อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ถูกพิษโควิด-19 เล่นงานอย่างหนัก คือ ธุรกิจอีเวนต์ นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในช่วงต้นปี 2563 และรัฐบาลประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปในวงกว้าง
ในแต่ละปีตลาดธุรกิจอีเวนต์มีมูลค่าสูงกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท แม้สภาพของเศรษฐกิจไทยในช่วง 5-10 ปีหลังจะอยู่ในภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ก็ตาม แต่ในช่วงปลายปี 2560 ธุรกิจอีเวนต์เริ่มส่งสัญญาณกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งนั่นส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ในปี 2561 ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ปี 2562 มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจอีเวนต์อยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท ในปีนั้นแม้จะมีปัจจัยลบหลายด้านมากระทบ แต่ยังมีแนวโน้มที่สดใสต่อเนื่อง
ขณะที่ปี 2563 เป็นปีที่แทบทุกอุตสาหกรรมหยุดชะงัก ในด้านของธุรกิจอีเวนต์ บริษัทออแกไนเซอร์ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถจัดงานส่งเสริมการขาย หรืองานแสดงสินค้าใดๆ ได้ ตามคำสั่งของ ศบค. ส่งผลให้รายได้หลักของผู้ประกอบการเหล่านี้หายไปกว่าครึ่ง ธุรกิจอีเวนต์เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากรองจากธุรกิจท่องเที่ยว
สถานการณ์โควิด-19 ในไทยช่วงกลางปี 2563 เริ่มผ่อนคลายลง มาตรการหลายอย่างถูกยกเลิกเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ บรรยากาศการจัดอีเวนต์เริ่มกลับมามีให้เห็นอีกครั้ง จนผู้ประกอบการหลายรายคาดหวังว่าบรรยากาศการจัดงานอีเวนต์จะมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2564
ทว่า จุดพลิกผันที่ส่งผลให้ยอดจองสถานที่จัดงานและกิจกรรม รวมไปถึงการจ้างงานของบริษัทออแกไนซ์ต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด คือการระบาดระลอกสาม ที่ดูจะสร้างบาดแผลสาหัสกว่าสองครั้งที่ผ่านมา
แน่นอนว่า ครั้งนี้ผู้ประกอบการออแกไนเซอร์ขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนจำเป็นต้องหยุดดำเนินกิจการและปิดตัวลง ผลที่ตามมาคือการเลิกจ้างพนักงาน รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน หรือ EMA เปิดเผยว่า ได้เตรียมยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในธุรกิจอีเวนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มระบาดในประเทศไทยระลอกแรกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เรื่อยมา จนถึงการระบาดอย่างรุนแรงในระลอก 3 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน
“ที่ผ่านมารัฐได้ประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หลายฉบับต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงประกาศตามกฎหมายอื่นๆ และประกาศที่ออกโดยกรุงเทพมหานคร อาทิ ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุม ประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา ปิดศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ ห้างสรรพสินค้า การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร มาตรการเว้นระยะห่างหรือ Social Distancing ในการจัดอีเวนต์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวล้วนแต่ส่งผลกระทบโดยตรงให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอีเวนต์ อุตสาหกรรมไมซ์ และผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ให้บริการระบบแสงเสียงภาพ และเทคนิคพิเศษ ผู้ให้บริการออกแบบก่อสร้างฉากเวทีและบูธแสดงสินค้า ตลอดจนผู้จัดคอนเสิร์ต ผู้จัดเทศกาลดนตรี และเทศกาลบันเทิงต่างๆ ไม่สามารถที่จะประกอบกิจการได้ตามปกติ
ดังนั้นผู้ประกอบการในธุรกิจที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งอยู่ในภาคธุรกิจ SME ที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวของกระแสเงินสดไม่มากนัก เมื่อได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ออกโดยภาครัฐ ที่กล่าวถึงข้างต้นมายาวนานกว่า 1 ปีเต็ม
ถึงแม้จะเป็นกิจการที่ภาครัฐมิได้สั่งให้ปิด แต่ส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการลงไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไปได้ และยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อใด
อุปถัมป์เปิดเผยอีกว่า ในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางส่วนได้ปิดกิจการเป็นการชั่วคราว และบางส่วนปิดกิจการเป็นการถาวรแล้วกว่าร้อยละ 60 ส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานจำนวนมาก ลูกจ้างบางส่วนก็ลาออกเพื่อเปลี่ยนสายงานไปทำงานในสายงานอื่นที่มีความเสี่ยงจากผลกระทบของโรคระบาดน้อยกว่าธุรกิจอีเวนต์ ทำให้น่าเป็นห่วงว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติจะขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะในสายงานอีเวนต์
