สถานการณ์โควิดในปัจจุบันคล้ายเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เชื้อไวรัสตัวร้ายจะยังคงอยู่บนโลกนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ตราบใดที่วัคซีนยังไม่ถูกแพร่กระจายและฉีดให้ประชากรอย่างทั่วถึงในเวลาอันรวดเร็ว
แน่นอนว่าสัญญาณดังกล่าวย่อมส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก แม้ว่าฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบางตัวจะทำงานได้เกือบเต็มประสิทธิภาพแล้วก็ตาม แต่นั่นยังไม่อาจพลิกฟื้นสถานการณ์ที่เคยตกต่ำให้ฟื้นคืนได้ในทันที
วิกฤตดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย และภาพสะท้อนที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแอเป็นทุนเดิมก่อนโควิด-19 จะมาถึง และถูกฤทธิ์ไวรัสเข้าเล่นงาน คือ ตัวเลขจีดีพีในปี 2563 ที่หดตัว -6.1% ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าจีพีดีปี 2564 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.5-3.5% ซึ่งนั่นเป็นการคาดการณ์ตามกรอบและเงื่อนไขของการระบาดระลอกใหม่เมื่อช่วงต้นปี
ทว่า เมื่อเริ่มต้นไตรมาส 2/2564 สถานการณ์โควิดในไทยเริ่มสร้างความหวาดวิตกให้แก่ประชาชนอีกครั้ง ด้วยการพบกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ และกระจายอยู่ในหลายวงการ เช่น วงการแพทย์ วงการบันเทิง การเมือง กลุ่มพริตตี้ เซเลบ ไฮโซ
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความชะล่าใจของผู้คนในสังคม เมื่อได้รับรู้ถึงการมาถึงของวัคซีนโควิด-19 และเริ่มมีการฉีดให้กับกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง กระนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังออกโรงเตือนอย่างต่อเนื่องว่า แม้จะได้รับวัคซีนแล้ว แต่ยังต้องหมั่นล้างมือ และสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 4/2563 บ่งชี้ว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปิดสิ้นปี 2563 ด้วยจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี โดยระดับหนี้ครัวเรือนทะลุ 14 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับจีดีพีปี 2563 อย่างไรก็ดี หากมองในมิติอัตราการเติบโตของหนี้ จะพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% เป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี แสดงให้เห็นว่า ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ ต่างเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจากผลกระทบของโควิด-19
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตว่าสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้นั้น สะท้อนสถานะของผู้กู้และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมที่แตกต่างกันระหว่างผู้กู้ 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่กำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางสูง และรายได้ไม่ได้ถูกกระทบมากจากสถานการณ์โควิด
และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง หรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน และสถานะทางการเงินอ่อนแอลงตามทิศทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจภาวะหนี้สินและเงินออมของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า ภาระหนี้สินและเงินออมของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจและผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้ ถดถอยลงมาจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่ภาระหนี้ต่อรายได้ (Dept Service Ratio-DSR) ต่อเดือนในช่วงต้นปี 2564 อยู่ที่ 44.1% และ 43.8% ตามลำดับ ซึ่งภาระหนี้ของผู้กู้ทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของผู้ตอบแบบสอบถามในผลสำรวจฯ ซึ่งอยู่ที่ 42.8% ขณะที่ข้อมูลในฝั่งการออมของภาคครัวเรือน ก็สะท้อนว่า ระดับการออมของครัวเรือนทุกกลุ่มลดต่ำลงจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปีนี้ มีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563 ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 89.0-91.0% ต่อจีดีพี ซึ่งภาครัฐคงต้องหันกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง เมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง
แต่คำถามคือ วิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่
ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในอัตราที่สูง แต่อัตราการเติบโตของหนี้เพิ่มขึ้นมาเพียง 3.9% เท่านั้น แม้จะเป็นข่าวร้ายต่อระบบเศรษฐกิจไทย แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นการชี้ให้เห็นว่า มีความระมัดระวังทั้งในกลุ่มผู้กู้และผู้ปล่อยกู้
ขณะที่ข่าวดีคือ เรื่องเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2564 ที่มีการหดตัว -0.08% โดย วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เงินเฟ้อในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.08 แต่ถือเป็นการหดตัวที่น้อยสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย หลังจากมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน
โดยราคาสินค้าและบริการที่นำมาคำนวณเป็นอัตราเงินเฟ้อจำนวน 430 รายการ มีสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น 216 รายการ เช่น สินค้าอยู่ในกลุ่มเชื้อเพลิงพลังงาน อาทิ แก๊สโซฮอล์ เนื้อสุกร น้ำมันพืช และอาหารสำเร็จรูป ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 66 รายการ และสินค้าที่ราคาลดลง 148 รายการ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ส่งผลให้สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์หดตัวร้อยละ 0.26 ทั้งในกลุ่มข้าวแป้ง ไข่ และผลิตภัณฑ์นม และกลุ่มผักสด ส่วนหมวดสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.04 ทั้งหมวดยานพาหนะ การขนส่ง และสื่อสาร ตามราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ขณะที่ไตรมาส 2/2564 มีการประเมินว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ตามการฉีดวัคซีนรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การท่องเที่ยวที่มากขึ้นจากวันหยุดเพิ่มเติม และราคาพลังงานโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 0.7-1.7% หรือค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.2% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสม พร้อมเชื่อว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไป อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มกลับมาเป็นบวกเทียบกับฐานที่ต่ำในไตรมาส 2/2563
แม้สถานการณ์ปัจจุบัน เงินเฟ้อของไทยจะเป็นตัวบ่งบอกว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ค่าเงินมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การซื้อของชิ้นเดิมต้องใช้เงินมากกว่าเดิม ทว่า ตัวเลขเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ติดลบ น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้น
แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ยังคงนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการคนละครึ่ง ที่แม้จะปิดโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา มียอดการใช้จ่ายตลอดโครงการ 102,065 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 52,251 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 49,814 ล้านบาท และจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ สงขลา และเชียงใหม่
โครงการดังกล่าวส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 6 เดือน ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ถึงไตรมาสแรกของปี 2564 ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย เมื่อโครงการนี้มีเป้าประสงค์ที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับฐานราก
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แต่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบกับภาวะเงินเฟ้อ เพราะทั้งสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรปต่างประสบกับภาวะเงินเฟ้อไม่ต่างกัน เนื่องจากเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก จากกรณีการเกยตื้นของเรือขนส่งสินค้าขวางคลองสุเอซ ส่งผลให้การขนส่งเกิดการล่าช้าขึ้นและทำให้อัตราค่านำส่งปรับสูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานปรับสูงขึ้นเนื่องจากไม่สามารถนำส่งน้ำมันได้
ประเด็นเรื่องราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ แม้จะดูเหมือนเป็นแค่ปัจจัยระยะสั้น แต่ก็ยิ่งซ้ำเติมความกังวลของผู้คนบางส่วนที่กังวลว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นเร็วในระยะข้างหน้า โดยหากพิจารณาจากตัวเลขประมาณการเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปี 2564 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ล่าสุดพบว่าอยู่ที่ 2.4% สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศอื่นก็มีสัญญาณปรับสูงขึ้นเร็ว เช่น เงินเฟ้อของเยอรมนีในเดือนมกราคม 2564 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2563 ถึง 1.3% และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์
ส่วนเงินเฟ้อของไทยนั้น แม้จะยังอยู่ในระดับต่ำแต่ก็มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าในปี 2564 จะสามารถปรับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1-3% ได้ (โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.3%) จากที่ปีก่อนติดลบ 0.8% ด้วยเหตุนี้ประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อจึงเป็นที่จับตามากขึ้น