เมื่อเกิดสงครามครั้งที่ 2 เด็กชายโอ๊ย อายุได้ 5 ขวบ ครอบครัวต้องหนีภัยสงครามไปพักอาศัยที่บ้านญาติผู้ใหญ่แถวคลอง 12 อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เด็กชายต้องต้อนควายออกไปกินหญ้า เข้าเล้าเป็ดเก็บไข่ เลี้ยงไก่ ให้ข้าวหมู แลกอาหาร 3 มื้อ
หลังสงครามยุติ ครอบครัวย้ายกลับมาที่ตลาดบางเขนอีกครั้ง พออายุได้ 7 ขวบ บิดามารดาแยกครอบครัวออกมาเปิดร้านขายของชำชื่อว่า อึ้ง ย่ง เจ็ง เป็นร้านเล็กๆในตลาดบางบัว ริมคลองบางบัว ค้าขายได้ทั้งทางเรือและทางบก
ไชยวัฒน์เริ่มเรียนรู้โลกกว้างตั้งแต่อายุ 12 ปี เริ่มลุยงานทุกอาชีพ ตั้งแต่เป็นเด็กรับจ้างในร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่งย่านบางเขน เป็นกระเป๋ารถเมล์ รับจ้างส่งของ เป็นพ่อค้าเร่ จนได้พบอาจารย์สอนด้านประมงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหันเหชีวิตสู่อาชีพเพาะพันธุ์ปลาขาย
ต่อมารู้จักกับเศรษฐีที่ดินคนหนึ่งชื่อ บุญชู เธียรสวน และเริ่มต้นการเป็นนักพัฒนาที่ดิน สร้างหมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกย่านวิภาวดีรังสิต “เธียรสวนนิเวศน์ 1” และอีกหลายโครงการ ก่อนมาบุกเบิกธุรกิจสวนสนุกและสวนน้ำ อมรพันธุ์นคร-สวนสยาม สวนน้ำทะเล-กรุงเทพฯ เนื้อที่กว่า 300 ไร่ ดำเนินการมานานมากกว่า 40 ปี และเปลี่ยนชื่อเป็น Siam Amazing Park (สยามอะเมซิ่งพาร์ค) ในปัจจุบัน
ที่ผ่านมา ไชยวัฒน์เขียนหนังสือบอกเล่าชีวิตถ่ายทอดประสบการณ์และบทเรียนการทำธุรกิจที่หลากหลายรวม 4 เล่ม โดยเล่มสุดท้ายเขียนเสร็จเมื่อปลายปี 2563 คือ มรดกแห่งชีวิต เป็นหนังสือลาตายให้ลูกหลานเตรียมไว้แจกเมื่อต้องจากโลกนี้ไป เพราะวันนั้นกำลังใกล้เข้ามาเต็มที
เขาเขียนไว้ในหนังสือว่า สำหรับผม ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นเรื่องที่ควรเตรียมตัวไว้ให้พร้อมทุกเมื่อ เพียงแต่ถ้ายังไม่ถึงที่ตายก็ใช้ชีวิตให้คุ้มค่ากับที่ได้เกิดมา
หนังสือเล่มนี้เป็นการเตรียมตัวตายของผมรูปแบบหนึ่ง หลังจากเขียนหนังสือไปแล้ว 4 เล่ม เล่มล่าสุดที่เขียนคือ เรื่อง”อวสานละครแห่งชีวิต” เพื่อนๆได้อ่านก็คิดว่านั่นเป็นหนังสือลาตายของผม แต่จริงๆแล้ว หนังสือเล่มนั้น ผมเขียนขึ้นเพื่อบันทึกความทรงจำในอดีตที่มีทั้งผิดหวังและสมหวังตลอดอายุ 82 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา แต่ก็ไม่สามารถบรรยายลงหนังสือเล่มนั้นได้หมด
ผมจึงตั้งใจเขียนหนังสือขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งเป็นเล่มสุดท้ายและเป็น”หนังสือลาตาย”ของจริงที่มีความสมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้ลูกหลานเตรียมไว้แจกเมื่อผมต้องจากโลกนี้ไป ผมตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “มรดกแห่งชีวิต” เพื่อทิ้งไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานตลอดจนผู้ที่มีโอกาสอ่านได้ศึกษาว่า เด็ก ป.4 อย่างผมสู้ชีวิตสร้างตัวขึ้นมาได้อย่างไรจนประสบความสำเร็จเป็นนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ”