“เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล” กางแผนธุรกิจ รุก Digital Financial Service พร้อมเป็นสะพานเชื่อมโลกการเงินแบบเดิมสู่โลกการเงินดิจิทัล ตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร ด้วย 3 ปัจจัยแกร่ง “พันธมิตร– เงินทุน-ไลเซนส์” ภายใต้การนำทัพของมืออาชีพด้านการเงินอย่าง “ระเฑียร ศรีมงคล”
เรียกว่าเป็นความเคลื่อนไหวในแวดวงการเงินที่น่าจับตา เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ประกาศเปลี่ยนชื่อ เป็นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (XPG) หรือ XSpring เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา
ตามมาด้วยการเพิ่มทุน จากสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม 3,094 ล้านบาท สู่การเพิ่มทุนอีก 7,111 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีเงินทุนในมือกว่า 10,000 ล้านบาท โดยมีบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 15% ด้วยเงินลงทุนราว 1.6 พันล้านบาท ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นเบอร์หนึ่ง ทำให้เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล มีพันธมิตรและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังได้มืออาชีพด้านการเงินอย่าง “ระเฑียร ศรีมงคล” มานำทัพ ซึ่งนั่นทำให้เอ็กซ์สปริงกลับมาอยู่ในความสนใจของผู้ลงทุนอีกครั้ง
ในฐานะประธานกรรมการ เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล ระเฑียรเปิดเผยว่า “ปีนี้นับเป็นก้าวสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเอ็กซ์สปริง ทั้งการเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)” และการได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน จนสามารถเพิ่มทุนได้สูงถึง 7,111 ล้านบาท ภายในเวลาไม่นาน รวมถึงการร่วมลงทุนจากพันธมิตร เช่น บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ใน Digital Financial Service โดยปัจจุบันเอ็กซ์สปริงประกอบด้วย 5 กลุ่มธุรกิจการเงินที่พร้อมเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อร่วมกันสร้างโอกาสความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักลงทุนทุกระดับได้แก่ ธุรกิจหลักทรัพย์ โดยบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด ธุรกิจจัดการกองทุน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด และธุรกิจจัดการเงินลงทุน”
ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าวส่งผลให้เอ็กซ์สปริงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีสภาพคล่องทางการเงินสูง และเป็นฐานสู่การขยายธุรกิจตามแผนที่วางไว้
ภายหลังเสร็จสิ้นการเพิ่มทุน เอ็กซ์สปริงจึงใช้โอกาสนี้ในการประกาศเดินหน้าแผนธุรกิจ เพื่อก้าวสู่ผู้ให้บริการทางการเงินและหลักทรัพย์ครบวงจร โดยการรุก Digital Financial Service เพื่อเชื่อมโลกธุรกิจการเงินแบบเดิมสู่โลกการเงินดิจิทัล โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการเงินที่องค์กรมีอยู่ ผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ด้วย 3 จุดแข็ง ทั้งพันธมิตรที่หลากหลาย เงินทุนแข็งแกร่งจากการเพิ่มทุน และการมีไลเซนส์ในการประกอบธุรกิจอยู่ในมือถึง 17 ไลเซนส์ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการลงทุนที่ง่าย สะดวก และใช้เงินลงทุนไม่สูง
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจการเงินดิจิทัลมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 40 ล้านล้านบาท (1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งเพียงแค่ตลาดบิทคอยน์ตลาดเดียวก็โตกว่า 24 ล้านล้านบาท อีกทั้งกระแสการลงทุนใน “สินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset) ก็ได้รับความนิยมและมีผู้สนใจเข้าไปลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงในเวลาอันรวดเร็ว
สินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมี 2 ประเภท ได้แก่ 1. คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นหรือสิทธิอื่นใด โดยสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับ เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) และอีเทอร์เรียม (Ethereum) และ 2. โทเคนดิจิทัล (Digital Token) หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (Investment Token) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการหรือสิทธิอื่นๆ (Utility Token)
จากเทรนด์การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจการเงินดิจิทัลดังกล่าว ทำให้เอ็กซ์สปริงตัดสินใจก้าวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสให้กับนักลงทุน โดยการรุก Digital Financial Service และขยายการลงทุนสู่สินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านบริษัทย่อยอย่างบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด ในฐานะ ICO Portal (Initial Coin Offering Portal) ซึ่งนับเป็นผู้ให้บริการเสนอขายโทเคนดิจิทัลรายแรกๆ ของประเทศไทย
ในปี 2564 เอ็กซ์สปริงจะทำการออกขายโทเคนจำนวน 2 ตัว ได้แก่ “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ” (SiriHub Investment Token) ที่ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างแสนสิริ ซึ่งเป็น Real Estate-backed ICO ตัวแรกของไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ “โทเคนดิจิทัลพร้อมใช้” (Ready-to-Use Utility Token) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้ให้บริการด้านการชาร์จรถ EV
