กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้นตัวนับตั้งแต่สถานการณ์ของผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์ และพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน เป็นกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น ความฝัน ความหวังของผู้คนในหลายแวดวงเริ่มปรากฏแจ่มชัดขึ้น เมื่อเริ่มมองเห็นสัญญาณอันดี จากสถานการณ์การติดเชื้อที่ลดลงภายในประเทศ
ภาครัฐจึงเร่งประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลงลึกในระดับฐานรากมากขึ้น โดยมุ่งหวังให้คนในประเทศช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไป ให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
แม้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจกำลังเดินเครื่องไปข้างหน้าอย่างช้าแต่ก็เป็นสัญญาณที่ดี ทว่า ทุกสิ่งกลับพังครืนลงมาก่อนศักราชใหม่จะเริ่มขึ้น จุดเริ่มต้นการระบาดระลอกใหม่มาจากกลุ่มคนที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ทั้งการลักลอบนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังประเทศไทย โดยไม่ผ่านระบบตรวจคัดกรองโรค รวมไปถึงกลุ่มคนไทยที่เดินทางออกนอกประเทศเพื่อทำกิจกรรมในบ่อนพนันในต่างประเทศ และหลบหนีกลับเข้ามาหลังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบ่อน
ขณะที่คนในประเทศตั้งการ์ดสูง ด้วยความพยายามอย่างสุดกำลังที่จะดึงกราฟผู้ติดเชื้อในประเทศให้เป็นศูนย์ และรอคอยวัคซีนที่เป็นตัวแปรสำคัญในการหยุดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสครั้งนี้
เมื่อการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นและขยายวงกว้างมากกว่าเดิม ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกคำสั่งหยุดดำเนินกิจการ กิจกรรมบางจำพวก เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัส แม้จะส่งผลดีต่อการควบคุมด้านสาธารณสุข แต่กลับส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับฐานราก
รายได้ที่หดตัวอยู่ในช่วงพีคของการระบาดระลอกแรก กำลังกลับสู่สภาพเกือบปกติจากการดำเนินกิจการได้หลังการผ่อนคลายมาตรการในปีที่ผ่านมา แต่การระบาดระลอกใหม่ส่งผลเสียต่อสถานการณ์ทางการเงินหนักกว่าเดิม
เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงจำนวนมาก จีดีพีของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องหลายไตรมาสติดต่อกัน และตัวที่ชี้วัดสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงทางเศรษฐกิจของไทยคือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยที่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น
กระทั่งไตรมาส 3/2563 ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีที่ 86.6 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรก และความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เป็นทุนเดิม
ต้องยอมรับว่าความแข็งแรงด้านสภาพการเงินของครัวเรือนไทยดำเนินไปภายใต้กรอบโครงของการขอใช้สินเชื่อทั้งจากในระบบและนอกระบบ ในขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนบางส่วนค่อยๆ ลดลงไปตามลำดับ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นส่งผลโดยตรงกับสภาพคล่องด้านการเงินของประชากรไทย สถานการณ์ในปัจจุบันกลายเป็นตัวซ้ำเติมปัญหาที่เปราะบางเป็นทุนเดิมให้สาหัสมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่หนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นมาที่ 91.0 เปอร์เซ็นต์ ต่อจีดีพี หรืออาจสูงกว่านั้น หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่ประเมิน และส่งผลทำให้จีดีพีในปี 2564 เติบโตน้อยกว่ากรณีพื้นฐานที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ภาพหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และความเปราะบางของฐานะทางการเงินในภาคครัวเรือนที่เป็นโจทย์รอการแก้ไข ต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิด และการพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่โจทย์เฉพาะหน้าที่สำคัญกว่าคือ การเตรียมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับลูกหนี้ทั้งธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้
แม้ว่าภาครัฐจะใช้ยาหลายขนานด้วยมุ่งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ลึกลงไปในระดับฐานราก ทั้งโครงการที่มีคะแนนนิยมสูงอย่าง “คนละครึ่ง” หรือ “เราเที่ยวด้วยกัน” แต่ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นฟูกลับมาสู่สภาพเดิม
ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก่อน ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฟื้นฟูโดยอาศัยระยะเวลาอันสั้น หรือใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงไม่กี่โครงการ เมื่อไทย ไม่ใช่ประเทศเดียวในขณะนี้ที่ประสบกับภาวะเลวร้ายนี้
นอกจากรัฐบาลใช้มาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว ธนาคารแห่งประเทศยังขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เมื่อเห็นว่าการระบาดระลอกใหม่ของโควิดส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงิน
การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่ลากยาวข้ามมาในปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังรอเวลาฟื้นตัวกลับต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวซ้ำเติมปัญหาความเปราะบางทางการเงิน การขาดสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม และล่าสุด ธปท. ได้ขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 และให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภทตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้
แม้การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 จะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี คาดว่า การขยายเวลาการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินออกไป โดยเลื่อนเวลาการชำระหนี้ ยืดอายุหนี้ให้มีระยะเวลายาวขึ้น รวมถึงการให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องเพิ่มเติม น่าจะช่วยชะลอแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อลงบางส่วน ซึ่งจะมีผลทำให้ภาพรวมสินเชื่อในปีนี้อาจไม่ชะลอตัวลงมาก แม้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ น่าจะสามารถประคองอัตราการเติบโตในกรอบประมาณ 3.0-4.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564 ขณะที่การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้การผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของ ธปท.ที่จะมีผลถึงสิ้นปี และการเร่งจัดการหนี้เสียในเชิงรุก ก็น่าจะช่วยชะลอ NPLs ทำให้สัดส่วน NPLs ทยอยขยับขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 3.53 เปอร์เซ็นต์ ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2564
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จุดที่น่าจับตาสำคัญหลังจากนี้ คือการติดตามจำนวนลูกหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือรอบใหม่ ที่อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นตามแรงกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างไตรมาส 1/2564 และไตรมาส 2/2564 โดยข้อมูลความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนนี้ นอกจากจะเป็นเครื่องชี้ระดับแรงกดดันที่มีต่อปัญหาคุณภาพหนี้ในพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มกลับมานิ่งขึ้นอีกครั้งแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเนื่องมายังแนวทางการตั้งสำรองเพื่อรองรับผลขาดทุนด้วยเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
แม้ว่าตัวเลขสรุปภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะยังไม่สามารถสรุป แต่หลายฝ่ายก็คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะหดตัว แต่น่าจะอยู่ในกรอบประมาณการที่ -6.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ จะเป็นการหดตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าค่อนข้างมาก
นั่นอาจเป็นผลจากการใช้ยากระตุ้นทางเศรษฐกิจของภาครัฐนับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปีวัว ยังต้องคอยเช็กความพร้อมกันต่อไปว่าจะสามารถฟื้นฟูได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อไทยยังต้องเผชิญกับโจทย์อีกหลายด้านที่ต้องแก้ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมานาน ความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยลงในบางด้าน
ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวในปี 2564 นั้นยังต้องฝากความหวังไว้กับประสิทธิผลของวัคซีน ความสามารถในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อประชากรในประเทศ ทั้งกลยุทธ์และนโยบายในแต่ละด้านนั้น คงต้องวางแผนรับมือและดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน
เพราะไม่แน่ว่า ไทยไม่อาจรับมือกับโควิด-19 ระลอกที่สามได้อีก