วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > พิษโควิดกลายพันธุ์ ตกงานพุ่งอีก หนี้ท่วม

พิษโควิดกลายพันธุ์ ตกงานพุ่งอีก หนี้ท่วม

แม้สถานการณ์โควิดรอบ 3 ยังไม่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ 100% แต่การประกาศกฎเหล็กในบางจังหวัดบวกกับตัวเลขการแพร่ระบาดที่ยังมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากการกลายพันธุ์ กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจำนวนคนตกงานที่สะสมตั้งแต่ระลอกแรกและยืดเยื้อจนถึงวิกฤตครั้งล่าสุด

ล่าสุด บริษัทหลายแห่งจำเป็นต้องงัดหลากหลายแผน เพื่อความอยู่รอด ตั้งแต่กดดันให้พนักงานเร่งทำยอดขายสร้างรายได้ ลดชั่วโมงการทำงานเพื่อลดค่าตอบแทน ไปจนถึงกำหนดเงื่อนไขเข้มงวด หากติดเชื้อโควิดต้องถูกพักงาน ไม่ได้รับเงินเดือน หรืออาจถึงขั้นไล่ออก หากพิสูจน์พบว่า เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ไปสังสรรค์ ไปเที่ยวสถานบันเทิง

อย่างเช่นกรณีเฟซบุ๊ก Thawichaya Tungsaharangsee ของนายทวิษย์ชญะ ตั้งสหะรังษี หรือแจ็ค รัสเซล นักแต่งเพลง เล่าเหตุการณ์ที่รุ่นน้องคนหนึ่งเป็นพนักงานบริษัทเอกชน บริษัทให้หยุดทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home 2 สัปดาห์ และยินดีจ่ายค่าทำงานให้เต็มจำนวน โดยมีกติกาห้ามออกนอกบ้าน ถ้าไม่จำเป็น เช่น เที่ยวเตร่ ดื่ม สังสรรค์ เดินชอปปิ้ง แต่หยุดได้แค่ 3 วัน เขากับเพื่อนในบริษัทอีก 3 คน รวม 4 คน ออกไปกินข้าวในห้างสรรพสินค้า ไปเดินซื้อของและแยกย้ายกันกลับบ้าน

หลังจากนั้นผ่านไป 6-7 วัน ทั้งสี่คนเริ่มมีอาการและตรวจพบว่า ติดเชื้อโควิด

เมื่อบริษัททราบเรื่องจึงแจ้งไม่ขอจ่ายค่าทำงาน เพราะผิดข้อตกลง และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ระบุว่า นายจ้างสามารถทำได้ตามหลัก no work no pay

ดังนั้น ผลพวงจากการแพร่ระบาดและมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 6 จังหวัดที่ถูกควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี และเชียงใหม่ เช่น ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน งดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน โดยบริการเฉพาะซื้อกลับบ้านได้จนถึง 21.00 น. ขยายมาตรการปิดสนามกีฬา ยิม ฟิตเนส ขยายมาตรการควบคุมเวลาเปิดปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง

ทั้งหมดล้วนกระทบต่อรายได้ของสถานประกอบการและลุกลามไปถึงสถานการณ์การจ้างงาน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องตัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า เจ้าของกิจการหลายแห่งได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดรับกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ที่มีแนวโน้มรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยการชะลอการจ้างงานใหม่และสำรองเงินสดไว้ให้มากที่สุด เพื่อประคับประคองธุรกิจ

เพราะแม้ภาพรวมการว่างงานมีโอกาสฟื้นตัวจากการส่งออกที่มีสัญญาณบวกและรัฐบาลไม่ได้ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่ตลาดแรงงานยังมีความเสี่ยงและอ่อนไหว ทั้งการเลิกจ้างที่เพิ่มขึ้นและตัวเลขการว่างงานแฝงที่สะท้อนผ่านข้อมูลจำนวนคนที่กำลังหางาน ดูจากเว็บไซต์ Jobthai.com มีผู้ฝากประวัติแสดงความจำนงต้องการงานทำถึง 1.87 ล้านคน ส่วนใหญ่จบปริญญาตรี

