วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > เวิลด์แก๊สแตกไลน์ ดัน “วันเดอร์ฟู้ด” เข้าตลาดหุ้น

เวิลด์แก๊สแตกไลน์ ดัน “วันเดอร์ฟู้ด” เข้าตลาดหุ้น

“เวิลด์แก๊ส” เปิดยุทธศาสตร์แตกไลน์ธุรกิจร้านอาหารแนวสตรีทฟู้ดระดับพรีเมียม โดยประเดิมโปรเจกต์แรกจับมือกับบริษัท วันเดอร์ฟู้ด อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ของเชฟมิชลินสตาร์ “แอนดี้ ยังเอกสกุล” และมองข้ามช็อตต่อยอดขยายเครือข่ายสาขาแฟรนไชส์ ธุรกิจเครื่องปรุงรสและอาหารกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งหมายถึงการขยายฐานรายได้ใหม่ และยังเป็นการเพิ่มลูกค้าก๊าซกลุ่มร้านอาหารแบบดับเบิ้ลด้วย

ทั้งนี้ หากดูโครงสร้างรายได้ของบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้แบรนด์เวิลด์แก๊ส เมื่อปี 2562 อันดับ 1 มาจากโรงบรรจุก๊าซ 6,376 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 44.83% ตามด้วยสถานีบริการก๊าซ 3,337 ล้านบาท สัดส่วน 24.29% กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม 1,378 ล้านบาท สัดส่วน 9.39%

กลุ่มลูกค้าพาณิชย์ 842 ล้านบาท สัดส่วน 5.32% ร้านค้าก๊าซ 609 ล้านบาท สัดส่วน 4.15% ที่เหลือเป็นซัปพลายเซลและอื่นๆ อีก 1,585 ล้านบาท หรือประมาณ 12%

ดังนั้น การเพิ่มเครือข่ายร้านอาหารย่อมหมายถึงการเร่งปริมาณการใช้ในกลุ่มโรงบรรจุก๊าซ ซึ่งจะส่งต่อไปกลุ่มลูกค้าพาณิชย์และร้านค้าก๊าซ ขณะเดียวกัน ธุรกิจร้านอาหารแนวสตรีทฟูดมีศักยภาพเติบโต ทั้งในแง่การเจาะตลาด ช่องทาง ผู้ร่วมลงทุนและกลุ่มผู้บริโภค

ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP เปิดเผยว่า ตลอด 40 ปีในการดำเนินธุรกิจ เวิลด์แก๊สผ่านความรู้และประสบการณ์อันยาวนาน บริษัทพยายามมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทั้งด้านสินค้า บริการ รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะการต่อยอดจากธุรกิจก๊าซแอลพีจี ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบัน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซแอลพีจี ขยายโอกาสมาสู่การทำธุรกิจอื่นๆ อย่างธุรกิจอาหารถือเป็นการสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ๆ และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งการจับมือกับวันเดอร์ฟู้ดคาดว่าจะสามารถสร้างผลกำไรปีละกว่า 10% ของกำไรรวมและสร้างการเติบโตเป็น 40% ภายใน 5 ปีหรือภายในปี 2568

เบื้องต้นตามแผนเฟสแรกในปี 2563 บริษัทใช้เงินลงทุน 40 ล้านบาท สร้าง 4 แบรนด์ร้านอาหารในเครือวันเดอร์ฟู้ด ได้แก่ แบรนด์ระดับมิชลินสตาร์ “Table38” ที่นำเสนอประสบการณ์สุดล้ำของเมนูสตรีทฟู้ดไทยสไตล์เชฟแอนดี้และเปิดดำเนินการที่ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่แล้ว

แบรนด์ที่ 2 เป็นร้านอาหารอีสานสไตล์ฟิวชั่น “Pi Kun (ปีกุน)” นำเสนอเมนูอาหารอีสานรับประทานง่ายในรูปแบบของทาปาสพอดีคำในสไตล์สแปนิช

