วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > จาก “เราชนะ” ถึง “เรารักกัน” เดิมพัน 3 แสนล้าน ปลุกเศรษฐกิจ

จาก “เราชนะ” ถึง “เรารักกัน” เดิมพัน 3 แสนล้าน ปลุกเศรษฐกิจ

ขณะนี้เริ่มเปิดฉากการลงทะเบียนโครงการ “ม33 เรารักกัน” มาตรการอัดฉีดกำลังซื้อชุดล่าสุดของรัฐบาล หลังลุยสารพัดกลยุทธ์ตั้งแต่โควิดรอบแรกจนถึงระลอกสอง โดยดึงเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้าน ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. พลังงาน ระบุในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรว่า มีการอนุมัติโครงการไปแล้ว 256 โครงการ วงเงินมากถึง 7.5 แสนล้านบาท เหลือเงินก้อนสุดท้ายอีก 2.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่า รัฐบาลพยายามกระจายความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มคนทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อาจเป็นกลุ่มสุดท้าย หลังจากมีเสียงเรียกร้องในฐานะผู้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมทุกเดือน

ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบโครงการ ม33 เรารักกัน โดยจะจ่ายเยียวยาผู้ได้รับสิทธิ์คนละ 4,000 บาท ภายใต้คุณสมบัติต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 สัญชาติไทย ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่ได้รับสิทธิ์โครงการ “เราชนะ” ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งหลังการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์-7 มี.ค. 2564

ขั้นตอนต่อไป รอการคัดกรองระหว่างวันที่ 8-14 มีนาคม 2564 โดยสามารถตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิ ผ่าน www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านช่องทาง Application “เป๋าตัง” ในวันที่ 15-21 มีนาคม 2564

ผู้ประกันตนจะได้รับวงเงินผ่าน Application “เป๋าตัง” ในวันที่ 22, 29 มีนาคม และ 5, 12 เมษายน 2564 ครั้งละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท เริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านร้านค้าในกลุ่มร้านธงฟ้าที่ใช้ Application “ถุงเงิน” หรือภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2564 โดยคาดว่ามีผู้เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา 9.27 ล้านคน ใช้วงเงินรวม 37,100 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มคนที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ซึ่งบางรายระบุเป็นเงินสะสมหลายปี แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเราชนะและโครงการ ม33 เรารักกันนั้น ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่า มีเพียง 1.8 ล้านคน จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 67 ล้านคน และที่ผ่านมารับสิทธิ์โครงการอื่นไปจำนวนมาก ทั้งโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน

ขณะเดียวกัน หากย้อนทบทวนโครงการเยียวยาลดผลกระทบที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกใช้กลยุทธ์แจกเงินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิดรอบแรก เพราะหวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เริ่มจากมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน (เที่ยวปันสุข)” ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว โดยช่วยจ่ายเงินค่าที่พัก 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน และมอบ E-Voucher คืนละ 600 บาท

มาตรการต่อมา เยียวยากลุ่มเปราะบาง ให้เงินช่วยเหลือเดือนละ 1,000 บาท นาน 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 แก่คน 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กยากจน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวม 13 ล้านคน นอกจากนี้ ผู้พิการได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 1,000 บาท จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากสถานการณ์โควิด-19 จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 3,000 บาท

มาตรการที่ 3 โครงการเราไม่ทิ้งกัน แจกเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 ให้แรงงาน-ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com มีผู้ได้รับเงินเยียวยาจากมาตรการนี้รวม 16 ล้านคน

ส่วนพนักงานและลูกจ้างที่ส่งเงินสมทบประกันสังคมได้รับการลดอัตราส่งเงินสมทบ 3 เดือน กลุ่มเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือด้านมาตรการพักหนี้และรับเงินเยียวยา ครอบครัวละ 15,000 บาท

นอกจากนี้ มีมาตรการอื่นๆ เช่น การพักชำระหนี้ชั่วคราว สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คืนเงินประกันและลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ให้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือฟรี 10GB และอัปสปีดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ สำหรับผู้ใช้เน็ตบ้านเป็น 100Mbps ร่วมกับมอบสิทธิ์ให้ผู้ใช้โทรศัพท์ได้โทรฟรีทุกเครือข่าย 100 นาที

ขณะที่ช่วงโควิดระบาดรอบ 2 ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 นั้น รัฐบาลเดิมพันทุ่มเม็ดเงิน โดยขยายโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 เพราะได้รับความนิยมมากและเพิ่มคะแนนเสียงให้รัฐบาลด้วย

ตามด้วยโครงการเราชนะ มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพ จำนวน 7,000 บาท ให้ประชาชนนำไปใช้จ่ายที่ร้านธงฟ้าที่มีเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ร้านถุงเงินธงฟ้า ร้านค้าคนละครึ่ง และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเราชนะได้ รวมทั้งขยายการใช้สิทธิ์หลากหลายมากขึ้น เช่น ใช้กับระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถแท็กซี่ รถตู้โดยสารประจำทาง สามล้อเครื่อง (ตุ๊กตุ๊ก) รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) รถสองแถว รถเมล์ ขสมก. รถทัวร์ บขส. รถไฟฟ้า

บริการในกลุ่มสุขภาพและความงาม เช่น ร้านนวด สปา ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านทำเล็บ คลินิก แพทย์แผนจีน งานก่อสร้างขนาดเล็ก บริการทำสวน ซักรีด ตัดเย็บ ซ่อมรถยนต์/จักรยานยนต์/จักรยาน ซ่อมประปา ไฟฟ้า แอร์ และบริการที่พัก เช่น หอพัก อพาร์ตเมนต์ แฟลต โดยจ่ายผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ไม่จำกัดยอดใช้จ่ายและสามารถสะสมวงเงินได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากกว่า 1 ล้านราย และมีผู้ได้รับสิทธิ์รวมมากกว่า 25 ล้านคน รัฐบาลใช้เม็ดเงินราว 2.1 แสนล้านบาท

สุดท้าย คือ โครงการ “เรารักกัน” ช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 9.27 ล้านคน คนละ 4,000 บาท

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ผู้บริโภคจะยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากจนถึงต้นไตรมาส 2 ซึ่งต้องติดตามการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งโครงการเราชนะ คนละครึ่ง และเรารักกัน รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองจะดีขึ้นหรือแย่ลงหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทั้ง 3 ปัจจัยจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอย่างมาก

เบื้องต้น หอการค้าไทยประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 2.8% และรอติดตามมาตรการต่างๆ โดยคาดการณ์จากเม็ดเงินของ 3 โครงการล่าสุด ได้แก่ โครงการ “เราชนะ” อัดฉีดเม็ดเงินราว 2.1 แสนล้านบาท คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.2% โครงการ “คนละครึ่ง” อัดฉีดเม็ดเงิน 53,000 ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.3% และโครงการ “เรารักกัน” อัดฉีดเม็ดอีกเกือบ 40,000 ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.2%

หากรวมมาตรการทั้งหมดจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.7% และถ้าการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เป็นไปตามแผนจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยในไตรมาส 4 อีก 4-6 ล้านคน จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเติบโต 3.4% อาจจะมีการทบทวนเป้าหมายการเติบโตอีกครั้งในเดือนมีนาคม เนื่องจากจะเห็นการระดมใช้เม็ดเงินของประชาชนจากโครงการ “เราชนะ” และ “เรารักกัน” เต็มเดือน

ที่สำคัญ จะพิสูจน์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเอาชนะวิกฤตโควิดได้หรือไม่

ใส่ความเห็น