ทันทีที่ล้อของเครื่องบินแอร์บัส A350-900 เที่ยวบินที่ TG 675 ที่เดินทางออกจากปักกิ่งแตะพื้นรันเวย์กรุงเทพ นั่นหมายความว่า “ความหวังเดินทางมาถึง” และการรอคอยด้วยใจจดจ่อสิ้นสุดลงเมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เมื่อวัคซีนล็อตแรกจำนวน 200,000 โดสจากทั้งหมด 2 ล้านโดส ส่งตรงจากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกส่งถึงจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนจากแอสตราเซเนกา จำนวน 117,000 โดส ที่เดินทางมาถึงไทยเช่นกัน
โดยวัคซีนล็อตแรกนี้จะถูกฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน บุคคลที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 โรคเบาหวาน โรคอ้วน กลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า วัคซีนคือกุญแจสำคัญในการปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะนอกจากหน้าที่หลักของวัคซีนคือการลดความรุนแรงและโอกาสการติดเชื้อไวรัสโควิดให้แก่ประชาชนแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นตัวแปรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบ
แม้เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกจะอยู่ในภาวะชะลอตัวก่อนที่โลกจะได้รู้จักกับความร้ายกาจของโควิด-19 แต่เชื้อไวรัสโควิดกลับสร้างรอยช้ำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงหนักกว่าเดิม โดยในปี 2563 ภาพรวมจีดีพีไทยหดตัวลงถึง 6.1 เปอร์เซ็นต์ หลายอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคงหนีไม่พ้นภาคการท่องเที่ยว
การพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างชาติมากเกินไปทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้ล่าช้า เมื่อภาวการณ์ในปัจจุบันทำให้แต่ละประเทศยังคงมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกต่างประเทศของประชาชน อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยว ด้วยการออกมาตรการรณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ภายใต้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่แม้จะเป็นโครงการที่ดีและสร้างให้เกิดรายได้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนในระดับฐานราก แต่กลับมีผู้ฉวยโอกาสสร้างรอยแผลให้แก่โครงการด้วยการโกง ซึ่งนั่นทำให้รัฐบาลสูญเสียเงินไปจำนวนกว่า 100 ล้านบาท แม้จะจับผู้กระทำความผิดได้จำนวนหนึ่งทั้งในจังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดภูเก็ต แต่มีความเป็นไปได้ว่า อาจยังมีผู้กระทำความผิดที่เล็ดลอดจากการตรวจสอบ และไม่ถูกดำเนินคดี
แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะไม่ใช่อุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ไทย ทว่า ในแต่ละปี รายได้จากการท่องเที่ยวถือว่ามีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อย โดยในปี 2562 มีสัดส่วนสูงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หรือคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด
ขณะที่ปี 2563 ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาแทรกแซง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเที่ยวไทยได้ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบในหลายมิติ รายได้ของประเทศลดลง ความเสี่ยงของแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมการบริการ รายได้ภาคครัวเรือนลดลง หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างรอยแผลตั้งแต่เศรษฐกิจระดับล่างถึงระดับบน
ธุรกิจในกลุ่มการท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลง และเปล่าประโยชน์ที่จะฝืนต่อไป เมื่อรายรับสวนทางกับรายจ่าย ในขณะที่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างแรงงาน บางรายตัดสินใจปิดตัวลงชั่วคราวและรอเวลาให้ประเทศพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง จึงจะกลับมาเปิดกิจการ ทว่า บางรายไม่สามารถสู้ดอกเบี้ยธนาคารไหวตัดสินใจขายกิจการต่อให้นายทุนขนาดใหญ่
ความสำเร็จของผู้พัฒนาวัคซีน ไม่ใช่มีเพียงชัยชนะที่มีต่อเชื้อไวรัสร้ายเท่านั้น แต่นั่นหมายถึงการสร้างความหวังให้เกิดขึ้นแต่มวลมนุษยชาติ เสมือนการรอคอยได้สิ้นสุดลง แม้ว่าความเป็นจริงยังคงต้องเฝ้ารอการผลิตวัคซีนและแจกจ่ายให้แก่ประชากรโลก แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างให้เกิดแรงกระตุ้นขึ้นอีกครั้งในระบบเศรษฐกิจ
วัคซีนเป็นเหมือนความหวังของบรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ ต้องยอมรับว่า บางประเทศมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวเท่านั้น ขั้นตอนต่อไปคือภาครัฐต้องผสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภายใน เพื่อมองหาแผนงานที่จะสอดคล้องกัน