ยังไม่นับรวมนักศึกษาที่จะจบการศึกษาใหม่ในปี 2564 ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน อีก 520,000 คน ทั้งระดับ ปวช., ปวส. และปริญญาตรี ซึ่งอาจกลายเป็น “ผู้ว่างงาน” ในที่สุด

“การว่างงานของไทยจะเลวร้ายต่อเนื่องหรือดีขึ้นอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล โดยเอกชนซึ่งเป็นนายจ้างได้ปรับกลยุทธ์รองรับระยะยาวตั้งแต่ 6 เดือนจนถึงสิ้นปีนี้ จากเดิมที่ประเมินเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ กลุ่มเอสเอ็มอีอาจไม่สามารถดำเนินกิจการให้อยู่รอดได้”

ขณะเดียวกัน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 64 จากกลุ่มตัวอย่างแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 1,256 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-22 เมษายน 2564 พบว่า จากการสอบถามภาระหนี้สินปี 2564 เทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ตอบมากถึง 98.1% ระบุว่ามีภาระหนี้ และภาระหนี้ของครัวเรือนแรงงานไทยพุ่งสูงมาก เฉลี่ย 205,809 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 29.56% จากปี 2562 ที่มีภาระหนี้ 158,855 บาท ถือเป็นภาระหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ มีภาระผ่อนชำระเฉลี่ย 8,024 บาทต่อเดือน โดย 71.6% กู้หนี้ในระบบ ภาระผ่อนชำระ 7,781 บาทต่อเดือน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 11.25% ต่อปี อีก 28.4% กู้หนี้นอกระบบ ภาระผ่อนชำระ 3,223 บาทต่อเดือน ดอกเบี้ย 19% ต่อปี และ 85.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะขาดสภาพคล่อง รายจ่ายเพิ่ม รายได้ไม่พอ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี

สำหรับสาเหตุการก่อหนี้มากขึ้น เพราะรายจ่ายมากกว่ารายรับ แม้เงินเดือนหรือรายได้ไม่ได้ถูกปรับลดลง แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นมากและมีภาระหนี้บัตรเครดิต หนี้ที่อยู่อาศัย ซื้อยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ในกลุ่มหาเช้ากินค่ำ คนมีรายได้น้อย แรงงานภาคบริการท่องเที่ยว และคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน มีโอกาสตกงานสูง

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมเดอะ สุโกศล กล่าวว่า โควิดระลอก 3 ทำให้ธุรกิจหมดโอกาสสร้างรายได้ตลอดเดือนเมษายนและลากยาวถึงเดือนพฤษภาคม โดยโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวที่ปัจจุบันเปิดให้บริการไม่ถึง 50% เริ่มประเมินสถานการณ์เพื่อปิดบริการชั่วคราวอีกครั้ง และลุ้นจะกลับมาเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวไทย

ทว่า การทยอยปิดโรงแรมชั่วคราวอีกรอบหมายถึงแรงงานในธุรกิจโรงแรมจะตกงานเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ โดยข้อมูลการสำรวจของสมาคมโรงแรมไทยและจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีแรงงานในธุรกิจโรงแรมตกงาน 37% และตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 45% ในเดือนมีนาคม 2564 แม้โรงแรมหลายแห่งพลิกสถานการณ์เข้าร่วมสมัครเป็น Hospitel (ฮอสพิเทล) หรือหอผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เฉพาะกิจ รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเข้าเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข

ณ วันนี้ ดูเหมือนทางออกสำคัญยังอยู่ที่เป้าหมายเร่งกระจายวัคซีน 10 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน ภายในปี 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

นี่ถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ เพราะไม่ใช่แค่ชี้ชะตาประเทศและประชาชนทุกคน แต่ยังชี้ชะตารัฐบาลจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่

ใส่ความเห็น