ทั้งนี้จากการประเมินมูลค่าความเสียหายของอุตสาหกรรมอีเวนต์ ที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 13,000 ล้านบาท พบว่า ในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างหนัก และสูญเสียรายได้กว่าร้อยละ 70-80 หรือราว 10,000 ล้านบาท และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อจะทำให้เสียหายอีกไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,000 ล้านบาท
ดังนั้น สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงานหรือ EMA ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการในธุรกิจอีเวนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการรับจ้างและให้บริการจัดอีเวนต์ 2. ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE: Meeting Incentives Conventions และ Exhibitions) 3. ผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการระบบแสงเสียงภาพและเทคนิคพิเศษ 4. ผู้ประกอบการให้บริการออกแบบและจัดสร้างบูธแสดงสินค้า ฉากและเวที 5. ผู้จัดเทศกาลดนตรี เทศกาลบันเทิงอื่นๆ จึงได้ทำหนังสือดังกล่าว เพื่อให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่กล่าวถึงข้างต้น ประกอบด้วย 1. ให้ภาครัฐช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานในอัตรา 50% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4-6 เดือน หรือจนกว่าธุรกิจจะกลับสู่สภาวะปกติ 2. ผ่อนผันค่าใช้จ่ายประกันสังคมส่วนนายจ้างและลูกจ้างเป็นเวลา 6 เดือน และ 3. นายจ้างที่หยุดกิจการชั่วคราว ขอให้ลูกจ้างที่ว่างงานได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม 50-62%
ทางสมาคมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น ให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดจนกว่าวิกฤตการณ์การระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกลับคืนเป็นปกติ” อุปถัมป์กล่าวในตอนท้าย
ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SME ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนในเวลานี้คือ การเข้าไม่ถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan ของภาครัฐ นอกจากนี้ คำสั่งของภาครัฐในการห้ามจัดงานประชุม สัมมนา ทำให้ผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มนี้ไม่สามารถหาช่องทางสร้างรายได้ทางอื่น ซึ่งแตกต่างจาก SME ในกลุ่มธุรกิจอื่น เช่น SME ในกลุ่มค้าปลีก ที่แม้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ยังพอมีช่องทางในการหารายได้
มีความเป็นไปได้ว่า การที่ SME เหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึง Soft Loan ได้ อาจเพราะเป็นธุรกิจ SME ที่อยู่นอกระบบ โดยยังไม่ขึ้นบัญชี ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐ หากรัฐผ่อนปรนบทลงโทษและใช้โอกาสนี้ พร้อมทั้งหยิบยื่นความช่วยเหลือสำหรับ SME ที่อยู่นอกระบบ น่าจะเป็นผลดี เพราะสิ่งที่ภาครัฐจะได้คือ ข้อมูลที่ถูกต้องของผู้ประกอบการ ว่าดำเนินธุรกิจประเภทใด มีแรงงานเท่าไร
ด้านประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนั่น อังอุบลกุล เสนอแนวทางเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วย Digital Transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุน หลังพบว่าผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะรายเล็ก ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นอย่างมาก บางรายต้องพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของรัฐได้ ทั้งที่ผู้ประกอบการหลายรายยังมีศักยภาพและมีความสามารถที่จะอยู่รอดและเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤตนี้
ทว่าผู้ประกอบการ SME ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากสภาหอการค้าไทยนั้น เป็นกลุ่ม SME ที่เป็นผู้เช่าพื้นที่ทำธุรกิจของห้างค้าปลีกรายใหญ่
ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ที่น่าจะติดลบสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าตลาดลดลงเหลือเพียง 3,000 ล้านบาท น่าจะทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถกลับเข้ามาสู่ตลาดได้อย่างไร้บาดแผล และดูเหมือนว่าสิ่งที่จะช่วยพยุงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ให้อยู่รอดและผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้คือ ความช่วยเหลือจากภาครัฐ และข้อผ่อนปรนที่ช่วยให้เข้าถึง Soft Loan ได้ เพราะ SME เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เมื่อยามที่เราพ้นวิกฤตโควิด-19 ด้วยวัคซีนที่เริ่มฉีดให้ประชาชน
เพราะหากไร้ซึ่งการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เราคงได้เห็นปัญหาการว่างงาน และคนตกงานอีกจำนวนมาก