ธุรกิจฟิตเนสเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การระบาดในระลอกแรก จนถึงระลอกล่าสุดที่ดูจะหนักหนาสาหัสและอาจทำให้ผู้ประกอบการกว่าครึ่งจำต้องโบกมือลา
ก่อนการอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 ธุรกิจฟิตเนสถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดและมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด อันเนื่องมาจากเทรนด์ของคนในสังคมปัจจุบันที่หันมาใส่ใจในเรื่องการรักษาสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยต่างก้าวเข้าสู่สังเวียน เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจและช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดก้อนโต
ข้อมูลย้อนหลังจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รายได้รวมของกลุ่มธุรกิจฟิตเนสในช่วงปี 2558-2560 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยถึง 12.40% ต่อปี ฟิตเนสรายย่อยเปิดตัวมากขึ้นและกระจายตัวอยู่ในย่านชุมชนเพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการออกกำลังกายใกล้บ้าน ในขณะที่ฟิตเนสรายใหญ่ยังคงมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูล ณ ปี 2562 พบว่า มูลค่าตลาดโดยรวมของธุรกิจฟิตเนสอยู่ที่ 9,000-10,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10%-12% ต่อปี และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องถ้าไม่ประสบกับวิกฤตโควิด-19 อย่างในปัจจุบัน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้รัฐออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสั่งปิดสถานที่ออกกำลังกายและฟิตเนสเป็นการชั่วคราว เพราะมองว่าเป็นสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่กลับเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่จะสามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติได้
ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบโดยตรงต่อผู้ให้บริการฟิตเนสทั้งรายใหญ่และรายย่อยอย่างถ้วนหน้า ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ฟิตเนสจำนวนไม่น้อยมีรายได้ต่อเดือนเท่ากับ “ศูนย์” ในขณะที่รายจ่ายยังคงเท่าเดิม
ศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ฟิตเนสต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าเช่า ค่าอุปกรณ์ การบำรุงรักษา ค่าพนักงาน ค่าเทรนเนอร์ หลายแห่งได้ปรับตัวผ่านการนำเสนอคลาสออกกำลังกายออนไลน์ที่สมาชิกสามารถเล่นตามที่บ้านได้ การเทรนด์ส่วนตัวผ่านวิดีโอคอล หรือการให้สมาชิกเลือกเวลาเพื่อให้เทรนเนอร์ไปสอนที่บ้านได้ โดยต้องพักการเรียกเก็บค่าสมาชิกหรือยืดเวลาการเป็นสมาชิก เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อโมเดลธุรกิจที่ต้องพึ่งพาค่าสมาชิกรายเดือน หรือรายได้จากสมาชิกใหม่ที่เข้ามาเป็นระยะ
ในขณะที่ เมษยน เด่นเกรียงไกร ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วี ฟิตเนส จำกัด ผู้ให้บริการ “WE Fitness” ฟิตเนสแบรนด์ของคนไทย ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 จนถึงระลอกล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 WE Fitness ปิดให้บริการรวมแล้วกว่า 200 วัน รายได้หายไปอย่างน่าเป็นห่วง
สำหรับระลอกแรกถือเป็นระลอกใหญ่ที่สร้างความตระหนกให้กับผู้คน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนตระหนักถึงการมีสุขภาพที่ดีเพื่อป้องกันโรคมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งลูกค้าจึงกลับมาค่อนข้างมาก ทำให้รายได้ของ WE Fitness ลดลงไปเพียง 20-50% แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกสองและสามตามมา ผลกระทบอย่างหนักจึงเกิดขึ้น ฟิตเนสไม่สามารถเปิดให้บริการได้ อีกทั้งลูกค้าก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด อันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจและปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้รายได้ของฟิตเนสลดลงอย่างมาก
ที่ผ่านมา WE Fitness มีการใช้มาตรการด้านความปลอดภัยทั้งการคัดกรองสมาชิก ให้พนักงานทุกคนได้รับวัคซีน และมาตรการอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มาใช้บริการ รวมถึงมีการปรับ business model เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนไป โดยใช้ระบบการเทรนแบบไฮบริด (hybrid) คือการที่ผู้ออกกำลังกายผสมผสานทั้งการออกกำลังกายที่ฟิตเนสควบคู่ไปกับการเลือกออกกำลังกายจากที่บ้านผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เข้ามาช่วย รวมถึงคลาสออนไลน์ต่างๆ ทั้งโยคะ พีลาทิส และส่งพนักงานไปเทรนที่บ้านตามมาตรการความปลอดภัย
พร้อมออกโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดให้คนกลับมาใช้บริการและพยายามจัดตั้ง fitness associate กับผู้ประกอบการฟิตเนสอื่นๆ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับรัฐ
ปัจจุบัน WE Fitness มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 7 แห่ง แต่ละสาขามีพื้นที่ต้องดูแลมากกว่า 3,000 ตารางเมตร มีพนักงานกว่า 300 คน ซึ่งในปีที่ผ่านมามีรายได้อยู่ที่ 239 ล้านบาท ขาดทุน 32 ล้านบาท
ด้านเจ็ทส์ ฟิตเนส (jetts fitness) ที่นับเป็นผู้เล่นในตลาดฟิตเนสที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนสาขารวมทั้งสิ้น 37 สาขา กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ นนทบุรี พัทยา นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต และหัวหิน พร้อมจุดขายเป็นฟิตเนสที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
