การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในไทย นอกจากจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงแตะหลักพันแล้ว สิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่งคือ อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดผู้เสียชีวิตในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ทำนิวไฮที่ 34 ราย
และเมื่อพิจารณาจากโรคประจำตัว ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคแล้ว ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคโควิดส่วนใหญ่ นอกจากจะมีโรคประจำตัวอย่าง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ พบว่ามีภาวะอ้วนประกอบด้วย
ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ข้อมูลไว้ในปี 2563 ว่า ความเสี่ยงของผู้สูงอายุและคนอ้วนกับโควิดว่า ผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น รวมถึงผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือแม้แต่โรคมะเร็ง มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย และเมื่อติดเชื้อแล้วทำให้โรคมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ง่าย
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาของสหรัฐอเมริกา พบว่า ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการติดเชื้อโควิด-19 เกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง รองลงมาเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด ส่วนความอ้วนเป็นสาเหตุอันดับ 3 แต่ในกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงาน อายุระหว่าง 18-49 ปี โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 คือ ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ขึ้นไป โดยเฉพาะคนที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี มีโอกาสจะป่วยเพิ่มมากขึ้น 2-3 เท่า
ข้อมูลจากประเทศจีน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วและมีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 88 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีดัชนีมวลกายไม่ถึง 25 มีโอกาสเสียชีวิตแค่ 12 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วตรวจพบว่ามีไขมันพอกตับด้วยจะยิ่งเพิ่มโอกาสความรุนแรงของโรคได้มากขึ้น
สังคมที่เร่งรีบเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคดิจิทัล ทั้งพฤติกรรมการบริโภค การดูแลรักษาสุขภาพ การทำงาน คนในวัยทำงานส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับชีวิตบนโต๊ะทำงานมากกว่าสิ่งอื่น แม้แต่การรับประทานอาหาร หลายคนพึ่งพาอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารปรุงพร้อมเสิร์ฟที่มาในรูปแบบดิลิเวอรี่ รวมไปถึงการขาดความใส่ใจในเรื่องหลักโภชนาการ และรับประทานอาหารไปด้วยในขณะทำงาน พฤติกรรมดังกล่าวทำให้มนุษย์วัยทำงานขยับตัวน้อยลง ใช้พลังงานที่ได้รับมาน้อยลงและใช้เวลาไปกับการสังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์ น้อยคนนักที่จะจัดสรรเวลาสำหรับการออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้เป็นผลให้ร่างกายไม่ได้ใช้พลังงานที่ได้รับในรูปแบบที่เหมาะสม เป็นที่มาของไขมันส่วนเกินที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิด อันนำไปสู่ภาวะอ้วน และอ้วนลงพุง
แน่นอนว่า ในระยะแรกของภาวะอ้วน แม้บางคนจะรู้ตัว ทั้งจากตัวเลขน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ความกระฉับกระเฉงลดลง หรือรอบเอวหนาขึ้นจนไม่สามารถใส่กางเกงหรือกระโปรงตัวเดิมได้ ทว่า ยังไร้การตระหนักรู้ว่า ผลเสียร้ายแรงที่จะตามมาคือ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายต่างๆ ในอนาคต
ข้อมูลที่น่าสนใจจากเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันพบคนอ้วนมากกว่า 800 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วโลก และข้อมูลจากปี 2557 ถึงปัจจุบันพบว่า คนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยรอบเอวเกิน หรือ “อ้วนลงพุง” กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีภาวะอ้วน มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ติดเชื้อน้ำหนักปกติ หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ ผศ.นพ. สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อธิบายว่า “คนอ้วนเมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 เชื้อจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในร่างกาย ซึ่งในคนอ้วน เซลล์ไขมันในร่างกายจะมีตัวรับเชื้อโควิด-19 มากกว่าในปอด นอกจากนี้ ความอ้วนถือเป็นการอักเสบเรื้อรัง หากเกิดการอักเสบเฉียบพลันจากโควิด-19 หรือปอดอักเสบก็จะรุนแรงกว่าคนอื่น ซึ่งเกี่ยวพันกับการเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจด้วย”
หากเราใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ลองหาค่าดัชนีมวลกายของตัวเอง เพื่อที่จะได้รู้ว่า เรามีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะอ้วนหรือไม่
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัว และวัดเส้นรอบเอวเพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง เพราะ BMI คือค่าความหนาของร่างกาย ใช้เป็นมาตรการในการประเมินภาวะอ้วน ผอม ในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งคำนวณได้จากการใช้น้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม และหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังสูตรต่อไป
ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)²
เช่น นายเอ น้ำหนัก 70 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร คำนวณได้ดังนี้
70/ (1.5×1.5)=31.11 ค่า BMI อยู่ที่ 31.11
โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้วัดภาวะอ้วนคือ ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 แสดงว่ามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
ค่า BMI ตั้งแต่ 18.5-24.9 แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี ค่า BMI อยู่ที่ 25-29.9 แสดงว่ามีน้ำหนักเกิน
ค่า BMI ตั้งแต่ 30-38.9 แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วน เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ และค่า BMI ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนมาก และเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่รุนแรง
นอกจากนี้ การวัดเส้นรอบเอวหรือเส้นรอบพุง (โดยทั่วไปจะวัดรอบเอวตรงระดับสะดือพอดี) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการก่อโรค ผู้ชายต้องมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร หากเส้นรอบเอวใหญ่เกินกว่าค่าดังกล่าวนี้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ สูงขึ้นเช่นกัน
ความสัมพันธ์ของผู้ติดเชื้อโควิดที่มีภาวะอ้วน คงเป็นภาพสะท้อนปัญหาสุขภาพของคนไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และอาจถึงเวลาที่สาธารณสุขจะต้องกลับมารณรงค์พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้คนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันอย่างเร่งด่วนอีกครั้ง