สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งล่าสุดในสังคมไทยกำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นและความเป็นไปของสังคมไทยอย่างหนักหน่วง เพราะการแพร่ระบาดดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นสถิติใหม่ในแต่ละวัน ซึ่งติดตามมาด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันกว่า 100 ราย จากผลของการขาดแคลนเตียงในการรักษาพยาบาล สะท้อนภาพความล่มสลายของระบบการสาธารณสุขไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง
ขณะเดียวกันมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของกลไกรัฐครั้งใหม่ที่ดำเนินไปด้วยการล็อกดาวน์ หรือการสั่งห้ามการเดินทาง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมอีกหลากหลายประการกำลังทำให้ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำซบเซามาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2563 ทรุดหนักลงไปอีกและขยายวงกว้างส่งผลกระทบต่อธุรกิจแต่ละประเภทมากขึ้นไปอีก โดยบางธุรกิจได้ถึงคราวล่มสลายและยุติกิจการไปโดยปริยาย โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เคยเป็นกลไกในการหนุนนำเศรษฐกิจไทยมาก่อนหน้านี้
การแพร่ระบาดดังกล่าวทำให้การคาดการณ์ว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 ถูกปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนในที่สุดหลายสำนักได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียงร้อยละ 1 จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 1.8 เพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีความรุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้ ทำให้ต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทรุดตัวลงไปอีก
ขณะที่มาตรการเยียวยาจากภาครัฐน่าจะช่วยประคองการดำรงชีพที่จำเป็น แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวมได้ และมีบางสำนักประเมินในทางลบถึงขั้นที่ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 อาจไม่เติบโตเลย และมีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบติดลบอีกด้วย
ข้อสังเกตที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งอยู่ที่การปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 2.5-6.5 แสนคน จากเดิมประมาณการไว้ที่ 2.5 แสน-1.2 ล้านคน โดยแม้ว่าจะเริ่มมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และ “สมุย พลัส โมเดล” แต่การจะเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามายังต้องขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดและการเร่งฉีดวัคซีนเป็นหลัก ขณะที่ในต่างประเทศก็ยังเผชิญความเสี่ยงจาก COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ภาพรวมของผลกระทบทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่า ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกรวมถึงไทย และปริมาณการเดินทางยังไม่กลับมาเป็นปกติ ซึ่งสถิติการเดินทางเข้า-ออก 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าลดลงเหลือเฉลี่ย 1 หมื่นคนต่อวัน ติดลบประมาณร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ลดลงนั้น ส่งผลกระทบต่อรายได้และรายจ่ายของ ทอท. ทำให้ล่าสุดกระแสเงินสดของ ทอท. ลดลงเหลือเพียง 2.1 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดือน เม.ย. 2564 ที่มีอยู่ราว 2.3 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 2 พันล้านบาทในช่วงไม่กี่เดือน และลดลงจำนวนมากหากเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ ทอท. มีกระแสเงินสดเกือบ 8 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบัน ทอท. อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ด้านการบินช่วงเริ่มตารางบินฤดูหนาว ซึ่งอาจทำให้เห็นความชัดเจนเรื่องการเปิดน่านฟ้าของแต่ละประเทศ และทำให้คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารได้มากขึ้น
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งอยู่ที่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีสหภาพยุโรป (อียู) ได้ถอดประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ปลอดภัยที่ควรเดินทางไปในช่วง COVID-19 ซึ่งจะมีผลต่อการเดินทางระหว่างประเทศมายังภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัส เบื้องต้นยังไม่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจน เพราะปัจจุบันจำนวนผู้เดินทางยังมีปริมาณน้อยอยู่ ประมาณวันละ 1 พันคน อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตและสมุยเป็นลักษณะของเกาะ มีมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ เชื่อว่าต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นมาตรการสาธารณสุข
กรณีที่หลายฝ่ายกังวลอยู่ที่ว่าประเทศสมาชิกต่างๆ ในอียูจะออกมาตรการควบคุมการเดินทางกลับเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการกักตัวก่อนเข้าประเทศ กรณีมาท่องเที่ยวในไทย ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการออกมาตรการกักตัว โดยหากมีการออกมาตรการดังกล่าว ก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย เพราะเป็นเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทางและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อไปที่อาจส่งผลกระทบนโยบายนำร่องเปิดประเทศของรัฐให้ต้องเผชิญกับความล้มเหลวอีกครั้ง
