วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “เอ็มเค กรุ๊ป” ปรับทัพ ส่งต่อเจเนเรชั่น 3

“เอ็มเค กรุ๊ป” ปรับทัพ ส่งต่อเจเนเรชั่น 3

 
การทุ่มทุนเปิดตัวโครงการคอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์ “ลอนดอนสตรีท” นอกจากปลุกสีสันการตลาด ตอกย้ำภาพลักษณ์อาณาจักร “เอ็มเค กรุ๊ป” ในฐานะผู้นำธุรกิจด้านร้านอาหาร และสร้างโมเดลการขยายสาขาในรูปแบบใหม่ โดยผนึกแบรนด์ร้านอาหารในเครือ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าทุกระดับ ทุกวัย ทุกสไตล์ และทุกเซกเมนต์ เป้าหมายมากกว่านั้น ยังเป็นสนามทดสอบครั้งสำคัญก่อนส่งต่อธุรกิจหมื่นล้านให้ผู้บริหารเจเนเรชั่นใหม่
 
เปลี่ยนยุคจาก 3 หัวเรือใหญ่ คือ ฤทธิ์ ธีระโกเมน ยุพิน ธีระโกเมน และสมชาย หาญจิตต์เกษม สู่ทายาทรุ่นที่ 3 โดยวางไทม์ไลน์ไว้หลังจากนี้ไม่เกิน 5 ปี
 
“คนรุ่นผม อีก 5 ปี ควรอยู่อย่างสงบ ทำบุญ ช่วยเหลือสังคม วันนี้เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ เอ็มเค กรุ๊ป เปิดตัวลอนดอนสตรีทและเปิดตัวผู้บริหารรุ่นใหม่ จากเดิมที่พวกเขาไม่เคยมีตัวตน วันนี้พวกเขามีตัวตน ทุกคนรู้จัก แต่ยังต้องใช้เวลาเรียนรู้สร้างประสบการณ์อีกระยะหนึ่ง เจเนเรชั่นใหม่ทั้งฝั่งผมและฝั่งคุณสมชาย ทุกคนจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ส่วนผมเป็นที่ปรึกษา” ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ผู้จัดการ360  ํ”
 
ทั้งนี้ ช่วงเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา เอ็มเค กรุ๊ป มีการปรับโครงสร้างองค์กรและดันเจเนเรชั่นที่ 3 ลูกสาวและลูกชายของฤทธิ์ คือ ทานตะวัน ธีระโกเมน เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดเอ็มเค และธีร์ ธีระโกเมน นั่งเก้าอี้ผู้จัดการฝ่ายตลาดกลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ รวมทั้งผลักดันผู้บริหารรุ่นใหม่ คือ กิตติยา วรรณสุรีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลกิจการอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ เข้ามาดูแลศูนย์ลอนดอนสตรีท ซึ่งถือเป็นโครงการคอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์ต้นแบบแห่งแรก และมีแผนขยายสู่สี่มุมเมืองกรุงเทพฯ
 
ส่วนฤทธิ์ยังนั่งตำแหน่งประธานกรรมการและซีอีโอ ยุพินเป็นกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น โดยมีสมชายดูภาพรวมการบริหารในฐานะกรรมการผู้จัดการ 
 
อย่างไรก็ตาม กว่าจะถึงวันนี้ของอาณาจักรธุรกิจ “เอ็มเค กรุ๊ป” ใช้เวลากว่า 5 ทศวรรษ จากเจเนเรชั่นแรก ยุคคุณป้าทองคำ เมฆโต เข้ามาทำกิจการร้านอาหารไทยร่วมกับมาคอง คิงยี (Makong King Yee) ชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นที่มาของ คำว่า “MK” แถวๆสยามสแควร์ จนมาคอง คิงยี ต้องย้ายครอบครัวไปอยู่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาและขายกิจการให้ป้าทองคำ ซึ่งมีลูกสาว คือยุพิน ช่วยกันดำเนินกิจการและเป็นที่รู้จักชื่นชอบในหมู่นักกินทั้งหลาย 
 
อาหารขึ้นชื่อในสมัยนั้น ได้แก่  ข้าวมันไก่ เนื้อตุ๋น ผัดไทย ผัดขี้เมา เนื้อย่างเกาหลีเตาถ่าน ยำแซ่บๆ และเค้ก 
 
จากป้าทองคำสู่การบุกเบิกอาณาจักรของ 3 หัวเรือใหญ่ ซึ่งสมชาย หาญจิตต์เกษม บอกกับ “ผู้จัดการ 360 ํ” ว่า อาณาจักรเอ็มเคเกิดขึ้นจากพรหมลิขิต เพราะฤทธิ์ไม่น่าจะจับธุรกิจอาหาร ทั้งที่เรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นทำงานในสำนักพิมพ์นิตยสารคอมพิวเตอร์ก่อนมาจับมือกับเพื่อนคู่ใจ  ทนง โชติสรยุทธ์ บุกเบิกธุรกิจร้านหนังสือซีเอ็ดหลายปี  
 
