วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจไทยไร้แรงดึงดูด ต่างชาติปิดโรงงาน-ย้ายฐาน

เศรษฐกิจไทยไร้แรงดึงดูด ต่างชาติปิดโรงงาน-ย้ายฐาน

ข่าวการปิดโรงงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำนวนมากในประเทศไทย แม้ว่าในด้านหนึ่งจะเป็นผลจากพิษการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในมิติของกิจการด้านสาธารณสุข และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัว ขณะที่ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของกระบวนการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรมต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน

การประเมินของกลไกรัฐว่าด้วยการปิดโรงงานของผู้ประกอบการแต่ละรายดูจะยึดโยงและผูกพันอยู่กับฐานคิดที่ว่าการปิดโรงงานของผู้ประกอบการเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้กำลังซื้อลดลงและมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยที่ละเลยหรือมองข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานจำนวนมากที่ต้องพ้นจากสภาพการจ้างงานและมีแนวโน้มที่ต้องเสี่ยงกับการตกงานและว่างงานยาวนานนับจากนี้

ข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งปรากฏเป็นรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2563 ระบุว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 มีผู้ว่างงานเกือบ 4 แสนคน และคาดว่าในปีนี้มีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ขณะที่แรงงานจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนอาจไม่มีงานทำ

รายงานภาวะสังคมไทยฉบับดังกล่าวซึ่งเผยแพร่สู่สาธารณะ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังระบุว่าแม้อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่องและค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง

การประเมินว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าแรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน

แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่ก่อน COVID-19 ระบาดและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน

ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ที่ประกอบด้วยการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน

ประเด็นปัญหาว่าด้วยแรงงานรุ่นใหม่จำนวนกว่า 5.2 แสนคนของไทยที่กำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะไม่มีงานทำ สอดรับกับการประเมินขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ซึ่งระบุว่าการระบาดของ COVID-19 อาจส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ไปตลอดชีวิตการทำงาน โดยการสำรวจล่าสุดพบว่าคนในช่วงอายุ 15-24 ปีถูกเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมากในหลายประเทศทั่วโลกและเป็นกลุ่มประชากรที่ตกงานมากกว่าคนในวัยอื่นๆ

ไอแอลโอเรียกคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบและกำลังเริ่มต้นการทำงานในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ว่า “คนรุ่นล็อกดาวน์” (lockdown generation) ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลและสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คนรุ่นนี้อาจกลายเป็น “รุ่นที่สาบสูญ” (lost generation) ไปจากตลาดแรงงานอย่างถาวร

ข้อเสนอที่น่าสนใจด้วยการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงานเพื่อรองรับแรงงานจบใหม่จำนวน 5.2 แสนคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงถัดจากนี้ และอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงานที่เพียงพอเพื่อรองรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะหางานทำไม่ได้

แต่การว่างงานหรือตกงานของแรงงานไทยจำนวนมากในอีกด้านหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 แต่เพียงลำพัง หากยังเป็นมาจากการสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และการไร้แรงดึงดูดด้านการลงทุนในระยะยาว ซึ่งทำให้เกิดการปิดโรงงานในประเทสไทยและย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง

กรณีการปิดโรงงานผลิตเครื่องซักผ้าและตู้เย็นของ Panasonic ในประเทศไทยเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดูจะเป็นประจักษ์พยานของความถดถอยของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องเพราะการปิดโรงงานในไทยเพื่อย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามของ Panasonic ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน หากดำเนินไปท่ามกลางแผนการผนวก-ย้ายฐานการผลิตเข้ากับโรงงานที่ใหญ่ขึ้นในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานดียิ่งขึ้น

การย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามในครั้งนี้ Panasonic ต้องการลดต้นทุนผ่านกระบวนการจัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนประกอบที่ผนวกรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งโรงงานของ Panasonic ในเวียดนามจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทสำหรับการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปัจจุบันก็ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในกรณีของ Panasonic ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กรและมีการปรับเปลี่ยน-โยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ในช่วงที่ผ่านมา มีเป้าหมายอยู่ที่การลดต้นทุนลงประมาณ 100,000 ล้านเยน หรือประมาณ 930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปีงบประมาณของญี่ปุ่นที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2565 เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมไทย โดยเฉพาะกลไกรัฐไทยควรให้ความสนใจและตระหนักในการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากกว่าที่เป็นอยู่

