วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > เมเจอร์ฯ อัดทุกแผนเร่งฟื้น จบ “โควิด” ลุ้นฝ่าวิกฤตม็อบ

เมเจอร์ฯ อัดทุกแผนเร่งฟื้น จบ “โควิด” ลุ้นฝ่าวิกฤตม็อบ

เหตุการณ์จู่โจมจับกลุ่มการ์ดวีโว่กลางห้างเมเจอร์ รัชโยธิน รวมถึงวิกฤตการเมืองที่ยังร้อนระอุ มีการนัดชุมนุมของกลุ่ม REDEM แบบไร้แกนนำ ที่มีโอกาสลุกลามบานปลาย รวมถึงกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาและนักเรียนเลว กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้หลายธุรกิจเริ่มหวั่นวิตกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่มีสาขาทั่วเมืองและมีกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

ก่อนหน้านี้นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ออกมาตั้งเป้าหมายรายได้และกำไรสุทธิในปี 2564 จะกลับไปใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มีรายได้ 11,141.21 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,170.03 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตลักษณะ V-Shape หลังจากปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปี 2563 ขาดทุนเป็นปีแรกนับตั้งแต่จดทะเบียนบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมา 25 ปี

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมแผนลงทุนในปี 2564 มากถึง 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการผลิตคอนเทนต์ 350-400 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการขยายสาขาในต่างจังหวัดเพิ่มอีก 8 สาขา รวม 24 โรง และสาขาในกัมพูชา อีก 2 สาขา รวม 6 โรง จากปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 172 สาขา คิดเป็นจำนวน 817 โรง และ 185,874 ที่นั่ง แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 47 สาขา 357 โรง 81,388 ที่นั่ง สาขาในต่างจังหวัด 117 สาขา 421 โรง 96,037 ที่นั่ง และสาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง

แน่นอนว่า หากมองข้ามปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปี 2564 ถือเป็นจังหวะก้าวสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 รัฐบาลเตรียมการกระจายการฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง และการผลักดัน “วัคซีนพาสปอร์ต” เพื่อให้ผู้คนกลับออกมาใช้ชีวิตเหมือนปกติมากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งจะกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจ การจับจ่าย การเดินทางและการท่องเที่ยว

ที่สำคัญ หมายถึงโอกาสรุกตลาดรอบด้าน ซึ่งค่ายเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เปิดฉากอัดกลยุทธ์ต่อเนื่องทุกรูปแบบภายใต้มาตรการคุมเข้มความสะอาดและความปลอดภัย เน้น Social Distancing นอกเหนือจากการยกระดับมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้นภายในโรงภาพยนตร์ โดยพยายามสร้างรูปแบบการดูหนังสไตล์ Cinema New Normal

เช่น การงัดโปรเจกต์ “CINEMA IN THE CITY” หรือ Outdoor Cinema เปลี่ยนลานกลางแจ้งของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน เป็นลานดูหนัง ผ่านการฉายภาพยนตร์บนจอ LED ขนาดยักษ์ที่ให้ความคมชัดระดับ 4K และเปิดให้ดูฟรี 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์-10 มีนาคมที่ผ่านมา วันละ 1 รอบ เวลา 18.00 น.

หนังที่นำมาฉาย 14 เรื่อง ได้แก่ Hellboy, Angel Has Fallen, Atomic blonde, The Gentlemen, As it was, I Tonya, The Nice Guys, Kidnap, ไบค์แมน 2, แสงกระสือ, คืนยุติธรรม, ขุนแผน, ดิว และ สุดเขตเสลดเป็ด พร้อมบูธบริการป๊อปคอร์น อาหาร เครื่องดื่ม บูธกิจกรรมต่างๆ ซึ่งลูกค้าตอบรับจำนวนมาก และอาจมีการขยายโปรเจกต์ต่อไป

ขณะเดียวกัน บริษัทเน้นจุดขายเรื่องระบบ Cashless หรือ E-Payment ไม่ว่าจะเป็นการจองและซื้อตั๋วหนังผ่าน Application Major Cineplex ผ่านเว็บไซต์ www.majorcineplex.com หรือการซื้อตั๋วหนังและชำระเงินที่ตู้จำหน่ายตั๋วหนังอัตโนมัติ E-Ticket ซึ่งร่วมกับกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป พัฒนาเทคโนโลยีไร้สัมผัส (Contactless Technology) ผ่านช่องทางจำหน่ายตั๋วหนังผ่านตู้ E-Ticket ช่วยให้ลูกค้าเลือกที่นั่งโดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสหน้าจอของตู้ (Contactless & Touchless) และรับตั๋วคิวอาร์โค้ดในสมาร์ตโฟน ซึ่งเริ่มนำร่องที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน เมื่อปลายปี 2563 และปีนี้ขยายบริการเพิ่มขึ้นในสาขารังสิต สาขาฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต สาขาปิ่นเกล้า และสาขาเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า

ล่าสุด เมเจอร์ฯ ยังจับมือซิปเม็กซ์ (ZIPMEX) แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนําของประเทศไทยและแรพิดซ์ (RAPIDZ) ผู้ให้บริการระบบบริหารการรับแลกสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มโครงการทดลองรับแลกตั๋วหนังด้วยสกุลเงินดิจิทัลรายแรกของไทย ซึ่งเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เป็นโรงภาพยนตร์รายแรกในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ทดลองรับสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี (Crytocurrency) ให้บริการที่ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน เป็นสาขาแรก ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2564 และจะขยายไปสาขาอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ 39 สาขา ภายในสิ้นปีนี้

