ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง นับตั้งแต่ชาวโลกได้ทำความรู้จักเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มากว่า 1 ปี แต่ละประเทศมีภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขให้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม พร้อมกับที่ต้องหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อไวรัส
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่นอกจากความพยายามควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดแล้ว ขณะเดียวกันคือการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนในประเทศให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก นับเป็นเป้าหมายสำคัญเพราะนั่นเป็นหนทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับมหภาคอย่างยั่งยืน
แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาหลายโครงการ แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ไทยกำลังประสบอยู่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาอันสั้น
ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคือ วัคซีนถูกกระจายและฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง การเกิดการระบาดระลอกใหม่และแนวทางการรับมือของภาครัฐ รวมไปถึงการประคับประคองเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นเสมือนก้าวที่ 2 ของการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
สาระของกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่ต้องทำคือ การเปลี่ยนผ่านประเทศหรือ การ Transform ประเทศใน 4 ด้านหลัก ได้แก่
การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากรไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้ หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง บนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการพัฒนาต่อยอดและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเพียงบางกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสไปสู่สังคมที่มีโอกาสสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่หรือการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค โดยทุกกลุ่มคนมีโอกาสในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มศักยภาพได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และประเทศมีความเหลื่อมล้ำลดลง ทั้งในเชิงธุรกิจ พื้นที่ รายได้ และความมั่งคั่ง
การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยหรือการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนในสังคมมีรูปแบบการดำรงชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสามารถรับมือและมีภูมิคุ้มกันจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
การเปลี่ยนผ่านจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูงเพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน
หากพิจารณาจากประเด็นหลักของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จะเห็นได้ว่า สภาพัฒน์ มองภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวม รวมไปถึงการต่อยอดไปสู่ภาพใหญ่ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แผนฉบับดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อขจัดความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ พร้อมทั้งความคิดเห็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
นอกจากนี้ ภายใต้องค์ประกอบในแต่ละด้าน จะมีการกำหนดหมุดหมาย ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงสิ่งที่ประเทศไทยปรารถนาจะ “เป็น” มุ่งหวังจะ “มี” หรือต้องการจะ “ขจัด” ในช่วงระยะเวลา 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการพลิกโฉมประเทศสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ไปสู่การปฏิบัติมีทิศทางที่ชัดเจนและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 13 หมุดหมาย
คือ 1. ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปมูลค่าสูง 2. ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน 3. ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน 4. ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5. ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค 6. ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน 7. มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs 8. มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ 9. มุ่งเพิ่มพลวัตการเลื่อนชั้นทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และความมั่งคั่ง 10. ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11. ไทยสามารถปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ 12. ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และ 13. ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่เพิ่งเปิดเผยออกมา น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เมื่อไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด แม้ว่าเวลานี้ไทยจะได้รับวัคซีนเพียง 3 แสนกว่าโดส และบริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะทยอยส่งวัคซีนตามออเดอร์ก็ตาม
แต่นั่นแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐเตรียมพร้อมที่จะเดินหน้าเครื่องจักรทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่แต่ละประเทศเริ่มได้รับวัคซีนโควิด เดือนละ 15-20 ล้านโดส นั่นหมายความว่ามีโอกาสที่ไทยจะเปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว อุตสาหกรรมที่เหมือนเป็นกำลังหลักทางเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มมองเห็นสัญญาณและห้วงเวลาที่ไทยจะเปิดประเทศได้แล้วก็ตาม สิ่งที่ยังน่าเป็นกังวลในเวลานี้คือ ศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวข้อง ว่าจะสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้มากน้อยเพียงใด
เมื่อผู้ประกอบการบางรายอาจกำลังประสบปัญหาหนี้เสีย และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐ
ไม่เช่นนั้นแล้ว หลังการเปิดประเทศอีกครั้งอาจมีผู้ประกอบการไม่น้อยที่จำต้องตกขบวนรถไฟสายเศรษฐกิจนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้