึ้น

บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ยอมรับว่าการทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลในปี 2564 ไม่ใช่เรื่องง่ายและท้าทายสูงในการที่จะผลักดันให้พอร์ตลูกหนี้เติบโตท่ามกลางวิกฤต ควบคู่ไปกับการบริหารคุณภาพลูกหนี้ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งในปีนี้เคทีซียังมุ่งรักษาเสถียรภาพของคุณภาพพอร์ตลูกหนี้เป็นหลัก จึงปรับเกณฑ์การอนุมัติให้รัดกุมมากขึ้น

ทำให้ยอดลูกหนี้ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของเคทีซี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 29,480 ล้านบาท ในขณะที่ภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 637,849 ล้านบาท ลดลง 2.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนสมาชิกอยู่ที่ 802,971 ราย ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 4.6% และ NPL เท่ากับ 3.0% ซึ่งต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่อยู่ที่ 3.5% โดยยอดการปล่อยสินเชื่อในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาลดลงกว่า 30,000 ราย หรือลดลงราวๆ 30% เมื่อเทียบกับก่อนการระบาดของโควิด

พิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล เคทีซี เปิดเผยว่า “เป้าหมายสินเชื่อของเคทีซีในปีนี้จะเน้นการเติบโตแบบมั่นคง เราจะไม่โตเร็วแล้วไปเจ็บตัวทีหลัง โดยเราตั้งเป้าจะรักษาพอร์ตลูกหนี้เอาไว้ที่ระดับ 29,400 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็จะรักษาจำนวนสมาชิก ส่วนแบ่งการตลาดและ NPL ให้อยู่ในระดับเดียวกับช่วงครึ่งปีแรก สำหรับการดำเนินงานยังต้องจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

ดังนั้นการขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันในช่วงเวลาต่อจากนี้ของเคทีซีจะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยจะคงเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อที่เข้มข้น เน้นการรักษาฐานสมาชิกเดิม เร่งเพิ่มสมาชิกใหม่ที่มีความเสี่ยงต่ำ และรักษาคุณภาพลูกหนี้เป็นสำคัญ ด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. มุ่งช่วยเหลือสมาชิกสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 2. ยังคงแคมเปญ “เคลียร์หนี้เกลี้ยง” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของสมาชิก

3. พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวก ลดการสัมผัสเงินสดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ผ่านแอปพลิเคชัน “KTC Mobile” ขอเพิ่มวงเงินฉุกเฉินผ่านระบบอัตโนมัติ และรวมฟังก์ชัน “รูด โอน กด ผ่อน” ไว้ในบัตรกดเงินสด 4. ขยายฐานสมาชิกสินเชื่อรายใหม่ไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีฐานรายได้สูงขึ้นและต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ พร้อมลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.93% ผ่อนได้นาน 36 เดือน

ซึ่งพิชามนมองว่าธุรกิจสินเชื่อบุคคลยังมีโอกาสในการเติบโตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นจะเข้ามาช่วยหนุนทำให้สินเชื่อบุคคลกลับมาฟื้นตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ เคทีซียังอยู่ระหว่างศึกษาการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบดิจิทัล (Digital Lending) เพิ่มเติม เพื่อสร้างโอกาสในการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

ในส่วนของสินเชื่อมีหลักประกันอย่าง “เคทีซี พี่เบิ้ม” สินเชื่อทะเบียนรถที่เข้ามาสร้างความหลากหลายในพอร์ตสินเชื่อของเคทีซีได้ครบหนึ่งปีนั้น จากเดิมที่ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปี 2564 อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ช่องทางในการหาลูกค้าทำได้ยากมากขึ้น ทำให้พอร์ตสินเชื่อของเคทีซีพี่เบิ้มอาจไม่เป็นไปตามคาด โดยช่วง 7 เดือนแรกของปีมียอดปล่อยสินเชื่อต่ำกว่า 50% หรือน้อยกว่า 500 ล้านบาทจากที่ตั้งไว้

เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ในฐานะผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” เปิดเผยว่า ณ ขณะนี้จะยังไม่มีการปรับเป้าพอร์ตสินเชื่อเคทีซี พี่เบิ้ม แต่อย่างใด โดยเชื่อว่าหลังภาครัฐมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ จะสามารถกลับมาทำการตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น และทำให้ภาพรวมเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้

ในขณะที่ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกนั้น ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (จำนำทะเบียน) สิ้นสุดไตรมาส 2 มียอดลูกหนี้ 158,493 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ถือครองตลาดเป็นหลักด้วยสัดส่วน 82% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด ส่วนธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (Hire Purchase) มียอดลูกหนี้ 1,176,279 ล้านบาท มีธนาคารพาณิชย์ถือครองตลาด ในสัดส่วน 70% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด

สำหรับกลยุทธ์ของสินเชื่อแบบมีหลักประกันของเคทีซีนั้นจะเป็นในทิศทางใกล้เคียงกับสินเชื่อส่วนบุคคล คือเน้นขยายพอร์ตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะขยายพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้มีความหลากหลายและครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ซึ่งจากการเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (กรุงไทยลีสซิ่ง – KTBL) ซึ่งประกอบกิจการเช่าซื้อนั้น จะเป็นการเสริมทัพให้กับเคทีซีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถนำเสนอสินเชื่อทะเบียนรถแบบโอนเล่ม การทำรีไฟแนนซ์สินเชื่อทะเบียนรถ และการทำสินเชื่อรถยนต์มือสองได้อีกด้วย โดยคาดว่าจะออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าวได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

นอกจากนั้น ยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนการสมัครและอนุมัติสินเชื่อ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสัญญาเป็นแบบดิจิทัล ทำให้ลดขั้นตอนการสมัครอยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นหนึ่งของเคทีซี พี่เบิ้ม รวมถึงจะขยายพื้นที่การบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยจะผูกไปกับสาขาของธนาคารกรุงไทยและสาขาเครือข่ายของกรุงไทยลีสซิ่ง ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เคทีซี พี่เบิ้ม กลับมารุกสู่ตลาดได้กว้างขึ้น

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วงครึ่งปีหลังของเคทีซีคือ การอัปเกรดผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมบัตรกดเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม” เป็นการรวมสินเชื่อมีหลักประกันและบัตรกดเงินสดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งนอกจากวงเงินจากสินเชื่อที่ได้รับแล้ว ยังได้รับบัตรกดเงินสดที่สามารถเบิกถอนเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินเพิ่มเติมอีกด้วย โดยที่ยังสามารถนำรถไปใช้ได้ตามปกติ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของวงการสินเชื่อไทยที่มีการออกผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้

สำหรับภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีแรกของเคทีซีนั้นสามารถทำกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สินเชื่อรวมขยายตัว 7.1% มีจำนวนพอร์ตรวมเท่ากับ 89,444 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 55,708 ล้านบาท ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 29,480 ล้านบาท และลูกหนี้ตามสัญญาเช่า 4,255 ล้านบาท โดย NPL ของบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และลูกหนี้ตามสัญญาเช่า อยู่ที่ 1.5%, 3.0% และ 51.7% ตามลำดับ

ส่วนอีกหนึ่งผู้เล่นในตลาดสินเชื่อและบัตรเครดิตอย่างกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ก็มีการปรับแผนธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ด้วยเช่นกัน โดยเน้น 3 กลยุทธ์หลัก คือ มุ่งสู่ดิจิทัล, ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจ และช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ

มีการพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งการสมัครบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อผ่านแอป UChoose รวมถึงการโอนวงเงินบัตรเครดิตเข้าบัญชีออมทรัพย์เพื่อใช้เป็นเงินสดผ่านช่องทาง UCash ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่พบว่ายอดกดเงินสดผ่าน UCash เติบโตถึง 25%

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกลุ่มเซ็นทรัลและโฮมโปรเพื่อออกบัตรเครดิตร่วม รวมถึงพันธมิตรที่เป็นร้านค้าและแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำเสนอโปรโมชั่นที่ช่วยแบ่งเบาภาระลูกค้า อีกทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยเช่นกัน ซึ่งนับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก โดยจนถึงปัจจุบันกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 900,000 บัญชี คิดเป็นยอดหนี้คงค้างประมาณ 35,000 ล้านบาท

ไม่เพียงความท้าทายจากสถานการณ์อันเปราะบางที่เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กลุ่มธุรกิจสินเชื่อต้องปรับกลยุทธ์เท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นจากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ในแพลตฟอร์มออนไลน์อีกด้วย ทั้งจากแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล (digital lending) ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์หันมาให้บริการปล่อยกู้ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

และอีกส่วนหนึ่งเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามาขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (digital personal loan) ซึ่งเป็นการปล่อยกู้วงเงินขนาดเล็ก ไม่เกิน 20,000 บาท ชำระคืนภายใน 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% เพื่อให้กลุ่มลูกค้ารายย่อยได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และลดปัญหาการกู้เงินนอกระบบ ซึ่งนั่นทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 8 กันยายน 2564 ธปท. ได้อนุมัติผู้ประกอบการไปแล้ว 3 ราย ได้แก่ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด (บริษัทในเครือ SEA GROUP เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้”) และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด (หนึ่งในธุรกิจการเงินในเครือทรู มันนี่) ที่ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อไปแล้วในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ที่ผ่านมา ส่วนอีกหนึ่งรายที่อนุมัติแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มให้บริการ คือ บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด และยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่กำลังอยู่ในกระบวนการขอใบอนุญาต

ในขณะที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วง เมื่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาระบุตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 1 ของปี 2564 พุ่งสูงถึง 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อ GDP โดยที่มีสัดส่วน NPL ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.92% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.84% ในไตรมาสก่อน สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้และมีสถานะทางการเงินที่เปราะบางมากขึ้น

ทั้งสถานการณ์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง สภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง และการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในแพลตฟอร์มออนไลน์ การขับเคลื่อนธุรกิจสินเชื่อต่อจากนี้จึงท้าทายไม่น้อย

ใส่ความเห็น