แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศต้องหยุดชะงักลง หลายอุตสาหกรรมไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มกำลัง ผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบต้องประกาศหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่ชั่วคราวไปจนถึงถาวร
ทว่า ยังมีบางธุรกิจที่สามารถดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤตสงครามเชื้อโรค และนอกจากจะดำเนินกิจการได้ แต่ยังมีทิศทางการเติบโตแบบก้าวกระโดดสวนกระแสของสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นคือ ธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ปัจจัยที่เอื้อประโยชน์และส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสองธุรกิจข้างต้น คือ เทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรุดหน้า และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ทำให้ทิศทางของตลาดในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป
หากพิจารณาจากมูลค่าตลาดของธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรีนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่ามีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2557 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท ปี 2558 มูลค่าตลาด 2.4 หมื่นล้านบาท ปี 2559 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท ปี 2560 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท ปี 2561 มูลค่าตลาด 3.1 หมื่นล้านบาท และในปี 2562 อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท
การขยายตัวของตลาดนี้ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นปกตินั้น เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยแวดล้อมของเศรษฐกิจโดยรวม หากมองในมุมของผู้ประกอบการอาจเห็นว่า เปอร์เซ็นต์ของอัตราการขยายตัวยังไม่ได้เพิ่มสูงมากนัก
แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตโควิด และอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินต่อไปได้ แต่เรากลับได้เห็นอัตราการขยายตัวแบบก้าวกระโดดในตลาดนี้ ซึ่งตัวเลขมูลค่าตลาดในปี 2563 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ที่ 6.8 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐที่ทำให้ธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรีกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของประชาชน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งธุรกิจที่ขยายตัวได้ดีในช่วงวิกฤตโควิดคือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยมูลค่าตลาดของปี 2562 อยู่ที่ 163,000 ล้านบาท และขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 81 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปีที่ผ่านมามูลค่าตลาดนี้สูงขึ้นถึง 294,000 ล้านบาท
แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจนี้ ที่อาจเรียกได้ว่าผู้อยู่รอดในภาวะวิกฤต เติบโตได้ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบาก
สิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของทั้งสองธุรกิจข้างต้น คือปริมาณการใช้พลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งพลาสติกบรรจุหีบห่อ บรรจุภัณฑ์อาหารเครื่องดื่ม ที่สุดท้ายแล้วกลายมาเป็นขยะพลาสติกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
แม้ว่าการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจะนำมาซึ่งความสะดวกสบายทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งตรงข้ามกับความพยายามของภาครัฐและสังคมก่อนหน้า ที่มีเป้าหมายว่าจะลดปริมาณขยะพลาสติกลง ทั้งการงดบริการถุงพลาสติกจากร้านค้า หรือการนำภาชนะของตัวเองใส่อาหาร เครื่องดื่มจากร้านอาหาร
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ TDRI เคยประเมินว่า ต่อยอดการสั่งซื้อ 1 ครั้งจะมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้น เช่น กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้ว และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยยังประเมินว่า วิกฤตโควิด-19 จะทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 15% จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน
ปริมาณขยะพลาสติกปี 2563 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่ามีปริมาณขยะพลาสติกประมาณ 6,300 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 จากในช่วงสถานการณ์ปกติมีขยะพลาสติกประมาณ 5,500 ตันต่อวัน โดยที่ผ่านมามีการดำเนินโครงการ “Everyday Say No To Plastic Bags” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 การประกาศมาตรการงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีภาคีเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อกว่า 90 รายเข้าร่วมโครงการ และการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการส่งอาหาร อาทิ Grab Food, Line Man, Wongnai, Gojek, Food Panda, Lalamove และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร
แน่นอนว่าภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น เมื่อมีการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม โดยทุกภาคส่วนมีความเข้าใจถึงความจำเป็นต่อการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 แต่หากต้องการตอบรับรูปแบบการใช้ชีวิตลักษณะวิถีชีวิตใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก็ควรจะต้องมุ่งเน้นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่าประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณปีละ 2 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลได้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก และได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 โดยมีเป้าหมาย 2 เป้าหมายหลัก
เป้าหมายที่ 1 การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ ระยะที่หนึ่งจะลดและเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารออกโซ (Oxo) และไมโครบีด (Microbead) ภายในปี 2562 ส่วนระยะที่สองจะลดและเลิกใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ยกเว้นการใช้กรณีมีความจำเป็นสำหรับเด็ก คนชรา และผู้ป่วย) ภายในปี 2565
เป้าหมายที่ 2 การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 โดยจะมีการศึกษาและกำหนดเป้าหมายของพลาสติกในส่วนที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์และส่วนที่ของเสียจะถูกนำไปกำจัดให้ถูกวิธี
โดยทั้ง 2 เป้าหมายมีแผนปฏิบัติการแบ่งออกเป็น 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมการเกิดของเสียตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยการออกแบบ ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณสารพิษในผลิตภัณฑ์เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบของเสียที่เกิดจากสินค้าของตนเอง ผลักดันให้มีการปรับปรุงพัฒนามาตรฐานการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อม การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก และมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลพลาสติกให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่สามารถเชื่อมโยงทั้งประเทศ
2. มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการบริโภคที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
3. มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมให้ประชาชนลดและคัดแยกขยะ ส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลพลาสติกและจัดหาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการและการขับเคลื่อนผ่าน 4 กลไก คือ 1. การสร้างความรู้และความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการ 2. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ 3. การใช้เครื่องมือและกลไกที่เหมาะสม เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทุกภาคส่วน และการเร่งออกกฎหมาย และ 4. การจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกของประเทศ
จากนโยบายของภาครัฐ การจะลดปัญหาขยะพลาสติกจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน แต่ในสถานการณ์ที่การจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นไปด้วยข้อจำกัดจากมาตรการล็อกดาวน์ สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้คือ ประชาชนต้องเรียนรู้ที่จะแยกขยะก่อนทิ้ง
คนไทยส่วนใหญ่มักจะไม่แยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งนั่นอาจทำให้กล่องพลาสติกบรรจุอาหารไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เพราะขยะพลาสติกที่มีการปนเปื้อนจะถูกตีค่าให้เป็นขยะมูลฝอย และจะถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ ซึ่งใช้เวลาในการย่อยสลายประมาณ 450 ปี ปัจจุบันมีขยะพลาสติกที่ถูกส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เพียง 19% เท่านั้น
ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนควรทำก่อนจะทิ้งขยะพลาสติก คือการทำความสะอาดด้วยการล้าง ตากให้แห้งก่อนแยกทิ้งอย่างถูกต้อง และต้องลบทัศนคติความเชื่อที่ว่า “ถึงจะแยกขยะไปแล้วแต่ขยะพลาสติกเหล่านี้ก็ถูกทิ้งรวมกันอยู่ดี” นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะเจ้าหน้าที่เก็บขยะจะทำการแยกขยะที่ถูกคัดแยกมาตั้งแต่ต้นทางไว้ต่างหาก และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น