วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > “คนละครึ่ง” โครงการจากรัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจลึกถึงฐานราก

“คนละครึ่ง” โครงการจากรัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจลึกถึงฐานราก

ต้องยอมรับว่าปีพุทธศักราช 2563 ประเทศไทยเผชิญวิกฤตรอบด้านในหลายมิติ โดยมีสาเหตุหลักจากเชื้อไวรัสโควิดที่อุบัติขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว และแพร่ระบาดหนักในช่วงไตรมาสแรกของปี ส่งผลกระทบเลวร้ายและรุนแรงกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างสึนามิ

มหันตภัยโรคโควิด-19 ขยายวงการทำลายล้างไปในทุกวงการ ทุกภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลของแต่ละประเทศที่ประสบกับวิกฤตครั้งนี้ ต่างระดมสรรพกำลังและสมองเพื่อแก้ไขปัญหาที่ตามมาอย่างต่อเนื่องดุจระลอกคลื่น และสร้างยุทธวิธีฝ่าวงล้อมของศัตรูตัวฉกาจนี้ไปให้ได้ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่ถูกแช่แข็งไปในช่วงเวลาหนึ่ง

เป็นที่ทราบกันดีว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ง่ายเลยที่จะเอาชนะ ในด้านเชื้อไวรัสโควิด การยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส นั่นหมายถึงการมีวัคซีนที่พร้อมสำหรับประชากรโลก แม้ว่าปัจจุบันวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเริ่มฉีดแล้ว แต่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในบางประเทศ ขณะที่ประเทศไทยอาจต้องใช้เวลารออย่างเร็วภายในปีหน้ากว่าจะได้รับวัคซีน

ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยพึ่งพาตลาดต่างชาติในหลายอุตสาหกรรม ทั้งการส่งออก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การลงทุน นี่อาจเป็นโอกาสเหมาะสำหรับภาครัฐที่จะหันกลับมามองตัวเองและรังสรรค์นโยบายที่เหมาะสมที่สุดในห้วงยามนี้ ด้วยโครงการที่ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากประชากรในประเทศ

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลายแคมเปญ ทั้งโครงการ ชิม ช้อป ใช้ โครงการช้อปดีมีคืน ที่เชิญชวนประชาชนให้ออกมาใช้จ่าย และยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ทว่าโครงการดังกล่าวดูเหมือนจะจำกัดวงอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ในระดับที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ส่วนบุคคล

ในขณะที่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการล่าสุดอย่าง “คนละครึ่ง” ที่มุ่งเน้นไปเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤตโควิดโดยเฉพาะ และมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ประชาชนระดับกลางถึงล่าง

โครงการคนละครึ่ง ภาครัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการ ภายใต้วงเงินอุดหนุน 30,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563

โครงการที่กล่าวมาข้างต้น เป็นโครงการที่ภาครัฐนำออกมาใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศในทุกระดับ ทว่า โครงการคนละครึ่ง ดูจะเป็นโครงการที่เสียงส่วนใหญ่ให้ความนิยม นั่นเพราะสิทธิ์ของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ในกลุ่มผู้ขาย จะต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่อยู่ตามชุมชน ตลาดนัด แผงลอย หาบเร่ เงื่อนไขข้อนี้เป็นเสมือนหัวใจหลักที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในแง่ความนิยม ประชาชนระดับกลางถึงล่าง สามารถเข้าถึงและใช้สิทธิ์ได้จริง แม้ในช่วงแรกของโครงการเฟสแรกจะยังมีประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการ รวมถึงไม่แน่ใจถึงข้อดีที่จะได้รับ

การตลาดแบบปากต่อปาก ในแง่ความคุ้มค่าสำหรับผู้บริโภค สร้างให้เกิดความนิยมในโครงการเพิ่มขึ้น กระทั่งเฟสแรกมีประชาชนทยอยลงทะเบียนใช้สิทธิ์จนครบเต็มจำนวน

หลังจากที่กระทรวงการคลังเปิดให้ประชาชนใช้จ่ายมาตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2563 มียอดใช้จ่ายรวมกว่า 42,044 ล้านบาท และมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 968,000 ร้านค้า

แม้ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกติติง และมีกระแสด้านลบมากมายจากฝ่ายตรงข้ามขั้วการเมือง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โครงการคนละครึ่ง เป็นโครงการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ประชาชน

โดยกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา จากผลสำรวจของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นของภาครัฐ พบว่า “โครงการคนละครึ่ง” ได้รับความนิยมเข้าร่วมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50.18 ตามด้วย ชิม ช้อป ใช้ ร้อยละ 45.30 เราเที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 21.06 และช้อปดีมีคืน ร้อยละ 7.70

ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเห็นว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายร้อยละ 39.63 สอดคล้องกับความต้องการร้อยละ 22.81 สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริง ร้อยละ 22.66 และเห็นว่าใช้สะดวกร้อยละ 14.90

สำหรับโครงการที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง สูงถึงร้อยละ 47.95 ชิม ช้อป ใช้ ร้อยละ 25.82 เพิ่มวันหยุดยาว ร้อยละ 19.04 เราเที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 4.70 และช้อปดีมีคืน ร้อยละ 2.49