แบรนด์ที่ 3 ร้านอาหารสตรีทฟู้ด “ผัดไทยไฟทะลุ” รสชาติจัดจ้าน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส และแบรนด์สุดท้าย “Hungry Rabbit” ข้าวซอยเพื่อสุขภาพกับรสชาติอร่อยแบบเข้มข้น โดยบริษัทจะเปิดร้านแฟลกชิปใจกลางเมืองแห่งแรกที่สยามสแควร์ในเดือนมกราคมนี้ หลังได้รับการตอบรับที่ดีจากการเปิดร้านผัดไทยไฟทะลุ ในเครือวันเดอร์ฟู้ดแห่งแรกที่ไทย เทสต์ ฮับ มหานคร คิวบ์ และเตรียมเปิดตัวเมนูใหม่ “เส้นใหญ่สะท้านฟ้า” ผัดซีอิ๊วด้วย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลัก บริษัทต้องการเจาะคนรุ่นใหม่ระดับกลางขึ้นไปที่ชื่นชอบในการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปรุงด้วยวัตถุดิบที่สดใหม่และกรรมวิธีที่มีคุณภาพ จากฝีมือของเชฟมิชลินสตาร์ ในราคาที่สมเหตุสมผล

ขณะเดียวกัน วันเดอร์ฟู้ดยังวางแผนรองรับธุรกิจเดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยจะเปิดสาขารองรับธุรกิจเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ และเตรียมงบประมาณอีก 50 ล้านบาท ต่อยอดธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นๆ หลังจากแบรนด์ติดตลาดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการรับจัดเลี้ยง ธุรกิจการผลิตและส่งวัตถุดิบ รวมถึงอาหารสำเร็จรูปให้กับกลุ่มลูกค้าองค์กร เช่น โรงแรมและสายการบิน รวมถึงการเปิดแฟรนไชส์ของธุรกิจแต่ละแบรนด์ในเครือไปยังต่างจังหวัดและต่างประเทศ

“เรากำลังศึกษาการทำตลาดในจีนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ จะดำเนินการหลังจากประสบความสำเร็จในจีนแล้ว และในอนาคต หากวันเดอร์ฟู้ด มีกำไรตามเป้าหมาย บริษัทจะผลักดันบริษัท วันเดอร์ฟู้ด อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินมาขยายธุรกิจกว้างขวางมากขึ้น”

ส่วนแผนการขยายธุรกิจในปี 2564 บริษัทตั้งงบลงทุนในส่วนการขยายศูนย์กระจายสินค้ารองรับความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้น 450-550 ล้านบาท และงบขยายสาขาในธุรกิจร้านอาหาร 50-60 ล้านบาท ไม่รวมกับงบลงทุน หากมีความจำเป็นต้องซื้อหรือควบรวมกิจการใหม่ๆ

แน่นอนว่า ในยุคที่สตรีทฟู้ดกำลังมาแรงและธุรกิจร้านอาหารกลายเป็นคำตอบของการแตกไลน์ ไม่ใช่เฉพาะเวิลด์แก๊สเท่านั้น แต่สำหรับผู้เล่นใหม่ การบรรลุเป้าหมายถือเป็นเกมและโจทย์ที่ท้าทายฝีมือสุดๆ

จากปิคนิคสู่ WP
หุ้นใหญ่ตระกูลดัง

แม้ตามสารบบทางการ ชื่อ “ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่” อยู่ในวงการธุรกิจเพียงไม่กี่ปี แต่มีต้นตอยาวนานและเรื่องราวเกี่ยวข้องกับกลุ่มตระกูลใหญ่ทั้งสิ้น

ดับเบิลพี เอ็นเนอร์ยี่ เกิดขึ้นจากการควบระหว่างบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (WG) กับ บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI โดยกลุ่ม 4 ตระกูลใหญ่ คือ พุ่มพันธ์ม่วง ศรีวัฒนประภา วิไลลักษณ์ และเจียรวนนท์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ WG ลงขันกันกว่า 1,700 ล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI เมื่อปี 2557 ซึ่งขณะนั้นอยู่ในฟื้นฟูกิจการและหาผู้ร่วมทุนใหม่