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กลไกรัฐไทยพยายามโหมประโคมความคืบหน้า-ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยด้วยการวางเดิมพันก้อนโตไว้กับพัฒนาการของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้วยมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท

หากแต่ตัวเลขที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนได้รับการส่งเสริม กับการลงทุนที่ปรากฏมีอยู่ในความเป็นจริงดูเหมือนว่าจะวิ่งสวนทางหรือเป็นไปอย่างที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่กลไกภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะพยายามปั้นข้อมูลมากนัก

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและตลาดโลก นับตั้งแต่เกิดกรณีพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา อาจทำให้การตัดสินใจของผู้ประกอบการเป็นไปในทิศทางที่ละเอียดรอบคอยมากขึ้น ขณะที่การระบาดของ COVID-19 ทำให้ภูมิทัศน์ว่าด้วยการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่มีวันหวนกลับ

ข้อได้เปรียบและความน่าสนใจในการลงทุนของไทยที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามหยิบยกขึ้นมาเป็นปัจจัยบวกตลอดเวลาที่ผ่านมาเริ่มเสื่อมมนต์ขลังและกำลังจะไม่มีอยู่จริงในกระบวนการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีระดับที่สูงขึ้นในการประกอบส่วนเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอนาคต

ความสามารถในการควบคุมโรคของไทย ถูกนำไปใช้เพื่อการเร่งระดมให้เกิดการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว ในขณะที่ในมิติของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกลับได้รับการตอบสนองและใส่ใจในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา

ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือปัจจุบันมีนักธุรกิจต่างชาติต้องการเข้ามาไทยจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้ต้องมาประสานงานด้านธุรกิจและการลงทุนในไทย โดยแบ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่เข้ามาเจรจาการลงทุน กลุ่มนักธุรกิจที่เข้ามาสับเปลี่ยนการบริหารตามวงรอบ โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจจากญี่ปุ่น และกลุ่มนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค โดยเฉพาะนักธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเชิญชวนมาลงทุน แต่เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องหยุดชะงักไป

หากกล่าวเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจในกรณีของนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นซึ่งไม่สามารถเข้าไทยได้ ส่งผลกระทบ 2 ด้าน คือผู้บริหารและพนักงานญี่ปุ่นในไทยที่หมดวาระตามปีงบประมาณของญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ต้องเดินทางกลับประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ผลัดใหม่เข้าไทยไม่ได้จึงกระทบธุรกิจในไทย เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ต้องทำงานหนักขึ้นแทนเจ้าหน้าที่ที่เดินทางกลับ ไม่สามารถส่งไม้ต่อเพื่อการทำงานได้นานหลายเดือน

ขณะเดียวกันกลุ่มนักธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการมาเจรจาธุรกิจในไทย ด้วยการเดินทางมาเพียง 1-2 วัน ไม่สามารถเข้าไทยได้ เพราะต้องถูกกักตัว 14 วัน และกลับไปกักตัวที่ญี่ปุ่นอีก 14 วัน ทำให้เสียเวลารวมนับเดือน ต่อการเดินทาง 1 ครั้ง ถือว่าใช้เวลามาก รวมทั้งมีปัญหาโรงงานที่สร้างสายการผลิตใหม่ แต่ช่างเทคนิคเดินทางมาติดตั้งเครื่องจักรไม่ได้

การผ่อนปรนมาตรการเพื่อให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยได้ อาจเป็นกรณีที่ช่วยพยุงสถานการณ์และขับเคลื่อนบรรยากาศการลงทุนที่ซบเซาอยู่ให้ฟื้นกระเตื้องขึ้นจากสภาพที่เป็นอยู่นี้ได้บ้างซึ่งแม้ภาคเอกชนต้องการให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การเข้ามาของกลุ่มคนเหล่านี้ต้องมีความปลอดภัย

รูปธรรมของมาตรการผ่อนปรนสำหรับนักธุรกิจต่างชาติเหล่านี้จึงอาจจะมีความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนและจับต้องปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการโหมประโคมโฆษณาชวนเชื่อถึงการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจไทยแบบที่ปรากฏในห้วงปัจจุบัน

ใส่ความเห็น