จนวันหนึ่งมารู้จัก คบหาดูใจและแต่งงานกับยุพิน ฤทธิ์ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิต ลุยธุรกิจอาหารของป้าทองคำ โดยมีสมชาย น้องชายของยุพินเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมด้วย    
 
ปี 2529 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เจ้าของเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป ชวนป้าทองคำมาเปิดร้านอาหารไทยในเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในชื่อร้านใหม่ “กรีน เอ็มเค” และอีก 2 ปีต่อมา เสนอพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร เปิดร้านสุกี้เอ็มเค สาขาแรกในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือต้องเปลี่ยนจากหม้อสุกี้เตาแก๊สเป็นเตาไฟฟ้า ซึ่งฤทธิ์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมวางระบบจนสามารถเปิดร้าน “สุกี้เอ็มเค” สาขาแรก 
 
ทั้งทำเลและรูปแบบการกินอาหารแนวใหม่ในเวลานั้น ทำให้ “สุกี้เอ็มเค” กลายเป็นร้านอาหารยอดฮิต สามารถขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับแตกไลน์ธุรกิจอาหารประเภทอื่นๆ 
 
ปี 2549 เอ็มเคคว้าสิทธิแฟรนไชส์ในการดำเนินกิจการร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ” จาก Plenus Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารของประเทศญี่ปุ่น เปิดร้านอาหารยาโยอิสาขาแรกในประเทศไทย โดยเน้นแนวคิดการให้บริการรวดเร็ว มีคุณภาพ ปรุงใหม่ทุกจาน และราคาสมเหตุสมผล 
 
จาก “ยาโยอิ” ขยายสู่ร้านอาหารญี่ปุ่นฮากาตะ ราเมน โดยทดลองเปิดสาขาแรกที่โรงพยาบาลศิริราชในปี 2555 พร้อมๆ กับเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นมิยาซากิ เทปปันยากิ นำเสนอเมนูกระทะร้อน เริ่มสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเดอะซีน ทาวน์ อิน ทาวน์ (The Scene Town in Town) ซ. ลาดพร้าว 94 
 
ปีเดียวกัน เอ็มเคชิมลางพัฒนารูปแบบร้านกาแฟและเบเกอรี่ภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้า “เลอ เพอทิท” สาขาแรกที่โรงพยาบาลศิริราช 
 
จนปี 2556 เอ็มเค กรุ๊ป หันกลับไปหาร้านอาหารไทยที่เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจหมื่นล้าน โดยเปิดร้านอาหารไทย ณ สยาม ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา บางนา บริการอาหารไทยเต็มรูปแบบ ตกแต่งในรูปแบบไทย เพื่อสะท้อนภาพร้านอาหารไทยยุคก่อตั้งสาขาแรกที่สยามสแควร์ ซอย 3 และสูตรอาหารของป้าทองคำ เน้นจับกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับกลางถึงสูง นอกจากนี้ เปิดร้านอาหาร เลอ สยาม บริการอาหารไทยเต็มรูปแบบเช่นกัน แต่จับกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม เช่น ชาวต่างชาติ กลุ่มลูกค้ารายได้สูงและต้องการใช้ร้านเป็นสถานที่เลี้ยงรับรอง โดยปีนั้นเปิด 2 สาขา คือ สาขาศาลาแดงและจังซีลอน จ. ภูเก็ต 
 
ขณะเดียวกัน บริษัทพยายามสร้างเซกเมนต์ใหม่ให้ร้านเอ็มเคสุกี้ เพื่อขยายฐานลูกค้า โดยสร้าง “เอ็มเคสุกี้” ให้เป็นร้านสำหรับลูกค้ากลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน คนทำงาน รายได้ระดับปานกลางถึงสูง ส่วน “เอ็มเค โกลด์” จับกลุ่มรายได้ค่อนข้างสูง เน้นอาหารเกรดพรีเมียมและต้องการใช้ร้านเอ็มเค โกลด์ เป็นสถานที่เลี้ยงรับรอง เพราะการตกแต่งของร้านเอ็ม เค โกลด์ จะเน้นความหรูหรา ประดับด้วยไฟและวัสดุหลากสี ใช้หม้อไฟสีทอง จานชามกระเบื้อง
 
ปัจจุบัน เอ็มเค กรุ๊ป มีร้านอาหารในเครือทั่วประเทศ 566 สาขา ประกอบด้วย เอ็มเคสุกี้  401 สาขา เอ็มเคโกลด์ 6 สาขา ยาโยอิ 135 สาขา มิยาซากิ 15 สาขา เลอ สยาม 3 สาขา ณ สยาม 1 สาขา เลอ เพอทิท 2 สาขา และฮากาตะราเมน 3 สาขา 
 
