วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ศึก 1 แถม 1 สู้ “คนละครึ่ง” ยักษ์ค้าปลีกอัดโปรถี่ยิบ

ศึก 1 แถม 1 สู้ “คนละครึ่ง” ยักษ์ค้าปลีกอัดโปรถี่ยิบ

สงครามค้าปลีก “คนละครึ่ง” เปิดฉากดุเดือดอีกครั้งและแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะบรรดายักษ์ค้าปลีกและเครือข่ายร้านอาหารแบรนด์ดังต่างอัดโปรโมชั่น “1 แถม 1” ถี่ยิบ เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อแข่งขันกับกลุ่มร้านโชวห่วยและสตรีทฟู้ดที่เข้าโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2564 หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จนส่งผลกระทบซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนไทย

แน่นอนว่า โครงการคนละครึ่งของรัฐบาล ซึ่งให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนในการซื้อสินค้า โดยภาครัฐช่วยจ่าย 50% ในวงเงิน 3,000 บาทต่อคนในเฟสแรก และเพิ่มเป็น 3,500 บาทต่อคนในเฟส 2 วันละไม่เกิน 150 บาทต่อคน กลายเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สามารถลดค่าใช้จ่ายแบบเห็นชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการที่ผ่านมา จนกลายเป็นกลยุทธ์ชนะใจชาวบ้านในทุกโพลล์ของทุกสำนัก

อย่างโพลล์ RIDC ของศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อผลงานของรัฐบาลประจำปี 2563 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การถดถอยของเศรษฐกิจและเหตุการณ์อื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จำนวน 4,121 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21-25 ธันวาคม 2563 พบว่า ประชาชนร้อยละ 62.11% พอใจภาพรวมผลงานและการทำงานของรัฐบาล โดยผลงานที่ชื่นชอบมากที่สุด คือ โครงการคนละครึ่ง สัดส่วนผู้เห็นด้วย 36.55%

รองลงมา ได้แก่ โครงการประกันราคาพืชผลการเกษตรและประกันรายได้เกษตรกร 35.13% โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 34.67% โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” 34.11% โครงการแก้ไขปัญหาโรคระบาดสุกรและโรคระบาดพืช 33.95% การแก้ไขปัญหา COVID-19 28.17%

ส่วนโครงการ “ช็อปดีมีคืน” ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่มีผู้ชื่นชอบตามมาเป็นอันดับ 7 อยู่ที่ 22.35%

ขณะเดียวกัน โครงการคนละครึ่งเฟสแรกที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 1.1 ล้านร้านค้า จำนวนผู้ใช้สิทธิ์แล้วประมาณ 9,565,644 คน มียอดการใช้จ่ายสะสมเกือบ 50,000 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา ชลบุรี เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี

ล่าสุด กระทรวงการคลังยังเตรียมการลงทะเบียนรอบใหม่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 จากการเก็บตกผู้ไม่ผ่านเกณฑ์และผู้ที่ไม่ได้ใช้จ่ายภายในเวลาที่กำหนดในเฟส 2 ซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่า 5 แสนสิทธิ์

สิ่งที่สะท้อนสงครามการแข่งขัน คือ การอัดโปรโมชั่น 1 แถม 1 และการออกแคมเปญตัดราคาเกือบครึ่งหนึ่งของเหล่าห้างค้าปลีกรายใหญ่ ทั้งกลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาหารสด ผักผลไม้ ไปจนถึงกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งถือเป็นจุดขายแตกต่างจากร้านโชวห่วยทั่วไป และแถมพ่วงคูปองส่วนลดเงินสด เมื่อซื้อครบตามเงื่อนไขเพื่อดึงดูดมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ “เทสโก้ โลตัส” ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ภายใต้ร่มเงาเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ประกาศขยายแคมเปญราคามหาชนเฟส 2 ยาวจนถึงเดือนมกราคม 2564 หลังทุ่มงบกว่า 1,000 ล้านบาท เปิดตัวเฟสแรกระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ประมาณ 1,000 รายการ สูงสุด 50% และตัดราคาอาหารพร้อมรับประทานในศูนย์อาหารเหลือ 25 บาทต่อเมนู

วรวรรณ เพียรลิขิตวงศ์ ประธานกรรมการฝ่ายการตลาด เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า จากการสำรวจโดย นีลเส็น ประเทศไทย พบผู้บริโภคไทยในเวลานี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่ม Constrained Consumers หรือผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 เช่น ตกงาน ถูกลดเงินเดือน หรือรายได้ส่วนอื่นหายไป มีสัดส่วนสูงถึง 58% ของประชากรที่สำรวจ

ที่เหลือ 42% คือ กลุ่ม Insulated Consumers หรือผู้บริโภคที่มีเกราะกำบังค่อนข้างดี ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์และยังมีรายได้เข้ามาเหมือนเดิม

