นับเป็นฝันร้ายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาดที่กระทบต่อการเติบโตและรายได้การท่องเที่ยวในระดับล้านล้านบาท ตั้งแต่เชื้อไวรัสโควิด-19 อุบัติขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2562 และส่งผลกระทบถึงไทยในทุกภาคอุตสาหกรรม
ช่วงกลางปีที่ผ่านมาสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในไทยเริ่มลดลงจนกระทั่งเป็นศูนย์ ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว รวมไปถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เริ่มหารือถึงมาตรการและความเป็นไปได้ที่ไทยจะเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โดยใช้นโยบาย Travel Bubble
ทว่า ก่อนจะได้คำตอบหรือการอนุมัติจากภาครัฐ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในต่างประเทศเดินทางเข้าสู่ระลอกสอง และหลายประเทศสถานการณ์เลวร้ายลงกว่าการระบาดในครั้งแรก การยึดโยงอยู่กับตลาดต่างชาติจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี การพึ่งพาตนเองจึงเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุดในห้วงยามนี้
รัฐบาลไทยเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นหลายรูปแบบ เพื่อให้เม็ดเงินกระจายลึกลงไปถึงเศรษฐกิจระดับฐานราก ซึ่งครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ภายใต้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 พบว่า มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 6.59 ล้านคน โดยมีผู้ใช้สิทธิ์โรงแรม 3,508,008 สิทธิ์ คิดเป็นมูลค่าห้องพักที่จองทั้งสิ้น 9,543.4 ล้านบาท ขณะที่มีผู้ที่ได้รับคูปองอาหาร 782,568 ราย ยอดใช้จ่ายทั้งหมด 3,002.6 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดใช้จ่ายประชาชน 1,849.4 ล้านบาท รัฐสนับสนุน 1,153.2 ล้านบาท
หลังจากการประกาศใช้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยพอจะมองเห็นทิศทางที่ดีขึ้นแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีการระบาดรุนแรงระลอกสองในไทยว่า ปี 2564 ไทยอาจมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท
การคาดการณ์ คาดหวังไม่ใช่สิ่งผิด แต่สถานการณ์ในประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และเกิดคลัสเตอร์จากหลายกลุ่ม จึงเกิดภาวะฝันค้างอีกครั้งของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว
ภาคเอกชนธุรกิจท่องเที่ยวเสนอให้ภาครัฐเยียวยาด้านต่างๆ ทั้งการช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงาน การตั้งกองทุนช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว การออกซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำ หรือลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าไฟ เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถพยุงตัวเองต่อไปได้จนกระทั่งวัคซีนเริ่มใช้ในวงกว้าง
ล่าสุด พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หารือกับ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ร่วมพิจารณาแนวทางความช่วยเหลือแรงงานภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการให้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานคนละครึ่ง แบ่งเป็นฝ่ายละ 7,500 บาทต่อเดือน ซึ่งการหารือยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนในเวลานี้
แม้ด้านหนึ่งผู้ประกอบการบางกลุ่มจะยังคงรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทว่า ผู้ประกอบการบางรายกลับไม่นิ่งเฉยและรอคอยแต่ความช่วยเหลือ เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันเหมือนเป็นตัวบีบบังคับให้ต้องดิ้นรนพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวต่างปรับตัว เมื่อยังไม่มีคำตอบว่าประเทศไทยจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้เมื่อไหร่ หรือเมื่อไหร่ไทยเที่ยวไทยจะเริ่มกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง
บรรดาโรงแรมและรีสอร์ตจำนวนไม่น้อยที่หันมาเปิดขายอาหารในราคาถูกกว่าปกติที่เคยให้บริการในโรงแรม เป็นทางออกที่ช่วยให้ธุรกิจยังสามารถดูแลพนักงานได้ในห้วงยามนี้ แม้ว่ารายได้ที่กลับมานั้นจะไม่เทียบเท่ากับสถานการณ์ปกติก็ตาม ซึ่งพร้อมให้บริการอาหารทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ (จำหน่ายบริเวณหน้าโรงแรม)
ตัวอย่างที่น่าสนใจของโรงแรมที่ปรับตัวตามสถานการณ์คือ โรงแรมราวินทรา บีช รีสอร์ทแอนด์สปา ในพื้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ที่นำตำนานความอร่อยของปาท่องโก๋มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในช่วงวิกฤต จากเดิมที่หากใครไม่เข้าพักที่โรงแรม คือไม่ได้รับประทาน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงแรมหาช่องทางสร้างรายได้ด้วยการทำปาท่องโก๋แบบกึ่งสำเร็จรูปออกมาจำหน่าย ความนิยมปาท่องโก๋ของโรงแรมแห่งนี้พิสูจน์ได้จากความต้องการสูงถึงวันละ 30,000 ตัว
หรือโรงแรมขนาดเล็กย่านถนนพระอาทิตย์ ที่ยังไม่สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวได้ ตัดสินใจปรับตัวด้วยการเปิดขายอาหารตามสั่งในราคาเริ่มต้น 59 บาท
ด้าน ภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่า ธุรกิจภาคท่องเที่ยวและบริการเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาในประเทศไทยได้ โรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราวหรือบางโรงแรมประกาศปิดกิจการถาวร ในขณะที่โรงแรมระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ ต่างปรับตัวด้วยการนำห้องพักปล่อยเช่าแบบรายเดือน หรือให้เช่าห้องพักเพื่อเป็นสถานกักตัวของรัฐ
