การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะทวีความหนักหน่วงเพิ่มขึ้น หลังจากที่พบว่ากลไกรัฐมีความบกพร่องในการป้องปรามและป้องกันการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีต้นทางมาจากการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของทั้งแรงงานไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศหลังไปทำงานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และแรงงานต่างชาติที่กลับเข้ามาหนุนนำกลไกเศรษฐกิจแล้ว ล่าสุดยังพบว่าการแพร่ระบาดในลักษณะของการติดเชื้ออย่างเป็นกลุ่มก้อนระลอกใหม่เกิดขึ้นจากการลักลอบเล่นการพนันในบ่อนการพนันผิดกฎหมายในหลายพื้นที่อีกด้วย
ข้อน่าสังเกตว่าด้วยความฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ที่มีสังกัดอยู่ในกลไกรัฐ กลายเป็นคำถามที่รอคอยคำตอบต่อสาธารณชน และก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยถึงความโปร่งใสและความจริงจังในการนำพาประเทศออกจากวิกฤตโรคระบาดที่กำลังกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางในห้วงเวลาปัจจุบัน
เทศกาลแห่งความสุขในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมากลายเป็นช่วงเวลาแห่งความประหวั่นวิตกของคนไทย ที่ติดตามมาด้วยการชะลอการท่องเที่ยวเดินทางและชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมหลากหลาย ที่ส่งผลลบต่อภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เคยคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นจากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้หดตัวลดลงอย่างไม่อาจเลี่ยง ควบคู่กับการติดตามมาตรการของของรัฐว่าจะดำเนินไปในทิศทางแบบใด
นอกจากนี้ การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ยังได้รับการประเมินว่าจะทำให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ได้รับความสูญเสีย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท และความสูญเสียเกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเล อาจมีมูลค่ารวมกัน 13,000 ล้านบาท จากการชะลอการบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในระยะสั้น โดย สมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักในธุรกิจการประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำ โดยปริมาณสัตว์น้ำสดที่ใช้ในธุรกิจการประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำเค็ม มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ของทั้งประเทศ ไม่รวมวัตถุดิบนำเข้า การปิดเมืองตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2563 ถึง 3 มกราคม 2564 จึงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการค้าและการผลิตหมวดนี้ไม่น้อย
ความพยายามของกลไกรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : ศบค. ที่จะเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายของโรคด้วยการจำแนกพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุมและพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด ตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดและจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อในแต่ละพื้นที่มาเป็นเกณฑ์ในการจัดการ ควบคู่กับการหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่ามาตรการ lockdown ที่เชื่อมโยงกับมาตรการเยียวยา สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการจัดการในอีกมิติหนึ่งได้เป็นอย่างดี
การออกประกาศยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดรวม 28 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่สีแดง ติดตามมาด้วยมาตรการกำหนดเวลาปิด-เปิดสถานประกอบการ ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการระบาด ค้นหาและจับกลุ่มผู้มั่วสุมผิดกฎหมาย หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการควบคุมการเดินทางของบุคคลจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด และขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์แทน ให้มีการทำงานจากที่บ้าน work from home ทั่วทั้งพื้นที่ที่ ศบค. กำหนด เร่งตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้รับข้อมูลจากการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยห้วงเวลาดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 06.00 น.
