วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ความท้าทายของอุตสาหกรรมหนังสือ จะหมุนอย่างไรเมื่อไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนแปลง

ความท้าทายของอุตสาหกรรมหนังสือ จะหมุนอย่างไรเมื่อไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนแปลง

การอ่านเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาในหลายระดับ ตั้งแต่การพัฒนาสติปัญญา เสริมเกราะทางภูมิปัญญาของผู้อ่านเอง จนไปถึงการพัฒนาในระดับชาติ ทว่า ทั้งการส่งเสริมการอ่าน และการสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสือจากภาครัฐกลับไม่เข้มข้นพอ

ในแต่ละปี ประเทศไทยจะมีงานอีเวนต์ขนาดใหญ่เกี่ยวกับหนังสืออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง นั่นคือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ต้องยอมรับว่าบรรดาหนอนหนังสือและนักอ่านจำนวนหนึ่งเฝ้ารอคอยงานนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการได้เปิดประสบการณ์ผ่านจินตนาการทางตัวหนังสือแล้ว ยังมีโอกาสได้ซื้อหนังสือในราคาประหยัด

และไม่ใช่แค่เพียงเหล่านักอ่านที่รอคอยงานหนังสือเท่านั้น ทั้งผู้คนที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงหนังสือ เช่น นักเขียน สำนักพิมพ์ ต่างเฝ้ารองานนี้ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะบางสำนักพิมพ์ หรือนักเขียนมักจะใช้ช่วงเวลานี้เปิดตัวหนังสือ หรือผลงานเล่มใหม่

ความคึกคักและการตื่นตัวที่เคยเกิดขึ้นทุกปีในวงการหนังสือเล่มดูจะค่อยๆ จืดจางลงอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่การเติบโตของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้วงการหนังสือต้องพัฒนาและหมุนตามโลกให้ทันเพื่อไม่ให้หลุดจากวงโคจร

ไม่ใช่เหตุผลทางเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนังสือในห้วงยามนี้ ทว่า สิ่งที่ดูเหมือนจะสร้างหายนะให้เกิดขึ้นในหลายแวดวงและแผ่อิทธิพลมาสู่วงการหนังสือด้วยก็คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างบาดแผลทางเศรษฐกิจไทยให้สาหัสกว่าเดิม

เพราะนอกจากการที่อุตสาหกรรมหนังสือต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับการเติบโตของเทคโนโลยีด้วยการทรานส์ฟอร์มจากหนังสือเล่มไปสู่ e-book แล้ว ยังต้องรับมือกับการอ่อนแรงในเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 48 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 18 ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทำให้ผู้จัดงานต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานไปสู่ช่องทางดิจิทัล ทั้งกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการขายหนังสือ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และเศรษฐกิจที่ผ่านมา หลายสำนักพิมพ์ต้องประสบกับภาวะขาดทุน บางสำนักพิมพ์แม้จะไม่ได้ปิดตัวลงไปในทันที แต่ชะลอการพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ๆ ออกมา และดำเนินธุรกิจด้วยการ Re-print ที่อาจปรับปรุงเนื้อหาบางช่วงบางตอนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยหรือเติมสาระใหม่ๆ เข้าไปในหนังสือเท่านั้น

หากพิจารณาจากมูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือในปัจจุบันหลายคนคงจะรู้สึกใจหายไม่น้อย ย้อนหลังไปประมาณ 8 ปีก่อน มูลค่าอุตสาหกรรมหนังสืออยู่ที่ 25,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 15,000-20,000 ล้านบาท ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจหนังสือถูกดิสรัปชั่นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

แม้จะมีเรื่องน่าดีใจอยู่บ้างว่า คนไทยหลุดพ้นจากวลีที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือเพียง 8 บรรทัด” แล้ว เพราะมีการสำรวจการอ่านของประชากรเมื่อปี 2561 พบว่า คนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือนานขึ้นเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน และคนไทยอ่านหนังสือคิดเป็น 78.8 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 49.7 ล้านคน (นับรวมการอ่านหนังสือบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์)

นอกจากนี้ ยังมีอีกสถิติหนึ่งที่น่าจะทำให้บุคคลในแวดวงหนังสือเล่มใจชื้นขึ้นมาได้บ้างคือ คนไทยซื้อหนังสือบ่อยที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ขณะที่อันดับ 1 คือ ตุรกี 87 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 2 รัสเซีย 82 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 3 สเปน 81 เปอร์เซ็นต์

จากสถิติการอ่านของคนไทยที่เพิ่มสูงขึ้น น่าจะพอลบมายาคติเรื่องการอ่านหนังสือเพียง 8 บรรทัดของคนไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในช่วงปี พ.ศ. 2552-2561

อย่างไรก็ตาม แม้คนไทยจะติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของการซื้อหนังสือบ่อยที่สุดจากการจัดอันดับ และคนไทยมีการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน ทว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่อ่านหนังสือ ซึ่งมีสูงถึง 13.7 ล้านคนหรือประมาณ 21.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ไม่ชอบและไม่สนใจอ่านประมาณ 3,450,000 คน

ขณะที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 25 ที่ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 กันยายน ถึง 11 ตุลาคม ที่ชาเลนเจอร์ 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Noกองดอง” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) มองว่า “ความท้าทายของสมาคมฯ ในยุคนี้คือการหมุนไปอย่างรวดเร็วของโลกเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ผู้คน และยังมีสถานการณ์ไม่คาดฝันอย่างโรคระบาด ที่ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างไม่เหมือนเดิม ดังนั้น การจะทำให้นิสัยรักการอ่านเป็นสิ่งติดตัวคนรุ่นใหม่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนจึงเป็นเรื่องท้าทายมาก นอกจากการจัดอีเวนต์ที่สร้างช่องทางเข้าร่วมงานในหลายกหลายช่องทางเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เลือกใช้บริการ ส่วนสำนักพิมพ์เองก็มีพื้นที่ในการจัดจำหน่ายมากขึ้น”

ด้านผู้จัดงานคาดการณ์ว่างานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานทั้งรูปแบบออนกราวนด์และออนไลน์กว่า 9 แสนราย และคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในงานราว 200 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติจะมีเงินสะพัดประมาณ 500 ล้านบาท

หลายคนที่ยังเชื่อว่า “หนังสือเล่มไม่ตาย” ในเวลานี้ดูจะเป็นเรื่องจริง ทว่า ตลาดหนังสือเล่มจะอยู่ต่อไปอย่างไรในยุคที่มีวิกฤตอยู่รายล้อมรอบด้าน ปัจจัยต่างๆ ล้วนแต่ส่งผลลบในเรื่องของยอดขายหนังสือแทบทั้งสิ้น

สำนักพิมพ์ต้องปรับตัวตั้งแต่การคัดสรรคอนเทนต์ที่จะนำเสนอให้ถึงมือผู้อ่าน ช่องทางการจำหน่ายหนังสือที่ต้องเน้นหนักไปทางออนไลน์มากขึ้น ร้านหนังสือที่ทยอยปิดตัวลงจนเหลือเพียงไม่กี่ร้านหลักๆ ต้องยอมรับโดยดุษณีว่า ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอันนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน มาจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น กรอบโครงความคิดอ่านของผู้บริโภคถูกกำหนดโดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆ ในฝ่ามือ และการขาดการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมต่ออุตสาหกรรมหนังสือจากภาครัฐ

แม้รัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมการอ่านออกมาอย่างต่อเนื่อง ทว่า เมื่อพิจารณาดูนโยบายแล้วเป็นเพียงแนวความคิดเดิมๆ ที่ยึดโยงอยู่กับกรอบของการลดหย่อนภาษีเท่านั้น แม้ว่าเม็ดเงินที่ผู้บริโภคนำมาจับจ่ายซื้อหนังสือในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อผลพลอยได้จากการหักลดภาษีในปีถัดไป แต่ก็เป็นเพียงเม็ดเงินส่วนน้อยที่จะสามารถหมุนเวียนในทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือได้

หากภาครัฐไม่ลืมคำกล่าวที่ว่า “การอ่านเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชาติ” และคิดค้นนโยบายที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสือรวมไปถึงร้านหนังสือให้อยู่รอดได้ในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น คงจะเป็นการดี ยกตัวอย่างในประเทศจีน ที่แม้จะมีอัตราการเติบโตของธุรกิจ e-commerce ในทุกธุรกิจ ทว่า อุตสาหกรรมหนังสือ ร้านหนังสือในจีนกลับมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี

นั่นเพราะนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมของรัฐบาลจีน ที่สนับสนุนให้มีการผลิตสินค้าและบริการเชิงวัฒนธรรม และร้านหนังสือคือหนึ่งในแคมเปญนี้ ด้วยการปรับปรุงภาพลักษณ์ของร้านหนังสือให้เป็นอุตสาหกรรมเชิงความคิด สร้างสรรค์ผสานวัฒนธรรมสมัยใหม่และวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้าด้วยกัน

การอ่านเป็นเสมือนวัคซีนที่เสริมเกราะทางสติปัญญาที่ต้องไม่ถูก Disrupt จากการเข้ามาของเทคโนโลยี

ใส่ความเห็น