สำหรับกลุ่ม Constrained Consumers ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ มีการเปลี่ยนมาซื้อสินค้าที่จำเป็นต้องใช้และซื้อในปริมาณมาก แต่ความถี่ในการซื้อลดลง เน้นราคาและความคุ้มค่ามากกว่าเดิม ซึ่งทำให้เทสโก้ โลตัส ต้องเพิ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มสินค้าจำเป็นต้องใช้กว่า 1,000 รายการ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค นมผง ผ้าอ้อมเด็ก อาหารสด อาหารพร้อมรับประทาน และเมนูศูนย์อาหาร 25 บาท โดยยืดระยะเวลาและลดราคาสูงสุด 50%

เช่นเดียวกับเครือเซ็นทรัล ทั้งเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ ท็อปส์ และแฟมิลี่มาร์ท อัดโปรโมชั่นทั้ง 1 แถม 1 โปรโมชั่นล็อกราคาสินค้า กลุ่มเบสท์ดีล กลุ่มเรดฮอต เพิ่มสิทธิพิเศษซื้อ 2 แถมอีก 1 แจกคูปองเงินสด และสามารถใช้พอยต์เดอะวันการ์ดแลกส่วนลดเพิ่มเติมได้

ด้านกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ซึ่งค่ายเซเว่นอีเลฟเว่นของบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดหนักต่อเนื่อง ทั้งโปรโมชั่นลดอย่างแรง 7 วัน สินค้า 1 แถม 1 สินค้าซื้อ 2 แถม 1 ซื้อคู่ถูกกว่า โปรโมชั่นซื้อบุฟเฟต์ให้ลูกค้าเหมาซื้อหลายรายการในราคาถูก และปรับเปลี่ยนสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น สะสมแสตมป์เป็นส่วนลดเงินสด หรือแลกสินค้าพรีเมียม สินค้าราคาสมาชิก

นอกจากนี้ กระตุ้นการใช้บริการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “ทรูมันนี่ วอลเล็ต” เพื่อลดสัมผัส ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ โดยแจกแต้มสะสมเพิ่มสองเท่าและคูปองส่วนลดเงินสด เมื่อใช้บริการเดลิเวอรี่และจ่ายผ่านทรูมันนี่วอลเล็ต ครบ 3 หรือ 5 ครั้ง จะได้รับคูปองส่วนลดตั้งแต่ 15-50 บาท สำหรับการสั่งซื้อในครั้งต่อไป

เซเว่นอีเลฟเว่นยังเปิดเกมรุกส่งหนังโฆษณาชุดใหม่ “ฝากไว้กับฉันนะ ภาระของเธอ ไม่ต้องรอเข้าแอปเลย” โปรโมตบริการเดลิเวอรี่ส่งฟรีถึงบ้าน ซึ่งถือเป็นจุดขายใหม่รับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และกำลังแข่งขันกันอย่างรุนแรงในกลุ่มยักษ์ค้าปลีกทุกราย

ทว่า หากเปรียบเทียบกันในกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์ ต้องยอมรับว่า เซเว่นอีเลฟเว่นมีข้อได้เปรียบในแง่เครือข่ายสาขามากกว่า 10,000 แห่ง ผุดอยู่ในทุกชุมชนทั่วประเทศและใช้เวลาส่งสินค้าเพียง 20-30 นาที

แม้ค่ายแฟมิลี่มาร์ทเริ่มงัดกลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์ครั้งแรก โดยใช้คู่รักคนดัง หมาก-ปริญ สุภารัตน์ และ คิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัส ถ่ายทอดความเป็นครอบครัวแฟมิลี่มาร์ทยุคใหม่ รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับการซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อในทุกช่วงเวลาตลอด 24 ชั่วโมง และเปิดบริการส่งฟรีรับสถานการณ์ที่กลุ่มผู้บริโภคต้องกลับมา Work from home อีกครั้ง แต่จำนวนสาขาที่มีเพียง 966 แห่ง ยังไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่เท่ายักษ์ใหญ่เจ้าแรก

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดถือเป็นกลยุทธ์แก้เกมทวงคืนยอดขาย โดยเฉพาะการทุ่มโปรโมชั่นจนราคาสินค้าไม่แตกต่างกันหลังใช้สิทธิ์คนละครึ่ง และไม่มีข้อครหาเรื่องการบวกราคาเกินจริง เพราะดูเหมือนว่า ผู้บริโภคต่างได้บทเรียนจากการใช้สิทธิ์เฟสแรกและจะตัดสินใจเลือกมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่สนใจป้าย “คนละครึ่ง” ดึงดูดเท่านั้น

 

ใส่ความเห็น