หลังการระบาดระลอกแรก สมาชิก 73% กลับมาใช้บริการภายใน 1 เดือนหลังฟิตเนสกลับมาเปิดให้บริการ และมีจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละสาขาสูงใกล้เคียงช่วงปกติภายในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ช่วงมกราคม 2564 ที่ผ่านมา เจ็ทส์ ฟิตเนส สาขาเชียงใหม่ โคราช และภูเก็ต ยังคงเปิดให้บริการได้ตามปกติ สมาชิกกว่า 85% ยังคงมาออกกำลังกายที่ฟิตเนส
สำหรับในช่วงล็อกดาวน์ เจ็ทส์ ฟิตเนส ได้ปรับมาให้บริการในรูปแบบคลาสออนไลน์ในชื่อ “Jetts Workout at Home” พร้อมอัดโปรโมชั่นเพื่อจูงใจลูกค้า เช่น เว้นค่าแรกเข้าและค่าบัตรสมาชิก, ลดค่าสมาชิก 50% และรักษาฐานสมาชิกเดิมด้วยโมเดลไฮบริด
แต่ผู้บริหารเจ็ทส์ ฟิตเนส อย่าง เดน แคนท์เวล ยังคงเชื่อมั่นว่า ฟิตเนสยังเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ดังนั้นจะยังคงมุ่งรักษาและเสริมความได้เปรียบด้านจำนวนสาขา โมเดลการตลาด พร้อมเดินหน้าเพิ่มสาขาเปิดอีก 1 สาขาใหม่ภายในปีนี้ และถ้าปีหน้าสถานการณ์ดีขึ้นจะเร่งเปิดสาขาใหม่ 2 สาขาต่อเดือน เพื่อให้ครบ 100 สาขาในอีก 3 ปี ซึ่งปัจจุบันเจ็ทส์ ฟิตเนส มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 37 สาขา รายได้ในปี 2563 อยู่ที่ 404 ล้านบาท ขาดทุน 190 ล้านบาท
ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างดิ้นรนปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่ยังมีผู้ประกอบการรายย่อยอีกหลายรายที่กำลังอ่อนแรง และเตรียมโบกมือลาอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
ข้อมูล ณ เดือน มิถุนายน 2564 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนฟิตเนสที่เปิดให้บริการทั้งสิ้น 5,000 ราย แต่คาดการณ์ว่าถ้าสถานการณ์โควิด-19 ยังลากยาวต่อไป จะส่งผลให้ฟิตเนสต้องปิดตัวลงกว่า 2,500 ราย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่สายป่านไม่ยาว
ActLife Fitness Club คือหนึ่งในผู้ประกอบการฟิตเนสรายเล็กที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แม้จะเป็นฟิตเนสรายเล็กที่มีเพียงหนึ่งสาขา แต่ใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท มีพื้นที่ให้บริการ 1,500 ตารางเมตร ก่อนสถานการณ์โควิด ฟิตเนสมีสมาชิกใช้บริการต่อวันมากกว่า 100 คน แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดจำนวนลูกค้าเหลือไม่ถึง 40 คน และยังถูกซ้ำเติมจากมาตรการสั่งปิดให้บริการ ในขณะที่ยังต้องแบกรับต้นทุนต่อเดือนที่ยังคงที่ ส่งผลให้ติดลบไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านบาทต่อเดือน การยืนระยะต่อไปในธุรกิจฟิตเนสของผู้ประกอบการรายย่อยจึงเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
แม้ว่าผู้ประกอบการต่างพยายามปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รองรับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนไป และเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจแล้ว สิ่งจำเป็นอีกประการหนึ่งที่จะสามารถบรรเทาเบาบางผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจได้คือการเยียวยาจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด
เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธันย์ปวัฒน์ เตชภูวดลวิทิต ผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย และเจ้าของ ActLife Fitness พร้อมผู้ประกอบการสถานออกกำลังกาย ฟิตเนส และบุคลากรฝึกสอน (personal trainer) จึงได้เข้าพบเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจออกกำลังกาย หลังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีคำสั่งปิดมานานกว่า 200 วัน
โดยขอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือ ดังนี้ 1. ยกเลิกคำสั่งปิดกิจการแบบเหมารวม โดยควรให้ปิดเฉพาะสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน
2. ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกธุรกิจสถานออกกำลังกายและฟิตเนสกลับมาเปิดบริการได้ภายในวันที่ 1 ส.ค. 2564 ภายใต้มาตรการป้องกันโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข
3. พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยเร็วที่สุด
4. พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการพักชำระหนี้ การกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อรักษาสภาพคล่องธุรกิจและการจ้างพนักงานจากการปิดธุรกิจชั่วคราว รวมถึงส่วนลดหรือเลื่อนชำระค่าไฟฟ้าและน้ำประปา
5. เปิดช่องทางการสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน ก่อนที่ภาครัฐจะออกมาตรการต่างๆ
รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น สามารถนำค่าสมัครสมาชิกฟิตเนสไปลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า เพื่อเป็นการจูงใจให้คนมาออกกำลังกายเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี
แต่จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ ทำให้ข้อเรียกร้องเพื่อขอผ่อนปรนให้กลับมาเปิดได้ตามกำหนดเวลาที่ขอไว้ไม่สามารถทำได้ แต่ข้อเรียกร้องอื่นๆ ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต่างเฝ้ารอเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้
ในขณะที่ผู้ประกอบการเองยังคงต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ที่ไม่มีใครตอบได้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปนานแค่ไหน และเพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้การใช้บริการที่เปลี่ยนไป เรียกว่าเป็นอีกปีที่ไม่ง่ายเลยจริงๆ