แม้ว่าคนไทยจะกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเวลานานกว่า 1 ปี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คนไทยจะไม่มีอาการวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ เมื่อการระบาดของเชื้อไวรัสระลอก 3 ดูจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ส่วนหนึ่งอาจมาจากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ที่พัฒนาตัวเองให้ร้ายกาจกว่าระลอกก่อน ส่งผลให้มีการติดเชื้อกันง่ายขึ้น และความรุนแรงของโรคเข้าขั้นอันตราย สำหรับผู้คนที่มีโรคประจำตัว เมื่อระยะเวลาการเพาะเชื้อและแสดงอาการรวดเร็วขึ้น บางเคสเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วันหลังพบเชื้อ
ความรุนแรงดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลใจต่อผู้คนอย่างมาก ทั้งกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจได้รับ กังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัวลงจากปัจจุบัน แน่นอนว่า ปัญหาความกังวลดังกล่าวย่อมส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพจิต
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “คนไทยกับโควิด-19 ระลอก 3” จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,082 คน สำรวจวันที่ 16-22 เมษายน 2564 พบว่า ประชาชนมองว่าการระบาดระลอก 3 นี้มีการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ร้อยละ 74.29 ทำให้ตื่นตระหนก และวิตกกังวลมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ร้อยละ 68.40 มองว่าระลอก 3 นี้มีความรุนแรงมากที่สุดร้อยละ 70.51 จะป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ ร้อยละ 83.90 มองว่ารัฐบาลน่าจะรับมือได้ ร้อยละ 39.19 โดยคาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 3 เดือน จึงจะดีขึ้น ร้อยละ 50.58 และอาจจะมีการระบาดระลอก 4 ร้อยละ 58.89
จากผลการสำรวจประชาชนมองว่าการระบาดระลอกนี้รุนแรงขยายวงกว้างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา ถึงแม้จะเริ่มคุ้นชินกับสถานการณ์ แต่ยังกังวลเรื่องการติดเชื้อและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการเชิงรุกการตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึง และการเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยผลสำรวจ Mental Health Check In ว่า ประชาชนมีแนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงการระบาดระลอกใหม่ และมีความสามารถในการปรับตัว จำกัดความเครียดได้ดีขึ้น จากการระบาดระลอกก่อนหน้า และพลังใจของประชาชนส่วนมากอยู่ในระดับสูงและปานกลาง ซึ่งคงตัวจากระดับช่วงก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มที่มีพลังใจที่ดีคือ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีพลังใจให้กับสังคมที่ดี ได้แก่ ครอบครัว และ อสม. พร้อมแนะประชาชนฉีดวัคซีนใจ เป็นภูมิคุ้มกัน ฉีดทุกวัน 4 เข็ม คือ
1. ความรู้สึกปลอดภัย หรือการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอยู่เสมอ
2. ไม่ตระหนก หรือรับฟังข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และลดการรับฟังข้อมูลจากบุคคลที่ไม่รู้จัก หรือไม่มีประโยชน์
3. มีความหวัง หรือการมองด้านบวก ส่งต่อเรื่องราวดีๆ อยู่ตลอด และ
4. ความเข้าใจ หรือมีความเข้าใจและพร้อมดูแลผู้อื่นเสมอ
กรมสุขภาพจิต พร้อมรับมือปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เผยมาตรการการเฝ้าระวัง การติดตามดูแลช่วยเหลือ การเสริมสร้างวัคซีนใจ ร่วมกับมาตรการบูรณาการเพื่อการดูแลประชาชนแบบองค์รวม จะช่วยให้ประชาชนปลอดภัยจากปัญหาสุขภาพจิต ลดการสูญเสียจากปัญหาการฆ่าตัวตาย
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกรณีที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียดที่อาจนำไปสู่การคิดฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มที่มีโรคทางจิตเวชเรื้อรังอยู่เดิม กลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงการบริการ กลุ่มที่ขาดการรักษาด้านจิตเวชอย่างต่อเนื่อง ว่ากรมสุขภาพจิตได้ดำเนินมาตรการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ภายใต้แผนการพื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563
โดยในส่วนการลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตได้ดำเนินการมาตรการสำคัญคือ 1. การเพิ่มระดับการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหา ทั้งจากระบบการให้บริการปกติของสถาบันสุขภาพจิตและโรงพยาบาลจิตเวชของกรมสุขภาพจิต ระบบการสำรวจการรับรู้และภาวะสุขภาพจิตของบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนไทย และระบบการประเมินสุขภาพจิตตนเองด้วยโปรแกรม Mental Health Check In
2. การระบุกลุ่มเสี่ยงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ควบคู่กับการดูแลช่วยเหลือจิตใจ ทั้งกระบวนการบำบัดแบบสั้น และการป้องกันภาวะสุขภาพจิตตามระดับความรุนแรง
3. การดำเนินงานเสริมความเข้มแข็งทางใจ ด้วย “วัคซีนใจ” คือการเสริมสร้างพลัง อึด ฮึด สู้ ในระดับบุคคล สร้างพลังบวก พลังยืดหยุ่น พลังร่วมมือ ในระดับครอบครัว และสร้างความรู้สึกปลอดภัย ความสงบ ความหวัง ความเห็นใจ โดยใช้ศักยภาพ และสายสัมพันธ์ในระดับชุมชน และองค์กร
การตั้งมั่นตัวเองอยู่ในสติตลอดเวลา น่าจะเป็นหนทางที่ดี ที่จะลดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ในปัจจุบันได้ เมื่อไม่รู้ว่า เราจะต้องเผชิญหน้ากับเชื้อโควิด-19 ไปอีกนานเพียงใด
นอกจากการรอคอยวัคซีนด้านโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ที่จะเอาชนะโรคร้ายได้ ปัญหาสุขภาพจิต โรควิตก รักษาได้ด้วยวัคซีนใจเช่นกัน