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกคำสั่งให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเร่งทำแผนดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/2564
ด้าน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้ทุกสำนักงานต่างประเทศของ ททท. ติดตามและแจ้งข้อมูลความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศต้นทางมาทุก 2 สัปดาห์ รวมถึงแนวทางการเปิดประเทศ ว่าแต่ละประเทศมีนโยบายอย่างไร สำหรับให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศเมื่อใด เพื่อให้ ททท. กำหนดแนวทางการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องตรงตามเป้าหมาย
ข้อมูลจากผู้ว่าการ ททท. ระบุว่า ตลาดจีนเที่ยวไทยให้การตอบรับแพ็กเกจเที่ยวไทยเป็นอย่างดี โดยมีการขายล่วงหน้าไปแล้ว รอเพียงรัฐบาลจีนอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศไทย นอกจากนี้ เป้าหมายนักท่องเที่ยวของไทยในระยะหลังจากนี้ จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย กลุ่มที่พร้อมจะกักตัว เช่น นักท่องเที่ยวเกาหลี ที่มีความต้องการเที่ยวไทย จึงมีการจัดทำ “กอล์ฟ ควอรันทีน” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีจำนวน 41 คน เดินทางมาเล่นกอล์ฟที่สนามกอล์ฟอาทิตยา และท่องเที่ยวระยะยาวในไทยเป็นกลุ่มแรกแล้ว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตได้เปิดรับนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มที่เดินทางมาจากอินโดนีเซีย โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จำนวน 59 คน โดยเข้าพักในลักษณะ Villa Quarantine ที่โรงแรมศรีพันวา
ปัจจุบันวัคซีนเริ่มมีการฉีดให้ประชาชนในหลายประเทศ เมื่อวัคซีนเป็นตัวแปรสำคัญในการเปิดรับนักท่องเที่ยว นี่คงเป็นห้วงยามที่ดี ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องเร่งหารือเพื่อหาแนวทางและนโยบายสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยว
ล่าสุด ศบค. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้ให้แนวทางแก่ สธ. 3 เฟส ได้แก่ 1. ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เป็นรายบุคคลหรือคณะจากประเทศต้นทาง จะเดินทางเข้าไทยได้อย่างไร ในกรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีการฉีดวัคซีน 2. ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทางที่มีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว จะเข้ามาไทยได้อย่างไร ในกรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีการฉีดวัคซีน และ 3. ทั้งประเทศต้นทางและประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว
นอกเหนือไปจากประเด็นของการได้รับวัคซีน ที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องนำมาพิจารณาแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ประกอบด้วย เพราะบางประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่ต่างจากไทยนัก หลายประเทศกำลังซื้อของภาคประชาชนยังอ่อนแอ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อาจมีผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังชะลอการใช้จ่าย ซึ่งนั่นอาจทำให้ ททท. ต้องมุ่งเน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความพร้อมด้านการใช้จ่าย และรอคอยเพียงนโยบายการเปิดประเทศเท่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยคาดว่าจะฟื้นตัว 2.6 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ความเสี่ยงยังขึ้นกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งปัจจัยเรื่องวัคซีนเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งยังมีประเด็นความไม่แน่นอน จากการจัดการ การกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ รวมถึงประสิทธิผลของวัคซีนที่ยังต้องติดตาม
หากประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนที่ไทยได้รับอาจจะไม่พอที่จะทำให้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ได้ในจำนวนที่ประมาณการไว้ (2.0-4.5 ล้านคน) ซึ่งก็จะทำให้ตัวเลข GDP มีแนวโน้มลงไปที่กรอบล่าง (กรอบประมาณการร้อยละ 0.0-4.5) โดยภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังภาระของรัฐบาลที่มากขึ้นในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การมาถึงของวัคซีน ความหวังที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ จะเพียงพอที่จะสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ได้ขับเคลื่อนและสร้างรายได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้หรือไม่ เมื่อกำลังซื้อภายในประเทศเองก็เบาบางลงเช่นกัน