สำหรับสิริฮับโทเคนนั้นมีมูลค่าระดมทุน 2,400 ล้านบาท จำนวน 240 ล้านโทเคน เป็นการลงทุนในกระแสรายรับจากค่าเช่าของกลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส ที่ตั้งอยู่ภายใน T77 ใจกลางอ่อนนุช ซึ่งมี บมจ.แสนสิริ เป็นผู้เช่าเต็มพื้นที่ 100% สัญญาเช่านาน 12 ปี และจ่ายค่าเช่าปีละ 149.4 ล้านบาท โดยนำมาเสนอขายแก่ผู้ลงทุนในราคา 10 บาทต่อโทเคน อายุโครงการ 4 ปี
แบ่งออกเป็น 1. สิริฮับ-A (SiriHub-A) มูลค่า 1,600 ล้านบาท จำนวน 160 ล้านโทเคน อัตราดอกเบี้ย 4-4.5% ต่อปี ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืนภายหลังการประมูลขายเมื่อครบอายุ 4 ปี และ 2. สิริฮับ-B (SiriHub-B) มูลค่า 800 ล้านบาท จำนวน 80 ล้านโทเคน อัตราดอกเบี้ย 8-8.5% ต่อปี และจะได้รับเงินที่เหลือจากราคาขายตึกภายหลังหักเงินต้น 1,6000 ล้านบาทของโทเคนชุดแรก และยังมีโอกาสได้รับกำไรส่วนเพิ่มหากราคาประเมินในอนาคตปรับตัวสูงขึ้น
“ตึกนี้ประเมินมูลค่าจากบริษัทประเมินที่ ก.ล.ต. รับรอง ที่ราคาประมาณ 2,400 กว่าล้านบาท และมีโอกาสน้อยมากที่ในอนาคตราคาประเมินจะปรับตัวลงต่ำ เพราะมีผู้เช่าระยะยาวอย่างแสนสิริอยู่ แม้ดิจิทัลโทเคนจะเปรียบเสมือนการระดมทุน แต่ผมจะไม่ใช้คำว่าระดมทุน เพราะเรามองว่าเราสร้างสินค้าที่ใช้ในการลงทุนให้กับฐานลูกค้าของเรา เราให้โอกาสลูกค้าของเราลงทุนสินค้าทุกประเภท ดิจิทัลโทเคนก็เป็นสินทรัพย์หนึ่งในการลงทุน ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบกับโลกรุ่นเก่าอย่างหุ้นกู้ก็ได้” ระเฑียรกล่าว
จากรายงานการวิเคราะห์ราคาที่ดินของศูนย์วิจัยและประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้สรุปข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสถานีอ่อนนุช ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าบริเวณใกล้เคียง โดยในปี 2564 มีราคาอยู่ที่ 1.1 ล้านบาทต่อตารางวา และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินเฉลี่ยต่อปี ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี
ในขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ แสนสิริ ในฐานะพันธมิตรและผู้ถือหุ้นใหญ่ของเอ็กซ์สปริง แคปปิตอล เปิดเผยว่า แสนสิริเห็นโอกาสและเทรนด์การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจการเงินดิจิทัล จึงได้เข้าลงทุนในเอ็กซ์สปริง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้จากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้กับบริษัท นอกจากนี้ การลงทุนครั้งนี้ยังมาจากความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของเอ็กซ์สปริง ภายใต้การนำทีมของผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจการเงินมายาวนานอย่างคุณระเฑียร ประกอบกับการมีใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจ Digital Financial Service ในด้านบริการซื้อขาย โทเคนดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งนับเป็นการลงทุนครั้งสำคัญของแสนสิริเองด้วย
นอกจากการเสนอขายโทเคนแล้ว แสนสิริยังได้ร่วมทำธุรกิจกับบริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเอ็กซ์สปริง แคปปิตอล ในสัดส่วน 50 : 50 เพื่อเดินหน้าประมูลซื้อกองสินทรัพย์ NPL ประเภทที่ดิน ที่พักอาศัย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำมาบริหารสินทรัพย์ต่อยอดธุรกิจและสร้างรายได้เพิ่มในระยะยาว
ในส่วนของ Utility Token นั้น เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล ได้ร่วมมือกับ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้ให้บริการ EV Charging Ecosystem ออกโทเคนดิจิทัลพร้อมใช้ หรือ “Ready-to-Use Utility Token” เป็นการลงทุนที่มาพร้อมส่วนลด บริการ และพริวิเลจต่างๆ จากบริการชาร์จรถไฟฟ้า
สำหรับชาร์จ แมเนจเม้นท์ เป็นผู้ให้บริการชาร์จรถ EV ที่มีแผนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลา 5 ปี และปักหมุดเป็นผู้ให้บริการเบอร์หนึ่ง การจับมือกับเอ็กซ์สปริง ดิจิทัล เพื่อออก Utility Token จึงเป็นโอกาสในการระดมทุนที่สำคัญ และยังถือเป็น Loyalty Program สร้างฐานลูกค้าในตลาดอีกด้วย
ปัจจุบันเอ็กซ์สปริงมีไลเซนส์ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) อยู่ในมือ 17 ไลเซนส์ แต่ยังมีแผนเปิดตัวธุรกิจนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) และยังคงเดินหน้าขอไลเซนส์ Digital asset fund manager เพิ่มเติมจาก ก.ล.ต.
ด้านผลประกอบการของเอ็กซ์สปริง แคปปิตอล ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 สามารถทำรายได้รวมอยู่ที่ 167 ล้านบาท กำไรสุทธิ 65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 791% ซึ่งระเฑียรมองว่าเป็นสัญญาณบวก และเชื่อมั่นแผนธุรกิจที่วางไว้นี้จะทยอยส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ในปี 2565
แม้ว่าโลกการเงินและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังมาแรง และยิ่งทวีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศจะเริ่มทดลองใช้เงินบาทดิจิทัล ตามโครงการรีเทล ซีบีดีซี ในไตรมาส 2 ปี 2565 เพื่อเป็นทางเลือกในการชำระเงินและทดแทนการใช้เงินสด ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นดิจิทัลเคอเรนซีและก้าวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลของไทยแล้ว
แต่การลงทุนไม่ว่าจะเป็นโลกการเงินแบบเดิมหรือแบบดิจิทัลย่อมมาพร้อมความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น หน้าที่ของผู้ลงทุนคือการศึกษาหาข้อมูลเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่นับว่าเป็นเรื่องใหม่ของนักลงทุนหลายคน