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยผลสำรวจจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลอนดอน ระบุว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 10 จุดหมายปลายทางที่ชาวอังกฤษต้องการเดินทางมาเยือนในช่วงฤดูร้อนกลางปี 2564
แน่นอนว่าในเวลานี้ ตลาดไทยเที่ยวไทยดูจะมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวในปี 2564 แต่สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยกลับต้องชะลอตัวอีกครั้งตั้งแต่เดือนแรกของปี จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ศบค. หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต้องประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสถานการณ์ทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยออกเป็น 2 กรณี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของตลาดการท่องเที่ยวที่ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องโควิด ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนธุรกิจและการปรับตัวรองรับกับกรณีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
กรณีที่ 1 การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศสามารถควบคุมได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไม่มีการระบาดระลอกใหม่ หรือพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยว ขณะที่มองว่าการใช้วัคซีนน่าจะเป็นไปตามแผนที่ทางการได้วางไว้ (โดยทางกระทรวงสาธารณสุขวางแผนระยะแรกน่าจะเริ่มได้ในเดือน ก.พ.-เม.ย. 64) ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ หากสถานการณ์ต่างๆ เป็นไปตามที่ประเมินไว้ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีจำนวน 120 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 39 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2563 (แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งคนไทยเที่ยวไทยมีจำนวน 172.7 ล้านคน-ครั้ง) โดยการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 1 ของปีนี้ และน่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่าประมาณ 6.6 แสนล้านบาท
กรณีที่ 2 การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศสามารถควบคุมได้ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 และมองว่าการใช้วัคซีนน่าจะเป็นไปตามแผนที่ทางการได้วางไว้ แต่เนื่องจากการระบาดของโควิดในหลายประเทศทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย ทำให้ตลอดทั้งปีนี้ ความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อในประเทศยังมีอยู่ ซึ่งหากเกิดการระบาดระลอกใหม่หรือพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่อง ในการฟื้นตัวของตลาดไทยเที่ยวไทยในบางช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี แต่เนื่องจากมองว่าระดับการระบาดของโควิดน่าจะไม่รุนแรง จนทำให้ทางการต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดดังเช่นในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศน่าจะเติบโตได้เล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศทั้งปี 2564 นี้น่าจะมีจำนวน 90 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 4.3 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2563 ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่าประมาณ 5.0 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ทั้งนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทางการน่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ แต่เมื่อหลายประเทศยังมีการระบาดของโควิด-19 กอปรกับการใช้วัคซีนยังจำกัด ทำให้ความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยก็ยังมีสูง ดังนั้น มาตรการป้องกันการกลับมาระบาดของโควิดในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังมีความจำเป็นและต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อลดโอกาสที่โรคจะกลับมาระบาดอีกครั้ง อันจะสร้างความสูญเสียต่อภาคการท่องเที่ยวและผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจท่องเที่ยว
แม้ปี 2564 จะยังเป็นปีที่คาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยวได้ยาก แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยวางเป้าหมายไปในปี 2565 แล้ว ด้วยเป้ารายได้ที่สูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ของปี 2562 พร้อมแผนพื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายใต้ชื่อ “ฟีนิกซ์ แพลน” เพื่อปลุกปั้นการท่องเที่ยวให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากได้เผชิญวิกฤตอย่างรุนแรงในปีนี้
ขณะที่แนวทางการทำการตลาดของ ททท. ยังคงเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนจีดีพี และปลุกเศรษฐกิจประเทศให้เข้มแข็งในระดับเดียวกับที่ผ่านมา
การนิ่งเฉยรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ คงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในเวลานี้ เมื่อการปรับตัวไปตามสถานการณ์อาจทำให้กลายเป็นผู้อยู่รอดได้ในช่วงเวลาวิกฤต เพราะท้ายที่สุดแล้วพัฒนาการด้านการแพทย์ย่อมเอาชนะวิกฤตโรคร้ายได้ในที่สุด ผู้ที่อยู่รอดย่อมจะได้เห็นบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้