ส่วนการขยายสาขาในต่างประเทศเริ่มจากการขายสิทธิแฟรนไชส์ “เอ็มเคสุกี้” ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2537 จนล่าสุดมีสาขารวม 35 แห่ง ปี 2553 เปิดแฟรนไชส์ “เอ็มเคสุกี้” ในเวียดนาม ล่าสุดเปิด 4 สาขา และรุกสู่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มีร้านเอ็มเคสุกี้ 2 แห่ง และยาโยอิ 4 สาขา เวียดนาม มีร้านเอ็มเคสุกี้ 4 สาขา และที่อินโดนีเซียอีก 1 สาขา 
 
ตามแผนในปี 2558 เอ็มเค กรุ๊ป เตรียมงบลงทุน 500-600 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่รวม 60 สาขา แบ่งเป็น ร้านเอ็มเคสุกี้ 20-30 สาขา ยาโยอิ 20 สาขา มิยาซากิ 10 สาขา เลอ สยาม 2-3 สาขา และเลอ เพอทิท อีก 2-3 สาขา รวมทั้งมีแผนเพิ่มแบรนด์ใหม่ๆ อาหารทุกประเภท ทุกสไตล์ ทั้งการพัฒนาขึ้นเองและเจรจาซื้อกิจการ ภายใต้เงินทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท ที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตมากกว่า 10% จากปีก่อนอยู่ที่ 15,104.54 ล้านบาท 
 
สำหรับตลาดต่างประเทศ เบื้องต้นทดลองทำตลาดร้านเอ็มเคสุกี้ในเวียดนาม 3 สาขา และเตรียมเปิดที่ลาว เมียนมาร์ ส่วนกัมพูชาอยู่ระหว่างศึกษาตลาด คาดว่าจะเริ่มรุกตลาดภายใน 2-3 ปี ซึ่งหากมีผลตอบรับที่ดี ไม่ใช่เพียงแบรนด์เอ็มเคสุกี้เท่านั้น ยังหมายถึงการรุกตลาดของแบรนด์อื่นในเครือ ทั้งยาโยอิ มิยาซากิ เลอ สยาม และเลอ เพอทิท คาเฟ่
 
ฤทธิ์กล่าวว่าหากนึกถึงการทำธุรกิจอาหารในวันแรกจนถึง ณ วันนี้ ไม่เคยคิดว่าเอ็มเคจะขยายธุรกิจใหญ่โตได้ขนาดนี้และกำลังก้าวหน้าต่อเนื่อง ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญและการใส่ใจผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดเจเนเรชั่นใหม่จะต้องทำต่อให้ได้อย่างมีคุณภาพ 
 
โดยเฉพาะทานตะวัน ธีระโกเมน ซึ่งถือเป็นลูกสาวคนโตและเป็นทายาทธุรกิจที่ฤทธิ์เรียกใช้มาเรียนรู้งานทุกกระบวนการ ตั้งแต่บริการหน้าร้าน เสิร์ฟอาหารจนถึงกระบวนการทำอาหารหลังครัว และเรียนรู้โดยอัตโนมัติว่าจะต้องกลับมาสานต่อธุรกิจให้ครอบครัว 
 
ทานตะวันจบปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Imperial College London หลังเรียนจบใช้เวลาช่วงระยะหนึ่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการตลาดที่บริษัทยูนิลีเวอร์ โดยร่วมสร้างแบรนด์และทำการตลาดให้กลุ่มสินค้าคนอร์และเบสท์ฟู้ด หลังจากนั้นก็กลับมาลุยธุรกิจครอบครัว เริ่มดูแลการตลาดธุรกิจกลุ่มเอ็มเคสุกี้และเอ็มเค โกลด์ 
 
ทานตะวันกล่าวกับ “ผู้จัดการ360 ํ” ว่า  เอ็มเคถือเป็นแบรนด์เก่าแก่และมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือ ซึ่งเป็นความท้าทายในการเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะโจทย์ด้านการตลาด เรื่องการขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มยังเกอร์ เพิ่มจากกลุ่มครอบครัวที่เป็นกลุ่มหลักของเอ็มเค ท่ามกลางธุรกิจอาหารที่แข่งขันรุนแรงมาก
 
ที่สำคัญ เอ็มเค กรุ๊ป กำลังเปิดเกมรุกใหม่ ทั้งสมรภูมิธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจคอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์ ทั้งตลาดในประเทศไทยและประกาศเป้าหมายการเป็น “Asean Brand” ในอีก 5 ปีข้างหน้า 
 
ทั้งหมดเป็นไทม์ไลน์และโจทย์การตลาดที่ 3 หัวเรือใหญ่ ส่งต่อและท้าทายเจเนเรชั่นใหม่อย่างยิ่ง
 
Relate Story