นอกจากนี้ การออกประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ระบุห้ามบินในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยอยู่ในสถานการณ์ที่มืดมนและทรุดหนักลงไปอีก โดยมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจการบินของไทยจะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งต้องรอถึงกลางปี 2565 หรืออีก 1 ปีนับจากนี้ ท่ามกลางภาวะที่ผู้ประกอบการหลายรายกำลังเผชิญกับการไม่มีสภาพคล่องเหลืออยู่เพียงพอที่จะดำเนินการทางธุรกิจ ขณะที่มาตรการต่างๆ ที่เคยขอภาครัฐไป ก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของผู้ประกอบการในสมาคมสายการบินประเทศไทย ในห้วงเวลาปัจจุบันจึงอยู่ที่การเรียกร้องให้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงธุรกิจเเละชีวิตพนักงานเกือบ 2 หมื่นคน ด้วยการออกแถลงการณ์ร่วม เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผลกระทบที่สายการบินต้องเผชิญ หลังจากถูกระงับการบินชั่วคราวตามคำสั่งของ ศบค. ตั้งเเต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564
อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น และที่ผ่านมาได้ยื่นเอกสารขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) หรือซอฟต์โลนเพื่อจัดสรรให้กับสายการบินทั้ง 7 สาย ตั้งเเต่การระบาดของ COVID-19 รอบเเรก เมื่อเดือนมีนาคม 2563 และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 478 วัน หรือ 17 เดือน โดยล่าสุดสมาคมสายการบินประเทศไทยได้ปรับลดตัวเลขวงเงินซอฟท์โลน จากจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท จากการยื่นขออนุมัติครั้งเเรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 เหลือเพียง 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมเกือบ 2 หมื่นคน ในครึ่งปีหลังของปี 2564
อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐบาลล่าสุดในการจำกัดการเดินทาง ส่งผลต่อการระงับการให้บริการชั่วคราว ในทุกเส้นทางบินเข้าออกพื้นที่สีเเดงเข้ม ตั้งเเต่ 21 กรกฎาคม 2564 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของCOVID-19 ทำให้ปัจจุบัน 7 สายการบิน มีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมกว่า 900 ล้านบาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบินอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินว่าอาจจะเเบกรับภาระไม่ไหว หากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือเเละเยียวยาจากภาครัฐโดยเร่งด่วน และอาจส่งผลต่อการกลับมาให้บริการในอนาคตของสายการบิน ข้อเรียกร้องดังกล่าวจีงเป็นไป เพื่อช่วยประคองธุรกิจสายการบินเเละการจ้างงานพนักงาน รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบความเสียหายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเเละท่องเที่ยวภาพรวม เนื่องจากสายการบินคือธุรกิจด่านหน้าสำคัญ ที่เชื่อมต่อให้เกิดการกระจายเเละสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่สายการบินแต่ละแห่งมีต้นทุนที่แบกรับ ทั้งค่าน้ำมัน ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าซ่อมบำรุง ดังนั้นเงินซอฟต์โลนจะช่วยเยียวยาให้กับสายการบินได้ ขณะเดียวกันควรลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เนื่องจากสายการบินมีความสำคัญต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจประเทศ ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกนำเข้าสินค้า ซึ่งหากอุตสาหกรรมการบินต้องปิดตัวลงจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจติดตามจากนี้อยู่ที่การพิจารณาในวาระ 2 ของงบประมาณปี 2565 ในชั้นกรรมาธิการวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่จะนำมาใช้จ่ายในอนาคตว่าจะมีเงินตามวงเงินที่ตั้งไว้หรือไม่ เพราะหากธุรกิจในประเทศล่มสลายและล้มตายไปหมด ก็หมายถึงความไม่สามารถที่จะเสียภาษี ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของรัฐว่าจะนำงบประมาณที่ไหนมาใช้ การเร่งช่วยเหลือ ปล่อยกู้ เพื่อต่อลมหายใจให้เดินธุรกิจต่อได้ จึงเป็นประหนึ่งการหมุนเวียนความช่วยเหลือให้กลับมาเป็นการสร้างรายได้ทางธุรกิจและเสียภาษีให้รัฐ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่สมประสงค์ทั้งสองฝ่าย
ผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลากหลายภายใต้ระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะทางธุรกิจแต่ละประเภท หากแต่สำหรับธุรกิจสายการบินที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและผูกพันกับการเคลื่อนย้ายผู้คนไปยังจุดหมายกว้างขวางในอดีต การระบาดของ COVID-19 และวิถีชีวิตใหม่ (new normal) กำลังผลักให้ธุรกิจสายการบินอยู่ในจุดเสี่ยงที่เปราะบางและพร้อมจะเผชิญกับการล่มสลายและถึงคราอวสานได้โดยง่าย
ประเด็นที่ต้องติดตามจากนี้ จึงอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินในประเทศไทยแต่ละรายจะสามารถกลับมาสยายปีกเหนือน่านฟ้าของสยามประเทศนี้อีกครั้งเมื่อใด และด้วยกระบวนการอย่างไร หรือจะต้องยอมรับสภาพและจางหายไปกับสายลม