วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > เวียดนามคู่แข่งไทยส่งออกข้าว รัฐต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวสู้

เวียดนามคู่แข่งไทยส่งออกข้าว รัฐต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวสู้

ช่วงไตรมาสแรกของปีที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังอยู่ในขั้นวิกฤต สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในช่วงเวลานั้นมีสัญญาณเป็นไปในทางที่ดี ทั้งจากเวียดนามที่ต้องจำกัดการส่งออกข้าว มีการคาดการณ์ว่าไทยน่าจะได้รับอานิสงส์การส่งออกข้าวได้มากขึ้น

ทว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี (ม.ค.-มิ.ย.) ตัวเลขที่แสดงออกมากลับให้ผลตรงกันข้าม เมื่อสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผยยอดตัวเลขการส่งออกข้าว ว่าไทยทำได้เพียง 3.14 ล้านตัน ลดลง 32 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ไทยถูกเบียดให้มายืนอยู่ในอันดับสาม รองจากอินเดียและเวียดนาม

เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลายแม้จะยังไม่สิ้นสุด แต่สถานการณ์การส่งออกที่กลับมาดำเนินกิจการได้ ทำให้หลายฝ่ายพอจะมองเห็นสัญญาณในทางที่ดีว่าภาคการส่งออกน่าจะกลับมาเดินเครื่องและอาจช่วยให้ตัวเลขจีดีพีไทยไม่ติดลบมากนัก

กระนั้นปัจจัยแวดล้อมด้านลบก็ยังไม่สิ้นสุด เมื่อไทยยังต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรลดลง เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดต่างชาติลดลงไปด้วย ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยอยู่ในช่วงแข็งค่าที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าส่ง และประเด็นสำคัญคือ พันธุ์ข้าวไทยในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคแล้ว

แม้ว่าผู้ส่งออกข้าวจะยอมรับว่าคู่แข่งสำคัญในตลาดค้าข้าวโลกคือ ประเทศอินเดีย ทว่า ในระยะหลังกลุ่มผู้ส่งออกข้าวต้องรับมือกับคู่แข่งที่เหมือนจะเป็นม้ามืดในวงการนี้ คือ เวียดนาม ที่มุ่งมั่นพัฒนาพันธุ์ข้าวมาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีเป้าหมายอยู่แค่เป็นผู้ส่งออกข้าวไปยังตลาดโลกเป็นอันดับต้นๆ เท่านั้น แต่พัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดค้าข้าวจากเจ้าตลาดเดิมให้ได้

มีบทความที่เผยแพร่โดย BIOTHAI ว่า เวียดนามพัฒนาข้าวสายพันธุ์ ST25 จนกลายเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก จากการประกวดระหว่างการประชุมข้าวโลกเมื่อปี 2019 ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเกิดจากการสนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยงานวิจัยของรัฐในระดับจังหวัดของรัฐบาลเวียดนามเป็นสำคัญ และ Ho Quang Cua ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการเกษตรและพัฒนาชนบทของจังหวัด Soc Trang และคณะเป็นผู้ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ขึ้น ให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมของเวียดนาม เกิดขึ้นหลังจากกรมการข้าวของประเทศไทยประกาศความสำเร็จในการพัฒนาข้าวหอมปทุม ซึ่งเป็นข้าวหอมไม่ไวแสงปลูกได้ตลอดปีในพื้นที่เขตชลประทานเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เวลานั้นเขาบอกกับตัวเองว่ามาตรฐานและคุณภาพของข้าวเวียดนามตามหลังไทยมาโดยตลอด ทำไมเราจะพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมของตนเองให้เทียบเท่ากับประเทศไทยไม่ได้

การพัฒนาพันธุ์ข้าวของเวียดนามนั้นได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,000 ล้านบาท เพื่อทำการวิจัยและพัฒนา โดยนำพันธุ์ข้าวที่ดีในตลาดมาพัฒนาเป็นพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อทำตลาด

ในขณะที่ประเทศไทยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพียง 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตไทยอาจสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งออกข้าว 3 อันดับแรก และอาจตกไปอยู่ในอันดับ 5 ภายในเวลา 5 ปี

แน่นอนว่า ความกังวลต่อสถานะผู้ส่งออกข้าวของไทยที่ถูกเบียดให้ลงมาอยู่อันดับสามในเวลานี้ สามารถปลุกให้หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องตื่นรู้ และเริ่มใช้ยุทธศาสตร์ที่มีหมุดหมายในการพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกมากขึ้น

โดย เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมอยู่ระหว่างการพัฒนายุทธศาสตร์ข้าวไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางยุทธศาสตร์ข้าว 10 ปี ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่ม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด และทางสมาคมต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าว เพื่อนำมาใช้ในการแข่งขันในตลาด รวมทั้งช่วยผลักดันการทำตลาดข้าว ดูแลค่าเงินบาทเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้

ด้านนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ได้ปรับเป้าประมาณการการส่งออกข้าวในปีนี้เหลือ 6.5 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 2.4 ล้านตัน ข้าวนึ่ง 1.2 ล้านตัน ข้าวหอมมะลิ 1.8 ล้านตัน ข้าวหอมไทย 0.8 ล้านตัน โดยในช่วงที่เหลือของปีจะต้องส่งออกให้ได้ปริมาณ 3.5 ล้านตัน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 6 แสนตัน โดยคาดว่าอันดับการส่งออกข้าวไทยจะตกลงมาอยู่ที่ 3 โดยเวียดนามแซงหน้าไทยขึ้นมาอยู่ที่ 2 และ อินเดียอยู่อันดับ 1

อีกทั้งยังมองว่าปัญหาการส่งออกของข้าวไทยคือการที่ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ ทั้งพันธุ์ข้าวและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ข้าวไทยมีราคาแพงขึ้น 30-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เริ่มจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย 2563-2567 เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยยุทธศาสตร์นี้จะมุ่งตลาดนำการผลิต เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิต และส่งออกข้าวรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก

แม้จะเป็นเรื่องดีที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรื้อยุทธศาสตร์ข้าวออกมาปัดฝุ่นใช้งาน โดยมุ่งหมายไปในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อให้รองรับความต้องการของตลาดโลก ทว่า สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองหน่วยงานต้องไม่ลืมคือ ปัญหาภัยแล้ง ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาพันธุ์ข้าว หากการรอคอยน้ำตามธรรมชาติจะเป็นความเสี่ยงที่อาจสร้างหายนะให้เกิดขึ้นได้เช่นในปัจจุบัน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องระดมสมองหาทางออก โดยที่เกษตรกรไม่ต้องรอคอยน้ำตามธรรมชาติอีกต่อไป เพราะ “ภัยแล้ง” เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้ผลผลิตข้าวไทยมีไม่เพียงพอสำหรับการส่งออก

ปัญหาภัยแล้งของไทยทำให้ไทยส่งออกข้าวได้ต่ำสุดในรอบ 20 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่อินเดียสามารถยืนอยู่ในฐานะผู้ส่งออกอันดับ 1 ได้ปีนี้ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมอินเดีย เปิดเผยปริมาณการส่งออกข้าวของอินเดียในปีนี้ว่า อาจสูงถึง 42% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคาดว่ายอดการส่งออกข้าวของอินเดียน่าจะสูงถึง 14 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งปีที่ผ่านมาอินเดียส่งออกข้าวได้ 9.9 ล้านตัน

เมื่อคู่แข่งของผู้ส่งออกข้าวไทย ไม่ได้มีแต่อินเดีย และเวียดนามเท่านั้น แต่ยังมีจีนที่เริ่มพัฒนาพันธุ์ข้าว จนสามารถส่งออกได้แล้ว อีกทั้งจีนยังสามารถแย่งตลาดค้าข้าวของไทยอย่างแอฟริกาไปได้บางส่วนแล้ว

เดิมทีประเทศที่อยู่ในฐานะผู้ส่งออกข้าวในตลาดโลกมีเพียงอินเดีย เวียดนาม ไทย และสหรัฐฯ ทว่า ปีนี้จีนเริ่มมีบทบาทในตลาดค้าข้าวโลกมากขึ้น การเปลี่ยนบทบาทของจีนจากผู้นำเข้าข้าว เป็นผู้ส่งออกข้าว น่าจะกระทบต่อไทยพอสมควร

โดยในปีที่แล้วจีนสามารถส่งออกข้าวได้ 3 ล้านตัน และด้วยเหตุผลของผลผลิตจากจีนที่มีปริมาณมากจนเกินความต้องการภายในประเทศ ทำให้จีนต้องระบายสต๊อกออกและขายข้าวให้ตลาดแอฟริกาในราคาที่ถูก

ขณะที่เวียดนามแย่งส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มเอเชียไปจากไทย เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสินค้าหมวดข้าวนึ่งไทยเพื่อการส่งออกนั้น ไทยถูกอินเดียแย่งส่วนแบ่งไปได้เช่นเดียวกัน เช่น ตลาดเบนิน แคเมอรูน เยเมน เนื่องจากราคาที่ถูกกว่าไทยถึงตันละ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับไทยคงมีเพียงข้าวหอมมะลิที่ยังรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ดี โดยมีการส่งไปที่สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 36.5 เปอร์เซ็นต์ สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 112.6 เปอร์เซ็นต์ และฮ่องกง 23.8 เปอร์เซ็นต์

ข้าวไทยเพื่อการส่งออกดูเหมือนว่ากำลังเผชิญปัญหาและอุปสรรคนานาประการ ทั้งคู่แข่งที่เริ่มพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้ดีอย่างเวียดนาม จีนที่เริ่มพัฒนาผลผลิตข้าวได้ในปริมาณที่มากขึ้นจนสามารถส่งออกได้ และคู่แข่งเดิมอย่างอินเดียที่อาศัยช่วงจังหวะที่ไทยประสบกับภาวะภัยแล้งจนทำให้ผลผลิตข้าวลดลง

นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาเรื่องจำนวนผู้ส่งออกข้าวในตลาดที่มีมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันกันตั้งแต่ภายในประเทศ

คงต้องรอดูว่า การเดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปีของกระทรวงพาณิชย์ ด้วยการชูยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ที่เน้นการผลักดันข้าว 7 ชนิดตามความต้องการของตลาด ได้แก่ 1. ตลาดพรีเมียม ที่มีข้าวหอมมะลิ 2. ตลาดทั่วไป มีข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง และ 3. ตลาดเฉพาะ มีข้าวเหนียว ข้าวสี และข้าวคุณลักษณะพิเศษ โดยมีเป้าหมายให้ข้าวของไทยสามารถแข่งขันได้ รวมถึงเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยพลิกสถานการณ์ให้ไทยกลับมายืนหนึ่งในฐานะผู้ผลิตข้าวและผู้ส่งออกข้าวของโลกได้หรือไม่

เพราะหากภาครัฐและภาคเอกชนไม่เร่งพัฒนาเสียตั้งแต่วันนี้ ไทยอาจถอยหลังลงจากตำแหน่งสามอันดับแรกในเร็ววัน

ใส่ความเห็น