“ผู้อยู่รอด” หลายคนอาจใช้คำนี้เป็นคำพูดติดตลกสำหรับสถานการณ์ที่ไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด และผ่านพ้นการติดเชื้อ ทั้งจากระลอกแรก ระลอกสอง กระทั่งเข้าสู่ระลอกสามในปัจจุบัน
แม้จะเป็นเรื่องที่ดีที่เรายังไม่ติดเชื้อร้ายนี้ แต่แน่ใจหรือไม่ ว่าเวลานี้ตัวเราเองไม่ได้การ์ดตก หรือมาตรการสาธารณสุขบกพร่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงเพราะหลงอยู่กับคำว่า “ผู้อยู่รอด”
ในช่วงแรกที่เชื้อโควิดมาถึงไทย หลังจากที่เรารับทราบมาตรการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ไปในสถานที่เสี่ยงหรือแออัด เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นในระยะ 1-2 เมตร แทบทุกคนในสังคมเคร่งครัดกับแนวทางปฏิบัตินี้แม้จะดูยุ่งยากในช่วงแรก แต่มนุษย์รู้จักปรับตัวได้เพียงเวลาไม่นาน และยกการ์ดขึ้นป้องกันตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติจนน่าชื่นชม
แต่หลังจากไทยต้องเผชิญการติดเชื้อในระลอกสอง จนถึงระลอกสาม สิ่งที่ปรากฏขึ้นในสังคมแม้จะยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อร้ายอยู่ในวงกว้าง และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนแตะหลักพันในเวลานี้ ปรากฏว่า การ์ดที่เคยยกตั้งสูงตระหง่านชนิดที่เรียกว่า ไม่ประมาทง่ายๆ กลับสร้างมาตรการผ่อนคลายให้ตัวเอง การ์ดตกลงอย่างง่ายดาย แม้ว่าจะยังใส่หน้ากากอนามัยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็ตาม
ลองสำรวจตัวเองดูก่อนว่า ทุกวันนี้ เรายังเว้นระยะห่างทางสังคมอยู่ไหม เมื่อเวลาต้องเข้าไปในพื้นที่จำกัด เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดสด เรายืนรอคิวชำระเงินชนิดที่ยืนหายใจรดต้นคอคนข้างหน้ารึเปล่า ขณะที่ผู้คนกำลังเลือกซื้อสินค้ากันจำนวนมาก เราได้ถอยออกมาและรอเวลาให้คนน้อยลงแล้วค่อยกลับไปอีกครั้งไหม
ทุกวันนี้ เราล้างมือบ่อยแค่ไหน หลังจากที่จับหรือสัมผัสสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น เรายังทำตามคำแนะนำจากภาครัฐแบบในระยะแรกอยู่หรือไม่ ทั้งการถูสบู่นาน 20 วินาที ทำความสะอาดทุกซอกนิ้วมือ เจลแอลกอฮอล์ที่ใช้อยู่ตอนนี้ มีปริมาณแอลกอฮอล์เข้มข้นกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะปัจจุบันเจลแอลกอฮอล์ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดหลายยี่ห้อ มีปริมาณแอลกอฮอล์เพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งนั่นอาจไม่เพียงพอสำหรับการฆ่าเชื้อโรค
เวลารับประทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว หรือบุคคลอื่น เราเผลอใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกันหรือไม่ เพียงเราคิดว่า คนคนนั้นยังไม่ติดเชื้อโควิด น่าจะปลอดภัย
แน่นอนว่า ในเวลานี้ สังคมตั้งคำถามว่า ที่สถานการณ์การติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลักพันต่อวัน เป็นเพราะมาตรฐานด้านสาธารณสุขบกพร่องหรือไม่ การจะถามหรือมองหาความรับผิดชอบ ในเรื่องมาตรฐานสาธารณสุข คงไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้น แม้ว่าภาครัฐควรจัดการและดูแลด้านสาธารณสุขในภาพใหญ่
ทว่า ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนเอง ควรมีส่วนร่วมในการดูแลภาพย่อย หรือดูแลในส่วนของตัวเอง นั่นคือการยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขในพื้นที่ของตัวเองให้ยังคงสูงอยู่เสมอ เช่น ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทก่อสร้างที่มีคนงานจำนวนมาก ควรต้องรู้จักธรรมชาติของพฤติกรรมแรงงานที่อยู่ในความดูแล จัดสรร สร้างระเบียบด้านสาธารณสุขให้แก่แรงงาน แม้จะทำให้งบประมาณบางส่วนเพิ่มขึ้น แต่นั่นเป็นการแลกมาซึ่งความต่อเนื่องของการทำงาน และผลประโยชน์ที่จะตามมาในอนาคตของบริษัท
การ์ดตก ความประมาท ดูจะเป็นสาเหตุสำคัญอันนำมาซึ่งสถานการณ์ที่เลวร้ายในขณะนี้ ก่อนหน้าที่ระลอกสามจะระบาดจนขยายวงกว้างเช่นในปัจจุบัน คนไทยบางส่วนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตที่เกือบจะเป็นปกติ แม้จะมีผลดีในเรื่องการจับจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นั่นอาจทำให้ใครหลายคนทิ้งการ์ดลง และหลงลืมการระวังตัวในขั้นตอนพื้นฐาน
แน่นอนว่ามีความผิดพลาดและบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ทั้งเรื่องที่อาจมีการละเลยจนเกิดกระบวนการค้าชายแดนข้ามชาติเล็ดลอดเข้ามา พร้อมด้วยผู้ติดเชื้อแบบที่ไม่แสดงอาการ หรือคนไทยที่ไปทำงานประเทศเพื่อนบ้าน และกลับเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ
น่าแปลกที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในหลักพัน แต่เรายังได้เห็นคนไทยบางส่วนดำเนินชีวิตแบบ “สบายๆ ตามใจฉัน” กันมากพอสมควร เห็นได้จากการที่ผู้คนเบียดเสียดแย่งกันขึ้นรถโดยสารสาธารณะ โหนรถเมล์ที่แน่นขนัดเพียงเพื่อกลับบ้านหรือไปทำงาน ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ช่วงเวลาหนึ่งเป็นความประมาทของระบบขนส่งมวลชน ที่ไม่จัดสรรปริมาณรถให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในช่วงเวลาเร่งด่วน จนทำให้เกิดภาพเหตุการณ์อันนำมาซึ่งคำถามว่า “เราจะเว้นระยะห่างกันอย่างไรในเมื่อรถเมล์มีน้อยแบบนี้”
หากเรายังต้องการจะเป็น “ผู้อยู่รอด” จนกว่าจะได้รับวัคซีน ซึ่งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เราควรที่จะยกการ์ดให้สูงขึ้นอีกครั้ง ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ที่เวลานี้อาจต้องใส่ถึงสองชั้น โดยในชั้นแรกเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เพื่อการป้องกันที่สูงขึ้น
การล้างมือที่ต้องถูสบู่อย่างน้อยเป็นเวลา 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ทุกครั้งที่ต้องจับหรือสัมผัสวัตถุสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น
เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตรเสมอ ไม่ไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด ลดความเสี่ยงที่จะรับเชื้อ หรือแพร่เชื้อในกรณีที่เราไม่ทราบว่าติดเชื้อไปแล้ว แต่ไม่มีอาการบ่งชี้
หนทางการเป็นผู้รอดนั้นสามารถปฏิบัติได้ง่ายมาก “ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก” ประโยคนี้ยังคงใช้ได้อยู่ จนกว่าเราจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ทั้งประเทศ