หลังจากควบรวมและเคลียร์ปัญหาต่างๆ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP และจดทะเบียนเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 มี ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง บุตรสาว พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นั่งแท่นบริหาร จนล่าสุดดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

WP ประกอบธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวิลด์แก๊ส” ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำและกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทุกภาคธุรกิจ ได้แก่ สถานีบริการก๊าซ LPG โรงบรรจุก๊าซ ร้านค้าก๊าซ กลุ่มพาณิชยกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม หากย้อนรอยเส้นทางบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI ถือเป็นหุ้นการเมืองที่มีประเด็นเล่าลือโด่งดัง

ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท ปิคนิคแก๊ส แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมชื่อบริษัท ปิคนิคแก๊ส แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) เกิดจากการที่บริษัท ยูเนียนแก๊ส แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด ของกลุ่มตระกูล “ลาภวิสุทธิสิน” ซื้อกิจการบริษัท บีจีอีเอส เอ็นจิเนียริ่ง ซีสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประสบปัญหาด้านการเงิน และยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อปี 2544

ยูเนียนแก๊สเปลี่ยนชื่อ “บีจีอีเอส” เป็น บริษัท ปิคนิคแก๊ส แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) ดำเนิน 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) แบรนด์ “ปิคนิคแก๊ส” ธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบอาคาร และสถานีไฟฟ้าย่อย จากนั้นเริ่มธุรกิจค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้เครื่องหมายการค้า “MP Petroleum”

ช่วงเวลานั้น กลุ่มตระกูลลาภวิสุทธิสินถือเป็นกลุ่มทุนใหญ่ ทำธุรกิจส่งออกด้าย โรงปั่น โรงทอผ้า และธุรกิจแก๊ส โดยเฉพาะแกนหลักคนสำคัญ คือ สุริยา ลาภวิสุทธิสิน เข้ามาสู่วงการเมือง เป็นที่ปรึกษาให้นายเสริมศักดิ์ การุญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายสังข์ทอง ศรีธเรศ อดีต รมช. ศึกษาธิการ จนกระทั่งลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทย ได้เป็นที่ปรึกษานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว. เกษตรและสหกรณ์

ปี 2548 นายสุริยาได้รับตำแหน่ง รมช. พาณิชย์ แต่นั่งเก้าอี้ได้เพียง 4 เดือน ต้องลาออกเนื่องจากเกิดกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้บริหาร บมจ. ปิคนิคคอร์ปอเรชั่น มีชื่อ นายธีรัชชานนท์ และนางสาวสุภาภรณ์ ลาภวิสุทธิสิน น้องชายและน้องสาวรวมอยู่ด้วย ในข้อหาโอนเงินของบริษัทเข้าบัญชีส่วนตัวและบริษัทปิคนิคปรับแต่งตัวเลขทางบัญชี

ในเวลาต่อมา ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายสุริยาในฐานะผู้สั่งการร่วมกับกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและยังมีความผิดร่วมกับพวกปั่นหุ้นอีกหลายตัว แต่นายสุริยาหลบหนีคดีออกนอกประเทศ ส่วนนายธีรัชชานนท์และนางสาวสุภาพรถูกศาลตัดสินจำคุก 12 ปี

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลล้มละลายกลางยังมีคำพิพากษาสั่งให้นายสุริยาเป็นบุคคลล้มละลาย ผ่านราชกิจจานุเบกษา ตามคดีหมายเลขแดงที่ ล. 6004/2553

ขณะที่ WP ดำเนินธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง กลุ่มตระกูลใหญ่ถือหุ้นเหนียวแน่น ทั้งนางสาวชมกมลที่ถือหุ้นร่วมกับพ่อและพี่ชายมากถึง 32.55% นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ถือหุ้นในสัดส่วน 16.39% นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ 7.20% และนายสมชาย เบญจรงคกุล 1.86% ซึ่งนี่สะท้อนถึงความไม่ธรรมดาของ WP ได้อย่างดี

ใส่ความเห็น