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งนอกจากจะเป็นการคัดกรองแรงงานต่างด้าวที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะแล้ว รูปแบบของการระบาดรอบใหม่ที่น่าจับตามองอยู่ที่การแพร่ระบาดอย่างเป็นกลุ่มก้อน (cluster) ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเริ่มกระจายในหลายพื้นที่ และมีผู้เสียชีวิตโดยไม่สามารถหาความเชื่อมโยงจากศูนย์กลางการระบาดเดิมได้ ทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าจะมีการแพร่กระจายโรคเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมโรค และมาตรการทางสังคมที่เข้มข้นและรวดเร็วจึงมีประสิทธิภาพเพียงพอ
ผลจากมาตรการเชิงรุกที่ ศบค. กำหนดออกมา ทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. มีมติและออกคำสั่งให้ร้านอาหารสามารถรับลูกค้าให้นั่งรับประทานในร้านได้เฉพาะเวลา 06.00-18.59 น ส่วนระยะเวลาที่เหลือตั้งแต่ 19.00-05.59 น. ให้บริการได้เฉพาะการนำกลับไปรับประทานที่บ้าน (take away service) โดยร้านอาหารต้องมีมาตรการเข้มข้น ห้ามดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน เพื่อลดระยะเวลาในการรวมกลุ่มกัน มีการคัดกรองผู้ใช้บริการ เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร โดยร้านอาหารหาบเร่แผงลอยและสตรีทฟู้ด ที่อยู่ในพื้นที่ผ่อนผัน ต้องปฏิบัติตามกฎนี้ด้วย
ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาหากใช้มาตรการควบคุมสูงสุดด้วยการห้ามนั่งรับประทานในร้าน และให้ร้านอาหารบริการซื้อกลับบ้านได้เพียงอย่างเดียว พร้อมกับประเมินว่ามาตรการที่ กทม. ประกาศออกมาทำร้านอาหารสูญรายได้ไปแล้ว 7 หมื่นล้านบาท จาก 1 แสนล้านบาท เหลือ 3 หมื่นล้านในไตรมาสแรกของปีนี้
การเรียกร้องให้รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารทั้งหมด ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่าธุรกิจร้านอาหารพร้อมปิดการให้บริการ เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่มีอยู่ในขณะที่รายรับลดลงอย่างมาก ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ร้านอาหารเป็นธุรกิจ SMEs และ MICRO SMEs ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจ 4 แสนล้านบาทต่อปี การประกาศของ กทม. ว่าด้วยมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร โดยจะต้องซื้อกลับเท่านั้น จะทำให้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารไทยหายไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวยังจะทำให้มีผลกระทบเป็นห่วงลูกโซ่ ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อการจ้างงาน เพราะหลังจากร้านอาหารกลับมาเปิดธุรกิจ ได้มีการว่าจ้างแรงงานกลับเข้าระบบได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งประกาศของ กทม. จะมีผลกระทบต่อการจ้างงานอีกครั้ง ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบต่อสินค้าเกษตร เพราะร้านอาหารต้องใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรกรจำนวนมหาศาล ซึ่งจะต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง อาจมีผลทำให้รายได้ของภาคเกษตรกรลดลงเช่นกัน และยังมีประเด็นว่าด้วยการจัดเก็บภาษี, VAT และเงินประกันสังคม ของภาครัฐ ที่จะหายไปอีกครั้ง
ข้อเท็จจริงที่เผชิญอยู่เบื้องหน้าและเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการร้านอาหาร ทำให้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าได้รับข้อมูลนำเสนอถึงผลกระทบที่สูงมากจากผู้ประกอบการ จึงสั่งการให้ยกเลิกคำสั่งของ กทม. ว่าด้วยเรื่องการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารดังกล่าวออกไปก่อน โดยให้ปรับเปลี่ยนเวลาเป็นนั่งรับประทานในร้านได้ตั้งแต่ 06.00-21.00 น. ส่วนหลังจาก 21.00-06.00 น. ให้เป็นการบริการนำกลับ (take away) ไปรับประทานแทน
ความเป็นไปของการยกเลิกคำสั่ง กทม. โดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ทิศทาง และการประเมินผลได้ผลเสียของมาตรการที่กลไกรัฐดำเนินการ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือได้ชี้ให้เห็นถึงมิติของการขาดบูรณาการภายในของกลไกรัฐที่จะขับเคลื่อนนโยบายและแผนในการรองรับกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ แม้ว่าก่อนหน้านี้ ศบค. จะพยายามระบุว่ามาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ในแต่ละพื้นที่จังหวัดให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการและคณะกรรมการของแต่ละจังหวัดในการกำหนดมาตรการเพิ่มเติม แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เบื้องต้นขั้นต่ำที่ ศบค. ได้กำหนดก็ตาม
ความยากลำบากของประชาชนคนไทยและผู้ประกอบการร้านค้าจำนวนมากในห้วงยามที่ COVID-19 ยังแพร่ระบาดอยู่เช่นนี้ นอกจากจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส และความหนักหน่วงจากภาระทางเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองหนักขึ้นทุกขณะแล้ว สิ่งที่น่ากังวลใจที่สุดอาจอยู่ที่การมีกลไกรัฐที่ไม่สามารถเอื้อให้เกิดประโยชน์สุขแก่สาธารณชนซึ่งเป็นผู้จ่ายภาษีอากรและเป็นจักรกลในการขับเคลื่อนสังคมอย่างที่ควรจะเป็นได้