ความนิยมและกระแสตื่นตัวจากผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้บริโภค ส่งผลให้กระทรวงการคลังประกาศเปิดโครงการคนละครึ่งเฟสสองในวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา อีก 5 ล้านสิทธิ์ ซึ่งจะได้วงเงินใช้จ่าย 3,500 บาทต่อคนต่อวัน ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2563 ขณะที่ผู้ได้สิทธิ์ในเฟสแรกจะได้วงเงินเพิ่ม 500 บาทเท่ากับโครงการเฟสสอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะสร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบจำนวนหนึ่ง และฟันเฟืองในระดับล่างสุดจะสามารถขับเคลื่อนไปได้ดี ทว่า ยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งอาศัยช่องโหว่ของโครงการกระทำเรื่องทุจริต กระทั่งผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยุทธศักดิ์ สุภสร ออกมาให้ข่าวว่า มีการตรวจสอบข่าวการทุจริตโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และพบว่า มีผู้ประกอบการที่เข้าข่ายส่อทุจริตรวมจำนวนกว่า 500 แห่ง ประกอบไปด้วย โรงแรม 312 แห่ง จากจำนวนโรงแรมเข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 8,000 แห่ง และร้านค้า 200 ร้าน จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 60,000 ร้านค้า

ซึ่งกลโกงของโรงแรมและร้านค้าคือ 1. จองห้องพักในโรงแรมราคาถูกแต่ไม่ได้เข้าพักจริง เพื่อขอรับคูปองอาหารมูลค่า 900 บาท สำหรับวันธรรมดา และมูลค่า 600 บาทในวันสุดสัปดาห์ 2. โรงแรมปรับขึ้นราคาห้องพักและรู้เห็นเป็นใจกับผู้เข้าพัก รวมทั้งมีการซื้อขายสิทธิ์โดยไม่มีการเดินทางจริง 3. โรงแรมยังไม่ได้กลับมาเปิดให้บริการ แต่มีการขายห้องพัก 4. ใช้ส่วนต่างของคูปองเต็มมูลค่าเงินเพื่อรับส่วนต่างเต็มจำนวน 5. เข้าพักจริงเป็นกรุ๊ปเหมา ตั้งราคาสูงเพื่อรับเงินทอน (ส่วนใหญ่จองตรงกับโรงแรม) 6. อัตราการจองห้องพักเกินจำนวนห้องพักที่มีอยู่เพื่ออัปเกรดให้ลูกค้าไปพักในโรงแรมอื่นเพื่อกินส่วนต่าง และ 7. ส่งผลให้การจองเพิ่มขึ้นจาก 14,000 ห้องต่อวัน พุ่งเป็นประมาณ 54,000 ห้องต่อวัน
โดย ททท. จะดำเนินการทางคดีในประเด็นต้องสงสัย 3 กรณี 1. กรณีนักท่องเที่ยวจองแล้ว เข้าพักแล้ว และจ่ายเงินแล้วโดยจะทำการตรวจสอบย้อนหลัง 2. กรณีนักท่องเที่ยวจองแล้ว จ่ายเงินแล้วแต่ยังไม่ได้เข้าพัก จะระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน และ 3. กรณีจองแล้วยังไม่ได้จ่ายเงิน และยังไม่ได้เข้าพัก ต้องตรวจสอบ

ซึ่งหากพบว่ามีการทุจริต ททท. จะขึ้นแบล็กลิสต์และตัดสิทธิ์ไม่ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าร่วมมาตรการรัฐทั้งหมดทุกโครงการในอนาคต และเรียกเงินคืนให้รัฐ พร้อมทั้งดำเนินคดีด้านกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา และลงโทษขั้นสูงสุด เนื่องจากถือเป็นการทุจริตเงินรัฐ นอกจากนั้น จะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการที่ทุจริตทั้งหมดผ่านหน้าสื่อในทุกช่องทางอีกด้วย

ล่าสุด ททท. เสนอให้เลื่อนการใช้สิทธิ์เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ เดิมจะเปิดลงทะเบียนในวันที่ 16 ธันวาคม เพื่อหาทางปิดช่องโหว่ของโครงการ
สิ่งที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลการทุจริตเป็นเพียงเคสที่เกิดขึ้นในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในโครงการคนละครึ่ง ก็มีการทุจริตไม่ต่างกัน หากแต่ด้วยจำนวนเงินที่ถูกกำหนดให้สามารถใช้จ่ายได้ในแต่ละวันเป็นจำนวนไม่มาก จึงไม่เป็นข่าว
สนค. คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐดังกล่าว จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังการซื้อ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีรายได้ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและประชาชนให้สามารถเข้าถึงและใช้ระบบดิจิทัลในการซื้อขายสินค้าได้เป็นอย่างดี

ความพยายามของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง อาจจะต้องถูกทดสอบประสิทธิภาพว่า นโยบายดังกล่าวมีช่องโหว่มากพอให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่ รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการแก้ไขไม่ให้มีรอยรั่วในโครงการที่สร้างประโยชน์ให้คนในชาติ และเร่งดำเนินคดีกับผู้ที่ทุจริตในโครงการอย่างจริงจัง

ใส่ความเห็น