วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ค้าปลีกอ่วมซ้ำแสนล้าน จี้อัปเกรด ช้อปดีมีคืน-คนละครึ่งเฟส 3

ค้าปลีกอ่วมซ้ำแสนล้าน จี้อัปเกรด ช้อปดีมีคืน-คนละครึ่งเฟส 3

โควิดระลอก 3 เหมือนฝันร้ายของธุรกิจค้าปลีกที่เกี่ยวพันโดยตรงกับกำลังซื้อของผู้คน และแนวโน้มจะหนักหนาสาหัสกว่า 2 ระลอกแรก ที่นับเม็ดเงินหดหายตลอดทั้งปี 2563 มากกว่า 5 แสนล้านบาท ทำลายบรรยากาศการจับจ่ายช่วงเทศกาลวันหยุดยาว และยังต้องลุ้นแผนการควบคุมการระบาดช่วง 2 เดือนนับจากนี้

ที่สำคัญ ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนตัวเลขการเติบโตทุกด้าน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 กรณีคลัสเตอร์สถานบันเทิง และมีผู้ติดเชื้อต่อวันสูงขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้กิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก คนระมัดระวังการใช้จ่าย คิดเป็นความเสียหายต่อเดือน 3-5 หมื่นล้านบาท และหากดูสถิติย้อนหลังเมื่อเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่จะใช้เวลาควบคุมและเรียกความเชื่อมั่นให้การจับจ่ายกลับมาอีกครั้งจะใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน เท่ากับเงินใช้จ่ายจะหายไปจากระบบ 6 หมื่นล้านบาทถึง 1 แสนล้านบาท และกระทบตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไม่ต่ำกว่า 0.3-0.5%

นี่ยังไม่ประเมินในกรณีเลวร้าย การระบาดวงกว้างหยุดไม่อยู่จนถึงขั้นล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ เศรษฐกิจปีนี้อาจเติบโตเพียง 2.0-2.5%

ดังนั้น นอกจากการควบคุมการแพร่ระบาดและเร่งกระจายฉีดวัคซีนเร็วที่สุด มากที่สุด เพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแล้ว รัฐต้องเร่งออกมาตรการลดค่าครองชีพเร็วขึ้นภายในปลายเดือนเมษายน จากเดิมจะเริ่มในเดือนมิถุนายน ทั้งโครงการเราชนะและคนละครึ่งเฟส 3 เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 2-2.5 แสนล้านบาท เพื่อพยุงจีดีพีไตรมาสที่ 2 ครึ่งปีแรกไม่ให้ติดลบมาก จากเดิมคาดว่าจะบวก 1-2%

ด้านนายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการบริหารหอการค้าไทยและประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย นำเสนอให้ภาครัฐงัดแคมเปญกระตุ้นการจับจ่ายในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง โดยยกระดับโครงการช้อปดีมีคืน “ยิ่งใช้ยิ่งได้คืน” สามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 1 แสนบาท จากเดิม 30,000 บาท และการกระตุ้นใช้สินค้าไทย ซึ่งหอการค้าไทยวางแผนสนับสนุนผ่านโครงการฮักไทย (Hug Thais) พร้อมๆ กับแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเคยสำรวจดัชนีค้าปลีกปี 2563 ลดลงจากปี 2562 จาก 2.8% เป็นติดลบ 12.0% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดลบถึง 2 หลัก หรือทำค้าปลีกไทยสูญเม็ดเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 1/2564 ดัชนีค้าปลีกยังคงติดลบ 7-8% เนื่องจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รายได้ลดลง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เอสเอ็มอีทยอยปิดตัว และกำลังซื้อลดลงชัดเจน ซึ่งตัวเลขปรับใหม่น่าจะติดลบหนักกว่าตัวเลขเดิมจากพิษโควิดระลอก 3

นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สมาคมฯ พยายามนำเสนอมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งไปยังกลุ่มกำลังซื้อระดับกลางถึงสูง จำนวนกว่า 8 ล้านราย เพื่อผันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย

เช่น มาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทยสูงถึง 30% สูงที่สุดใน 15 ประเทศในแถบเอเชีย โดยเสนอให้ทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวตามประเภทสินค้าเป็นแบบขั้นบันได เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 20% 15% และ 10% เพื่อให้มีส่วนต่างของอัตราภาษีและไม่เกิดผลกระทบกับแบรนด์ไทย เพราะคาดการณ์จะสามารถสร้างเงินสะพัดได้กว่า 20,000 ล้านบาทต่อไตรมาส

นอกจากนั้น ภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะจากงานวิจัยพบว่า สินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อหาส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่กี่ชนิด เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่น ๆ

การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ จะช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บัตรและกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs

ขณะเดียวกันข้อมูลของ Kantar (คันทาร์) บริษัทวิจัยชั้นนำด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก ระบุชัดเจนว่า การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของคนไทยเพิ่มขึ้น 4% ในช่วงไตรมาส 4/2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 รวมกับการกักตุนในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 การใช้จ่ายต่อปีของสินค้าเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี

ตัวขับเคลื่อนสำคัญ คือ โครงการเงินอุดหนุนจากทางภาครัฐ เพราะครัวเรือนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 7% เทียบกับครัวเรือนที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มการใช้จ่ายเพียง 2% และจากการประมาณของ Kantar ตามโครงการที่รัฐบาลเพิ่มเติมอีก 3 โครงการ ทั้งคนละครึ่ง เฟส 2 เราชนะ และเรารักกัน จะผลักดันตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตมากกว่า 3%

สำหรับโครงการช้อปดีมีคืน เฟสแรก รัฐบาลกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 เน้นกลุ่มเป้าหมาย คือผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งจากฐานข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2561 มีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 3.7 ล้านคน รัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 14,000 ล้านบาท แต่ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นราว 111,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากสามารถอัปเกรดขยายฐานนักช้อปกำลังซื้อสูงและเสริมแรงดึงดูดเรื่องการลดหย่อนภาษีจาก 30,000 บาท เป็น 1 แสนบาท ย่อมหมายถึงแผนการเติมเม็ดเงินจะขยับสูงขึ้นอีกหลายเท่า

เพราะอย่าลืมว่า โควิดระลอก 3 รอบนี้ กระจายตัวรวดเร็วมาก ขยายวงสู่กลุ่มคนใหม่ๆ และเริ่มเกิดความหวั่นวิตกเกี่ยวกับศักยภาพด้านระบบสาธารณสุขไทย โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ประมาณการเบื้องต้นอาจต้องใช้เม็ดเงินมากกว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยากลุ่มคนที่ไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาด แต่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย คนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งกลุ่มนี้มากถึง 30 ล้านคน และต้องช่วยเหลืออย่างน้อย 50-60% ของรายได้ขั้นต่ำ จนกว่าการระบาดระลอกใหม่สิ้นสุด ประมาณ 3-4 เดือน

ภาครัฐจำเป็นต้องหางบประมาณอีกจำนวนมหาศาล และยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่า จะไม่เกิดคลัสเตอร์การแพร่เชื้อใหม่และระลอกใหม่อีก

ใส่ความเห็น