แม้การพึ่งพาตลาดต่างชาติมากเกินไปจะส่งผลเสียเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เมื่อยามที่เกิดวิกฤตเช่นปัจจุบัน ที่โลกกำลังเผชิญหน้าและต่อสู้กับสงครามไวรัส ทว่า การฟื้นตัวของตลาดโลกในหลายประเทศในเวลาอันรวดเร็วกลับส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยในหลายมิติ
โดยเฉพาะจีนที่เอาชนะโควิด-19 ได้ในเวลาไม่นาน และเริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศของตัวเอง ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่จะสร้างแรงกระเพื่อมในระบบเศรษฐกิจของประเทศตัวเองเท่านั้น แต่ยังแผ่อานิสงส์ไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญอีกด้วย
ในเวลานี้อุตสาหกรรมที่กลายเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทยคือ ภาคการส่งออก ที่แม้ว่าจะทำงานอย่างหนักแต่เมื่อเห็นผลลัพธ์แล้วคงพอหายใจหายคอได้ เพราะยามนี้ภาคการลงทุนหรือภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถสร้างรายได้แก่ไทยได้อย่างที่เคยเป็นมา และยังไม่มีคำตอบว่าเครื่องจักรสำคัญนี้จะสามารถกลับมาเดินเครื่องแบบเต็มสูบได้อีกครั้งเมื่อไหร่
แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวไทย ที่กำลังพยายามอย่างหนักและน่าจะฝากความหวังไว้ได้กับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ คือการไม่มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดภูเก็ตสูงเกินกว่า 90 รายต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยแวดล้อมที่น่าเป็นกังวลว่าอาจจะส่งผลต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในจังหวัด นั่นคือการชุมนุมทางการเมือง ที่อาจสร้างความเสียหายและกระทบต่อโครงการนำร่องครั้งนี้
รายงานสรุปจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขภาคการส่งออกในเดือนมิถุนายนขยายตัวสูงตามการค้าโลกที่ปรับเพิ่มต่อเนื่องและฐานต่ำในระยะต่อไป ส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
โดยมูลค่าการส่งออกเดือนมิถุนายน 2021 ขยายตัวถึง 43.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า นับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 11 ปี และหากหักทองคำการส่งออกจะขยายตัว 43.4% ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 มูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ 15.5% และหากไม่รวมทองคำการส่งออกจะเติบโตถึง 22.4%
ด้านการส่งออกรายสินค้าพบว่าการส่งออกสินค้าสำคัญทุกประเภทมีการขยายตัว โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก
การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบขยายตัวถึง 78.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกัน โดยตลาดหลักที่ขยายตัวสูงได้แก่ เวียดนาม (338.4%) ออสเตรเลีย (70.3%) สหรัฐฯ (154.1%) และมาเลเซีย (305.3%)
ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัวมากถึง 185.1% โดยมีตลาดหลักที่ขยายตัวสูงคือ จีน (263.4%) ซึ่งการส่งออกไปจีนคิดเป็น 83.24% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด
ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวที่ 38.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือนติดต่อกันตามการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ยางยานพาหนะ (50.4%) และถุงมือยาง (62.2%)
การส่งออกเคมีภัณฑ์ขยายตัวที่ 59.8% โดยมีตลาดหลักที่ขยายตัวสูงคือจีน (54.3%) เวียดนาม (50.2%) และญี่ปุ่น (106%) ขณะที่การส่งออกเม็ดพลาสติกขยายตัวดีเช่นเดียวกันที่ 50% โดยเฉพาะในตลาดอินเดีย (196.1%) สหรัฐฯ (130.5%) อินโดนีเซีย (106.6%) และเวียดนาม (74.03%)
ในขณะที่สินค้าส่งออกอื่นที่มีขยายตัว ได้แก่ เครื่องจักรและส่วนประกอบ 73.1% เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 21.6% น้ำมันสำเร็จรูป 81.9% เหล็ก, เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 83.1%
ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าการส่งออกขยายตัวทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะอินเดีย, กลุ่มอาเซียน 5, กลุ่มสหภาพยุโรป 15, จีนและสหรัฐฯ โดยการส่งออกไปอินเดียขยายตัวถึง 123.9% ตลาดอาเซียน 5 ขยายตัวที่ 48.7% ยุโรป 15 ขยายตัวที่ 42.2% ตลาดจีนขยายตัวที่ 42% และสหรัฐฯ ขยายตัวที่ 41.2%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ภาคส่งออกในครึ่งปีหลังว่า การขยายตัวของการส่งออกไทยมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยฐานเปรียบเทียบที่ต่ำและการชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้ามีแนวโน้มคลี่คลายลง แต่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกไทยมีมากขึ้น ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับคาดการณ์ส่งออกไทยปี 2564 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 11.5% จากที่เคยประเมินไว้ที่ 9.0% ในเดือนมิถุนายน โดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยางพารา และผักผลไม้น่าจะยังเติบโตได้ดี
รวมถึงสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันน่าจะยังเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยราคาที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง สำหรับในระยะข้างหน้าการส่งออกไทยจะยังคงเผชิญความท้าทายหลายด้านทั้งความเสี่ยงจากโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง หลังจากหลายประเทศเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้า และในไทยเองหากการแพร่ระบาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอาจทำให้การขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมมีความน่ากังวลมากขึ้น และอาจกดดันการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า
ในขณะที่การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัวไปในทางที่ดีขึ้น ทว่า ตลาดในประเทศกลับสวนทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดขายรถยนต์ หากพิจารณาตัวเลขยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2562 ประมาณ 1,007,552 คัน ปี 2563 ลดลงถึง 21.4% อยู่ที่ 792,146 คัน และปี 2564 ที่ยังน่าเป็นกังวลว่าจะปิดที่ตัวเลขเท่าไร โดยค่ายโตโยต้าคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ทั้งตลาดในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 850,000-900,000 คัน
แน่นอนว่าสถานการณ์ความรุนแรงของโควิด-19 ที่ปัจจุบันสายพันธุ์เดลต้ากลายเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมาตรการของภาครัฐที่มีเป้าหมายจำกัดวงการแพร่ระบาดให้ได้ ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจในหลายระนาบ โดยเฉพาะกรณีที่มีคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรม อาจส่งผลให้เกิดมาตรการลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน หรือขั้นร้ายแรงคือหยุดการผลิต
แม้ว่ามาตรการภาครัฐจะเป็นไปเพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายออกเป็นวงกว้าง แต่นั่นย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในทุกระดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่สายพันธุ์เดลตาได้กลายมาเป็นภัยคุกคามหลัก และส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในหลายประเทศรวมทั้งไทย ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้งและมีแนวโน้มจะกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในระยะยาวหากไม่สามารถจำกัดวงการแพร่ระบาดได้ ซึ่งจากผลของการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงในรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยปี 2564 ใหม่
โดยในกรณีดี ที่การแพร่ระบาดทั้งในไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะอาเซียนสามารถกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงเดือนมิถุนายนได้ภายในไตรมาสที่ 3 ทำให้ยอดขายในประเทศของไทยและการส่งออกสามารถฟื้นคืนสู่ระดับปกติในเวลาไม่นาน ประกอบกับการติดเชื้อไม่ทำให้เกิดเหตุต้องหยุดการผลิตเป็นระยะเวลานาน ไทยจึงยังสามารถเร่งผลิตรถยนต์ชดเชยได้ตามความต้องการจริงในตลาด ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในกรณีดียอดขายรถยนต์ในประเทศอาจทำได้ถึง 750,000 คัน (-5.3% เทียบเวลาเดียวกันกับปีก่อน) ในปี 2564 ขณะที่ปริมาณการส่งออกน่าจะมีโอกาสทำได้ 950,000 คัน ส่งผลให้การผลิตรถยนต์รวมในปีนี้มีโอกาสทำได้ 1,680,000 คัน
ส่วนกรณีเลวร้ายที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อ และกว่าไทยและประเทศในอาเซียนจะทำให้ปริมาณผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงไปสู่ระดับเดือนมิถุนายนได้ก็เป็นช่วงปลายปีแล้ว ทำให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบในระดับที่มากกว่า ส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงรวมถึงการส่งออก เมื่อบวกเข้ากับกรณีที่หากเกิดการปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในระยะเวลานานกว่ากรณีแรกหรือราว 1 เดือน โอกาสที่จะมาเร่งผลิตชดเชยในช่วงที่สถานการณ์ดีขึ้นในภายหลังจะทำได้ยากกว่า ส่งผลให้ศูนย์วิจัยไทยคาดว่าในกรณีเลวร้าย ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจทำได้เพียง 720,000 คัน (-9.0% เทียบเวลาเดียวกันกับปีก่อน) ในปี 2564 ส่วนปริมาณการส่งออกมีโอกาสทำได้เพียง 890,000 คัน ส่งผลให้การผลิตรถยนต์รวมทั้งปีในกรณีนี้มีโอกาสทำได้เพียง 1,600,000 คัน
ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ ส.อ.ท. ที่ปรับเป้ายอดผลิตรถยนต์ปี 2564 จากเดิม 1,500,000 คัน เป็น 1,550,000-1,600,000 คัน โดยปรับเป้ายอดส่งออกรถยนต์ปี 2564 จากเดิม 750,000 คันเป็น 800,000-850,000 คัน ส่วนยอดขายรถยนต์ปี 2564 ภายในประเทศคงเดิมที่ 750,000 คัน
ภาคการส่งออกดูจะเป็นความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยในห้วงยามนี้ เมื่อเศรษฐกิจในประเทศต้องแขวนไว้กับการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศให้ได้