วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร “วันนิทรรศการวิชาการ รร.จปร. 2563” ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดแวสดงผลงานทางวิชาการร่วมกับสถาบันภายนอก
ในโอกาสนี้คณะวิจัยโครงการ “การพัฒนาข้อมูลดิจิทัล 3 มิติ เพื่อการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและการรักษามรดกทางวัฒนธรรม” ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้ร่วมถวายรายงานพลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราช โดยเฉพาะงานวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานสำคัญของประเทศไทย
โครงการดังกล่าวเป็นงานวิจัยที่ขยายผลต่อยอดจากโครงการ “การใช้ฐานข้อมูลดิจิทัลสำหรับงานวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนในการอนุรักษ์โบราณสถานหรืออาคารโบราณในชุมชน” ภายใต้ชุดโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วยหลักวิศวกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยคณะวิจัยมุ่งพัฒนากระบวนการประยุกต์ใช้ข้อมูลดิจิทัล 3 มิติทางวิศวกรรม เพื่อการตรวจสอบสภาพโครงสร้างพื้นฐาน สภาพภูมิประเทศ และการรักษามรดกทางวัฒนธรรม อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสแกนวัตถุสามมิติสำหรับการประเมินโครงสร้างอาคารและโบราณสถาน วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้และกระบวนการใช้ข้อมูลดังกล่าวแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนผ่านกิจกรรมสื่อดิจิทัล นอกจากนี้ยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสแกนวัตถุสามมิติควบคู่กับองค์ความรู้ทางวิศวกรรมสำหรับการประเมินและรักษามรดกทางวัฒนธรรม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสแกนวัตถุสามมิติเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสภาพภูมิประเทศเพื่อประเมินผลกระทบทางธรรมชาติและภัยพิบัติต่าง ๆ
สำหรับโครงการวิจัยการสำรวจด้วยกล้องสแกนวัตถุสามมิติ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ซึ่งมี รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการ มีเป้าหมายเพื่อนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากงานวิจัยเดิมที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกสว. มาต่อยอดใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์วัดไทยที่มีความสำคัญในฐานะพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยคณะวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจภาคสนามเพื่อใช้กล้องสแกนวัตถุสามมิติด้วยแสงเลเซอร์เก็บข้อมูลในเขตพุทธาวาสทั้งหมดของวัด และนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำข้อมูลกลุ่มจุดภาพสามมิติที่แสดงค่าพิกัดต่าง ๆ ของพื้นผิวองค์อาคารที่สำคัญ เพื่อติดตามสภาพพระอุโบสถซึ่งคณะวิจัยจะลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบและประเมินอัตราการทรุดตัวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบูรณะองค์อาคารอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป