ดูจะเป็นความท้าทายสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยไม่น้อยในห้วงยามนี้ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคนานานัปการที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน
ทั้งการถดถอยของเศรษฐกิจโลก การล็อกดาวน์ประเทศจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในช่วงเวลาหนึ่ง สภาวะเศรษฐกิจที่คนไทยเริ่มพาตัวเองเข้าสู่รูปแบบการใช้ชีวิตที่รัดเข็มขัดมากขึ้น และการถูกรุกคืบจากทุนจีนในหลายตลาด
สัปดาห์ก่อนมีประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่ในโลกออนไลน์ถึงกรณีที่ว่า ทุนจีนเข้ามารุกตลาดค้าออนไลน์ในไทยซึ่งน่าจะสร้างผลกระทบต่อผู้ค้าออนไลน์ไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าที่ประกอบธุรกิจขายสินค้าด้วยการเปิดพรีออเดอร์จากต่างประเทศ เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในไทย
การกินส่วนต่างกำไรจากค่าหิ้วหรือค่าดำเนินการ นับเป็นรายได้ที่ทำให้ผู้ค้าไทยยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ได้ แม้จะใช้เวลาในการรอสินค้านานร่วมเดือนหรือมากกว่านั้น ทว่า เมื่อทุนจีนมองเห็นช่องโหว่ดังกล่าว อันนำมาซึ่งการสร้างช่องทางการเข้ามาขยายฐานธุรกิจ เพื่อหารส่วนแบ่งเค้กก้อนใหญ่นี้
ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อวงการค้าออนไลน์ในไทย เป็นเพราะว่า ต่างชาติเข้ามาเปิดตลาดการค้าบนโลกออนไลน์ในไทยมากขึ้น ทั้ง Lazada, Shopee, JD Central และการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มหันมาชอปทางออนไลน์มากขึ้น รวมไปถึงข้อตกลง FTA ระหว่างไทยจีน ที่ทำให้การนำเข้าสินค้าจากจีนไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หากมูลค่าของสินค้าอยู่ภายใต้เงื่อนไขรายละเอียดในข้อตกลงเขตการค้าเสรี
นอกจากนี้ ตัวเลขมูลค่าตลาด E-Commerce ไทยในปี 2019 ที่มีมูลค่าสูงถึง 163,300 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยหันมาชอปปิงผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แม้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาไวรัสโควิด-19 จะเริ่มระบาดแล้วก็ตาม
ขณะที่ Priceza ประเมินจากสถานการณ์ในปีนี้ว่า ตลาด E-Commerce ไทยปี 2020 อาจพุ่งสูงถึง 220,000 ล้านบาท ยังมีอีกข้อมูลจากไพรซ์ซ่าที่น่าสนใจระบุว่า ตลาด E-Commerce ไทย มีมูลค่าเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของตลาดค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ นั่นหมายความว่า ยังมีโอกาสที่ตลาดออนไลน์ไทยจะขยายตัวเติบโตได้อีก หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีมูลค่า E-commerce มากที่สุด ได้แก่ประเทศจีน 25 เปอร์เซ็นต์ เกาหลีใต้ 22 เปอร์เซ็นต์ และประเทศอังกฤษ 22 เปอร์เซ็นต์
ความเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในตลาดค้าออนไลน์ไทยอาจมาจากเหตุผลข้างต้นที่กล่าวมา เมื่อเค้กก้อนนี้มีขนาดใหญ่และยังมีผู้เล่นในตลาดไม่มาก รวมไปถึงข้อได้เปรียบที่ผู้ค้าจีนมีอยู่ในมือ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราจะได้เห็นตลาดออนไลน์มีความหลากหลายของผู้ประกอบการมากขึ้น
ศึกครั้งนี้ดูจะใหญ่หลวงสำหรับผู้ค้าเจ้าถิ่นพอสมควร เพราะไม่ใช่แค่การเข้ามาเสนอตัวขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนเท่านั้น แต่ทุนจีนยังสร้างข้อได้เปรียบให้ตัวเองแข่งขันในพื้นที่ต่างแดนได้ง่ายขึ้น ด้วยการเปิดโกดังรองรับสินค้าจากจีนที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคชาวไทยเอาไว้ ซึ่งนั่นทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียเวลาในการรอสินค้านานเฉกเช่นเดิมแล้ว อีกทั้งยังสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาปกติหรือราคาเท่าทุน โดยที่ผู้ค้าไม่ได้บวกค่าหิ้วหรือค่าดำเนินการ ค่าภาษีแต่อย่างใด
หากมองในแง่มุมของผู้บริโภคต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องดีของตลาด E-Commerce ในปัจจุบันที่มีผู้ค้าเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคไทยมีตัวเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น รวมไปถึงออปชันด้านราคาสินค้า ค่าขนส่ง และโปรโมชั่นที่หลากหลาย
ทว่า งานหนักอาจจะตกอยู่กับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ชาวไทย ที่ต้องแข่งขันกับผู้ค้าหน้าใหม่ดุเดือดมากกว่าเดิม ทั้งแง่ของราคา ค่าขนส่ง ที่ไม่ว่าจะมองในแง่ไหนในช่วงเวลานี้ ก็ดูเหมือนว่าผู้ค้าจีนได้เปรียบเจ้าตลาดเดิมทุกประตู
หลายคนสงสัยว่า ผู้ค้าจีนจะอยู่ได้อย่างไร เมื่อขายสินค้าในราคาที่เท่าทุนที่แทบจะมองหากำไรไม่ได้ หรือบางชนิดสามารถตั้งราคาถูกกว่าราคาตลาด รวมไปถึงบางเคสอาจไม่ต้องเสียค่าขนส่งด้วยซ้ำ นั่นเพราะรัฐบาลจีนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าเข้ามายังประเทศไทย โดยอาจเป็นการอุดหนุนค่าจัดส่ง กรณีส่งของในปริมาณมากๆ ทางเรือขนส่งเป็นจำนวนถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่าย
มีตัวอย่างที่น่าสนใจต่อกรณีการยอมขายขาดทุน เพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่า แน่นอนว่าคงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะแข่งขันกันในด้านราคากับนักลงทุนจากต่างชาติ ที่พร้อมจะทำสงครามราคา เช่น ที่กลุ่มอาลีบาบาเคยทำในปี 2018 ที่ยอมขาดทุนกว่า 2 พันล้านบาท แต่เพื่อให้ได้กินรวบในมาร์เก็ตแชร์ เมื่อสิ่งที่ได้รับกลับมานั้นคุ้มค่า เมื่อ Lazada ไทยเติบโต 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และได้กินรวบส่วนแบ่งในตลาด E-Commerce ไทยมูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนจากจีนเริ่มสต๊อกสินค้าไว้ในประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาการจัดส่งที่ล่าช้าจากประเทศต้นทาง
แม้การมีผู้ค้าจากต่างชาติเข้ามารุกตลาดออนไลน์ไทยจะทำให้ผู้บริโภคได้เปรียบ กระนั้นปัญหาที่จะตามมาคือ พ่อค้าแม่ค้าไทยในตลาดนี้จะดำเนินธุรกิจด้วยความยากลำบากมากขึ้น เพราะดูเหมือนหนทางการปรับตัวเพื่อสู้ศึกครั้งนี้ดูจะไม่ง่ายเอาเสียเลย
หากมองด้วยใจที่อยุติธรรมและคิดว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับจีนที่ไทยได้ทำไปนั้น สร้างความเสียเปรียบให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทยที่เป็นเจ้าตลาดเดิมก็คงไม่ผิดนัก แต่ต้องไม่ลืมว่า การทำข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศย่อมต้องเป็นข้อตกลงที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย
ในกรณีนี้หากผู้ค้าชาวจีนนำเข้าสินค้ามายังไทยโดยไม่มีกำแพงภาษี พ่อค้าแม่ค้าไทยก็นำสินค้าจากจีนเข้ามาขายในไทยได้โดยที่สามารถใช้ประโยชน์จากการปรับลดกำแพงภาษีภายใต้ข้อตกลง FTA เช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าอาจจะดูเป็นการเสียเปรียบไปหน่อยในบางแง่มุม ซึ่งทำให้ผู้ค้าชาวไทยต้องปรับตัวกันยกกระบวน และดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจชะงักงันเช่นนี้
ประเด็นเรื่องความเสียเปรียบได้เปรียบในโลกการค้าออนไลน์ที่ถูกนำมาเผยแพร่จนเป็นข้อถกเถียงกันในขณะนี้ อาจสร้างจุดด่างพร้อยให้เกิดขึ้นกับเสถียรภาพของภาครัฐไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตปัญหารอบด้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ทว่า หากภาครัฐตระหนักถึงปัญหานี้อย่างรวดเร็ว และระดมความคิดที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ที่จะไม่เพียงแต่จะเป็นการช่วยเหลือ สนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยให้สู้ศึกและเสริมศักยภาพในการแข่งขันครั้งนี้ได้ แต่อาจเป็นการสร้างโอกาสครั้งใหญ่ให้เกิดขึ้นในเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมการผลิต ด้วยการสร้างโรงงานการผลิตเฉกเช่นเดียวกับที่จีนและอินเดียทำ
ซึ่งการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาจากปลายเหตุด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเท่านั้น หากแต่เป็นการอุดช่องโหว่ของปัญหาที่จะสร้างให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย หากจับจุดบกพร่องของสินค้าต่างชาติ เช่น ความไม่คงทนแข็งแรงของสินค้า คุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่สินค้าไม่ตรงปก น่าจะเป็นการสร้างโอกาสให้สินค้าไทยมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้นได้
ไม่เพียงแต่ตลาดค้าออนไลน์เท่านั้นที่ทุนจีนเริ่มสยายปีกเพื่อหวังกินรวบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ขณะที่แวดวง Logistic ก็ดำเนินไปไม่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่คนไทยได้ใช้บริการอยู่ทุกวันนี้ เกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจจากต่างชาติทั้งสิ้น
นัยหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาด Logistic ไทย และตลาด E-Commerce ไทยคือผู้ประกอบการที่เข้ามานั้นล้วนแล้วแต่มีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน แต่นั่นหมายความว่า เงินไทยจะไหลออกนอกประเทศอย่างเดียวหรือไม่ และยังมีโอกาสไหมที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ในธุรกิจเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากทุนไทย