กระแสโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งกระทรวงการคลังตั้งเป้ากระตุ้นกำลังซื้อช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ มากกว่า 2 แสนล้านบาท และดึงเม็ดเงินจากผู้มีรายได้สูงมากกว่า 3.7 ล้านคน กำลังจุดชนวนสมรภูมิค้าปลีกช่วง 2 เดือนสุดท้าย โดยเฉพาะกลุ่มเอาท์เล็ตแบรนด์หรู ทั้งสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ตและเซ็นทรัลวิลเลจ ต่างระดมอัดแคมเปญถล่มกันอย่างหนักหน่วง
ขณะเดียวกัน ในจังหวะนี้กลุ่มเอาท์เล็ตที่เคยเจาะนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างปรับแผนรุกขยายฐานลูกค้าคนไทยกำลังซื้อสูง เนื่องจากสถานการณ์การท่องเที่ยวยังต้องรอการฟื้นตัวและเพิ่งประเดิมเปิดประเทศรับทัวร์ต่างชาติประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist Visa หรือ STV กลุ่มแรกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มแรกเดินทางมาจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 41 คน ตามนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ 2 จากกวางโจว ประเทศจีน เดินทางเข้ามาอีก 100 คน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม
แม้ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอแผนการตลาดดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป โดยเจาะกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเป็นหลัก เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำต่อการติดโควิด-19 มีระยะเวลาการพำนักนานและค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง โดยล่าสุดแจ้งความต้องการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 120 คน รวมถึงการเดินทางมาด้วยวีซ่าประเภทต่างๆ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ปลดล็อกไปก่อนหน้านี้อีกหลายพันราย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ก่อนเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของฝั่งยุโรปในต้นปีหน้า
แต่ทั้งหมดยังเทียบไม่ได้กับรายได้ที่หดหายไป!!!
ธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ทำลายสถิติการท่องเที่ยวของโลกล่มสลาย สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจของทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤต เนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศถูกยกเลิกทั้งหมด โดยองค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ระบุจำนวนนักท่องเที่ยวโลกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-สิงหาคม) หดตัว 70% หรือหายไปถึง 700 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปกว่า 7.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ในส่วนประเทศไทยจากปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา 39.8 ล้านคน ล่าสุดลดลงเหลือ 4.2 ล้านคน ติดลบแรงกว่า 77.3% และผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 ปี 2564 แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งประเมินจะฟื้นตัวชัดเจนในปี 2565 โดยอุปสรรคสำคัญ คือ การควบคุมไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกันในกลุ่มเอาท์เล็ตยักษ์ใหญ่ด้วยกัน สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ตอาจต้องงัดกลยุทธ์และเร่งปลุกกระแสการจับจ่าย เนื่องจากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงเดือนมิถุนายน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เจอทั้งวิกฤตการท่องเที่ยวและวิกฤตเศรษฐกิจ จนต้องรีบพลิกกลยุทธ์อย่างเร่งด่วน
ไมเคิล ถัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด ผู้บริหารโครงการ สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ (Siam Premium Outlets Bangkok) ในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทต้องปรับแผนหันมาเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในสัดส่วน 80-90% และอาจต้องทำการตลาดรูปแบบนี้ต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 2 ปี จนกว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวและการเดินทางทั่วโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับกลุ่มลูกค้าคนไทยที่เป็นเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มคนกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ราว 12 ล้านคน และเตรียมขยายเจาะกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดใกล้เคียง จังหวัดในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา และระยอง เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง
ทั้งนี้ หากดูยอดลูกค้าในช่วงการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ 16,000 คนต่อวัน มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 คนต่อวัน ส่วนช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ลดลงอยู่ที่ 8,000 คนต่อวัน แต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและผู้คนต่างออกมาจับจ่ายรับเทศกาลช่วงปลายปี
ด้านการใช้จ่ายเฉลี่ย 4,000 บาทต่อคน สูงกว่าที่ตั้งไว้เดิมที่ 1,000 บาทต่อคน เนื่องจากผู้บริโภคอั้นการใช้จ่ายในช่วงโควิดแพร่ระบาดและไม่สามารถเดินทางไปช้อปปิ้งในต่างประเทศเหมือนปีก่อนๆ
“ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายบริษัทจึงเตรียมกลยุทธ์ชุดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โดยเฉพาะช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปี 2564 สร้างสีสันปลุกบรรยากาศความคึกคักต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ STV ซึ่งจะเริ่มเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ตัวเลขอาจยังไม่มากนัก แต่ยังเป็นกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการดึงเข้ามาใช้บริการและมั่นใจว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2564 น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง”
เบื้องต้น บริษัทเร่งเปิดตัวร้านค้าแบรนด์ใหม่ในช่วงปลายปีตามแผนเพิ่มจำนวนแบรนด์รวมกันมากถึง 300 แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นลักชัวรีแบรนด์อย่าง Salvatore Ferragamo และ Breitling
อินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ ได้แก่ Marc Jacobs, Karl Lagerfeld, Fred Perry, Jubilee Diamond, Mango, Cotton On, Converse, Teva, New Era, The Clozet, Grand Motorsport, Body Glove, WRKROOM:, Siam Takashimaya, Santa Barbara, Sabina, Morgan, Daks และ BE Me by Wacoal
ไลฟ์สไตล์แบรนด์ ได้แก่ Miniso, Lamy, Grand Massage & Spa, Mr.Big, Camera Baby, Santas Home รวมถึงกลุ่มร้านอาหาร ได้แก่ Bonchon, SUSHiPLUS, KFC, 7-Eleven และ Breadtalk”
ที่สำคัญ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 จะมีอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ คือ Karl Lagerfeld และ Fred Perry ซึ่งเข้ามาเปิดในรูปแบบเอาท์เล็ตแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมแคมเปญลดสูงสุด 40-60% และช่วงปลายปีนี้ถึงไตรมาสแรกของปี 2564 จะมีลักชัวรีแบรนด์เปิดเพิ่มอีก 2-3 แบรนด์
ส่วนช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เตรียมแคมเปญ Illumination Year End Sale เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงกลางเดือนมกราคม 2564 ทั้งส่วนลดร้านค้า โปรโมชั่นจากบัตรเครดิตและการสร้างบรรยากาศภายในศูนย์ในธีม Illumination Spectrum ใช้งานศิลปะตกแต่งสถานที่ทั่วสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ โดยไมเคิลเชื่อมั่นว่า การจัดแคมเปญตลอด 3 เดือนจะกระตุ้นจำนวนลูกค้าเติบโตถึง 20% ยอดจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 10-15% และยอดการใช้จ่ายต่อคนสูงขึ้น หรือเฉลี่ยมากกว่า 2,000 บาท
ดังนั้น เมื่อสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ตมาแรงแดงเดือด คู่แข่งอย่างเซ็นทรัลวิลเลจมีหรือจะอยู่นิ่งเฉย โดยล่าสุดซุ่มจัดหนักแคมเปญใหญ่ช่วงปลายปี เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อที่รัฐบาลคุยว่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท เกมนี้จึงไม่ใช่แค่ใครดีใครได้ แต่ยังหมายถึงโอกาสลุยยอดขายรอบสุดท้ายของปีด้วย
ช้อปดีมีคืน
๐ สามารถลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับการซื้อสินค้าและบริการผ่านผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนตามจำนวนที่มีการจ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท
๐ กลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มผู้ประกอบการค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP
๐ ช้อปปิ้งเพื่อลดหย่อนภาษี ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563
๐ ยื่นลดหย่อนภาษีได้ มีนาคม 2564 (ยื่นภาษีปี 2563)
๐ สินค้าที่ไม่เข้าร่วม ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พักและค่าตั๋วเครื่องบิน
๐ กลุ่มคนที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ คือกลุ่มคนที่อยู่ในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือใช้สิทธิ์โครงการ “คนละครึ่ง” แล้ว
๐ เหมาะกับคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์และต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล คือ มีรายได้เกิน 300,001-500,000 บาทต่อปี และต้องการซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต สินค้าจากห้างสรรพสินค้า สินค้าและบริการจากร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะหากมีรายได้ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว เท่ากับไม่มีเงินคืนภาษี
หรือหากมีรายได้ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อปี ฐานภาษีเพียงแค่ 5% จะได้รับเงินภาษีสูงสุดเพียง 1,500 บาท เพราะกำหนดการซื้อสินค้าสูงสุดเพียง 30,000 บาท ดังนั้น กลุ่มนี้เข้าโครงการ “คนละครึ่ง” ที่รัฐออกค่าสินค้าและบริการ 3,000 บาท จะได้ประโยชน์มากกว่า
๐ คนที่มีฐานภาษีอัตราสูงจะได้รับประโยชน์มากกว่า เช่น ถ้าคิดจากมูลค่าเงินซื้อสินค้าเท่ากัน 30,000 บาท คนที่มีรายได้ 300,001-500,000 บาท อัตราฐานภาษี 10% จะได้เงินคืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท เทียบกับคนที่มีรายได้ 500,001-750,000 บาท อัตราฐานภาษี 15% จะได้เงินคืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท ต้องคิดคำนวณจากรายได้รวมทั้งปีของแต่ละคนและฐานภาษีตามขั้นบันได ตั้งแต่ 10-35%