สำหรับขั้นตอนการใช้สกุลเงินดิจิทัลแลกรับตั๋วหนัง เริ่มจากดาวน์โหลด Application Rapidz แอปพลิเคชันที่สามารถนำสกุลเงินดิจิทัลมาเก็บไว้เพื่อใช้บริการต่างๆ ผ่านระบบของ Rapidz ได้

จากนั้นลูกค้าแลกรับตั๋วหนังที่ตู้จำหน่ายตั๋วหนังอัตโนมัติ E-Ticket โดยกดเลือกภาพยนตร์และตำแหน่งที่นั่งที่ต้องการ เลือกใช้ E-Wallet และเลือก Rapidz

เมื่อเลือกใช้ด้วย Rapidz จะมี QR Code ขึ้นบนหน้าจอ เพื่อให้ลูกค้าสแกนใช้สกุลเงินดิจิทัลแลกตั๋วหนัง กดยืนยันเรียบร้อยแล้ว ตู้จะพิมพ์ E-Ticket นำไปใช้เข้าชมภาพยนตร์ได้ทันที เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000-10,000 คนต่อเดือน

นายนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มการซื้อตั๋วผ่านแอปพลิเคชันเป็น 70-80% เท่าประเทศจีน จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% และต้องการทรานส์ฟอร์มเคาน์เตอร์ขายตั๋วที่ให้บริการโดยพนักงาน เป็นการขายตั๋วผ่านตู้ทั้งหมด หรือลดพนักงานขายลงเป็น 0 ซึ่งเมเจอร์ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยการเปิดสาขาใหม่ในต่างจังหวัดจะเป็นการขายผ่านตู้ทั้งหมด ส่วนสาขาเก่ามีพนักงานขายประจำเคาน์เตอร์เพียง 1-2 คน เช่น สาขาสยามพารากอนและรัชโยธิน

นอกจากนี้ มีแผนปรับแอปพลิเคชันทั้งหมดของเมเจอร์รวมเป็นแอปเดียว ในรูปแบบ “ซูเปอร์แอป” เน้นความสะดวก ใช้งานง่าย ในรูปแบบวันสต็อปเซอร์วิส ทั้งการซื้อตั๋วหนัง ซื้อป๊อปคอร์น และบริการต่างๆ ภายในแอปเดียว ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 2

ไม่ใช่เท่านั้น เมเจอร์ฯได้หันมาใช้กลยุทธ์ราคาเล่นกิมมิกเหมือนกลุ่มออนไลน์ “ลาซาด้า-ช้อปปี้” เช่น การจัดแคมเปญส่งท้ายปี “Major 12.12” วันที่ 12 ธันวาคม ซื้อบัตรชมภาพยนตร์เรื่อง อีเรียมซิ่ง อีหล่าเอ๋ย สีดา และ โดราเอมอน เดอะมูฟวี่ 2020 เพียงที่นั่งละ 12 บาท รอบก่อนเวลา 12.00 น. ทุกสาขาทั่วประเทศ

ฉลองวันที่ 3 เดือน 3 ดูหนัง 33 บาท ทุกรอบ ทุกที่นั่ง ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือจับมือ บลูโอ ริธึม แอนด์ โบว์ล และ ซับซีโร่ ไอซ์สเก็ต คลับ มอบสิทธิพิเศษในวันสตรีสากล 8 มีนาคม “LADY DAY” เปิดให้สตรีทุกช่วงวัย ดูหนัง โยนโบว์ลิ่ง ร้องคาราโอเกะ และเล่นไอซ์สเกตฟรี

นายนรุตม์ยังกล่าวถึงธุรกิจเสริม “ป๊อปคอร์น” ซึ่งถือเป็นสินค้าซิกเนเจอร์ ภายใต้แบรนด์ “POPSTAR” และวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ว่า บริษัทได้ขยายตลาดการวางจำหน่ายออกนอกโรงภาพยนตร์ เข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรดในซูเปอร์มาร์เก็ต 2 แห่ง คือ วิลล่า มาร์เก็ต 34 สาขา และ กูร์เมต์ มาร์เก็ตอีก 14 สาขา รวมทั้งมีแผนขยายช่องทางเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเสริมบริการ “Major Delivery” ที่ลูกค้าสามารถสั่งผ่านแอปพลิเคชันสั่งอาหารออนไลน์ ทั้ง Grab Food, LINE MAN, foodpanda และ GOJEK

ดังนั้น หากประเมินทิศทางธุรกิจโรงภาพยนตร์มีโอกาสฟื้นตัว เนื่องจากมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลายเรื่องเตรียมเข้าฉาย เช่น ก็อดซิลล่าปะทะคอง (Godzilla vs. Kong) แบล็ควิโดว์ (Black Widow) และจะมีภาพยนตร์เรื่องใหม่เข้าฉายมากขึ้น หลังการระบาดในสหรัฐอเมริกาคลี่คลายและเปิดโรงภาพยนตร์

ณ เวลานี้ จึงเหลือเพียงปัจจัยเสี่ยงเดียว นั่นคือ ปมปัญหาการเมืองที่กำลังกลับมาจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่เพราะดูเหมือนเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมยากและอาจถึงขั้นไม่มีใครควบคุมได้ด้วย

ใส่ความเห็น