วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > แห่ถอย “ฟูดทรัค” สู้วิกฤตตกงาน ส. ขอนแก่น ลุยแฟรนไชส์รถ “แซ่บ”

แห่ถอย “ฟูดทรัค” สู้วิกฤตตกงาน ส. ขอนแก่น ลุยแฟรนไชส์รถ “แซ่บ”

การกระโดดเข้ามาเร่งสปีดแฟรนไชส์ Food Truck ของแบรนด์อาหารไทยยักษ์ใหญ่อย่าง “ส. ขอนแก่น” โดยประเดิม 2 แบรนด์หลักในเครืออย่าง “แซ่บ” และ “ข้าวขาหมูยูนนาน” สะท้อนความร้อนแรงและกระแสการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดเซกเมนต์ฟูดทรัค โดยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นระบุว่า ทั่วประเทศมีจำนวนฟูดทรัคมากกว่า 1,500 คัน จากแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ คร่าวๆ สูงถึง 1,350 ล้านบาท

ที่สำคัญ ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่กดดันให้กิจการต่างๆ เลิกจ้างคนงานไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านคน และผู้คนมากกว่า 12 ล้านคน จะมีรายได้ลดลงจากการตัดเงินเดือน ตัดโอที ตัดรายได้พิเศษต่างๆ ส่งผลให้หลายคนเร่งหาอาชีพเสริม ยิ่งทำให้ฟูดทรัคกลายเป็นช่องทางทำมาหากินยอดนิยม เนื่องจากเป็นกิจการรูปแบบเชิงรุกเคลื่อนที่เข้าหากลุ่มลูกค้า สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคแบบ New Normal รวมทั้งหลายบริษัทยังเน้นให้พนักงาน Work from Home เพื่อประหยัดต้นทุนด้วย

ชนินทร์ วัฒนพฤกษา ประธานและผู้ก่อตั้งฟู้ดทรัค คลับ ประเทศไทย (Food Truck Club Thailand) กล่าวในงานสัมมนา “มองโอกาสจากวิกฤต ถอดวิธีคิดอย่างมืออาชีพ” ว่า รถฟูดทรัคเป็นการยกระดับร้านอาหารเคลื่อนที่จากหาบเร่แผงลอยอยู่ริมถนนเป็นร้านอาหารติดล้อเคลื่อนที่ไปหาลูกค้า เหมือนกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก ทำให้ธุรกิจฟูดทรัคสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างดี

เช่น ช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการหยุดเชื้ออยู่บ้าน รถฟูดทรัคสามารถวิ่งเข้าไปหาลูกค้าตามหมู่บ้าน หาลูกค้าที่เวิร์กฟอร์มโฮม เสิร์ฟอาหารในหมู่บ้าน ถือเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน สังคมปัจจุบัน ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองชอบสังสรรค์กับเพื่อนๆ ด้วยการรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือไปเที่ยวตามงานอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งจัดกันในหลายสถานที่ หลากหลายรูปแบบ ประกอบกับโลกยุคโซเซียลมีเดียกำลังเป็นที่นิยม มีการแชตและแชร์ภาพส่งต่อกัน ทำให้รถฟูดทรัคกลายเป็นเทรนด์ที่ทุกงานอีเวนต์ต้องจัดให้มีอยู่ในงาน นำมาตกแต่งให้สวยงาม สร้างเอกลักษณ์ โดดเด่น ง่ายต่อการจดจำ มีเมนูอาหารและการตั้งชื่อร้านให้แปลกและน่าสนใจ จนทำให้ธุรกิจรถฟูดทรัคมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน

ทั้งนี้ ถ้าสำรวจตัวเลขเฉพาะเครือข่ายสมาชิกฟู้ดทรัค คลับ ประเทศไทย มีจำนวนมากกว่า 800 กิจการ แบ่งเป็นกลุ่มประกอบกิจการในกรุงเทพฯ 70% และต่างจังหวัด 30% โดยรับสมาชิก 3 ประเภท คือ กลุ่มผู้ประกอบกิจการด้วยฟูดทรัค กลุ่มธุรกิจที่ดำเนินงานเกี่ยวกับฟูดทรัค (Food Truck Business Network: FTBN) และกลุ่มบุคคลหรือกิจการทั่วไป ซึ่งทั้งหมดมีความเกี่ยวเนื่องสนับสนุนกัน เช่น กลุ่มยานยนต์ บริษัทผู้ผลิตและประกอบรถฟูดทรัค บริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารต่างๆ สถาบันการเงิน บริษัทประกัน บริษัทออร์แกไนซ์ บริษัทประชาสัมพันธ์

“ฟูดทรัคมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังมีสัดส่วนเพียง 30% และใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก หากมีรถกระบะอยู่แล้ว ใช้เงินต่อเติมเพิ่มเติมประมาณ 1 แสนบาท หรือซื้อรถกระบะฟูดทรัค เช่น ซูซูกิแคริ่ง ราว 3-4 แสนบาท ต่อเติมตู้ตามมาตรฐานอีก 1 แสนบาท เนื่องจากมาตรฐานของฟูดทรัค ต้องปรุงอาหารบนตัวรถเท่านั้น”

ล่าสุด มีบริษัทรถยนต์หลายแห่งเห็นเทรนด์ฟูดทรัค หันมาประกอบรถเจาะตลาดนิชมาร์เก็ต อย่างบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศรุกทำตลาดรถกระบะ นำเอ็มจี เอ็กซ์เทนเดอร์ รุ่นไจแอนท์ แค็บตอนครึ่งมาดัดแปลงเป็นรถค้าขายหรือขายของเคลื่อนที่ และจับมือกับ “แครี่บอย” ปรับแต่งรถเพื่อค้าขายโดยมีต้นทุนเพิ่มจากราคาซื้อประมาณ 1 แสนบาท

สำหรับ ส. ขอนแก่น ซึ่งประกาศรุกตลาดแฟรนไชส์ฟูดทรัคแบรนด์ “ Zaap Classic” และ “ข้าวขาหมูยูนนาน” นั้น ปัจจุบันบริษัทคัดเลือกผู้ลงทุนและเปิดแฟรนไชส์แล้ว 5 คัน และตั้งเป้าหมายจะขยายครบ 50 คันภายในปีนี้ โดยแบ่งรูปแบบการลงทุน 4 แบบ ประกอบด้วยกลุ่มของนักลงทุนพร้อมขายได้ทันที เงินลงทุน 750,000 บาท

กลุ่มผู้ที่ต้องการสินเชื่อ ซึ่งเป็นโมเดล Co-Partner กับบริษัท
กลุ่มผู้ต้องการเช่าแบบรายเดือน อัตราค่าเช่าเริ่มต้น 18,500 บาทต่อเดือน และกลุ่มรูปแบบอื่นๆ เช่น มีรถตัวเองแต่อยากต่อเติม หรืออยากเปลี่ยนแบรนด์

เบื้องต้น ตามแผนระยะสั้น บริษัทยังไม่กำหนดจุดจอดขายแบบถาวร แต่เน้นให้สลับจอดในพื้นที่ต่างๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อหาโอกาสการขายและสร้างการรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นย่านคอนโดมิเนียม งาน Exhibition งาน Event ตลาด ย่านศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน ส่วนแผนระยะยาว อาจกำหนดจุดจอดระยะยาว เพื่อรักษาฐานลูกค้าประจำและเพิ่มความถี่ในการจับจ่าย

นายเจริญ รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ส. ขอนแก่น ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SORKON กล่าวว่า ฟูดทรัคเป็นหนึ่งในการปรับกลยุทธ์การขายเชิงรุก นอกเหนือจากการเพิ่มบริการจัดส่งอาหารถึงหน้าบ้าน (Food Delivery) และวางแผนภายใน 3 ปี จะเพิ่มจำนวนฟูดทรัคให้ได้ 500 คัน โดยปี 2563 ตั้งเป้าหมายฟูดทรัคจะสามารถสร้างยอดขายเฉลี่ย 200,000 บาทต่อคันต่อเดือน หรือไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน และคืนทุนภายใน 2 ปี

“ช่วงครึ่งหลังปีนี้ บริษัทเตรียมเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานเมนูใหม่ๆ เพื่อสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้ผู้บริโภค เช่น เมนูขาหมูยูนนาน พะโล้หมู ไส้หมูพะโล้ เมนูยำ ลาบ ส้มตำ และไก่ย่าง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคที่ต้องการออกจากบ้านพักอาศัยน้อยลง สอดรับกับวิถีดำรงชีวิตใหม่แบบ New Normal”

นอกจากนี้ เน้นการพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ในการขายสินค้าอาหารพื้นเมืองผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ E-Commerce (shop.sorkon.co.th) และขายผ่านแพลตฟอร์ม Online Market Place อย่าง Shopee พร้อมพัฒนาระบบหลังบ้าน ซึ่งเป็นการบันทึกข้อมูลพฤติกรรมการซื้อสินค้าแต่ละกลุ่มลูกค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดแผนการตลาดให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง

ดังนั้น เมื่อนำระบบแพลตฟอร์มที่มีความทันสมัยเข้ามาช่วยทุกทางจะสามารถกระตุ้นยอดขายได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว เนื่องจากทุกช่องทางสามารถสนับสนุนกัน ทั้ง Food Delivery ที่ในปัจจุบันมีอัตราเติบโตขึ้นหลายเท่าตัว การสั่งอาหารแบบ Takeaway ผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ เช่น GrabFood, LINE MAN และ foodpanda ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคและฟูดทรัคสามารถเป็นจุดกระจายสินค้าเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นด้วย

แน่นอนว่า สมรภูมินี้จะไม่ใช่มีแค่ ส. ขอนแก่น เท่านั้น แต่หลายแบรนด์ร้านอาหารรายใหญ่ต่างกำลังเร่งรุกเข้าสู่ช่องทางฟูดทรัค ไม่ใช่แค่การดิ้นแสวงหารายได้ใหม่ ตลาดใหม่ แต่เป้าใหญ่ คือ การสู้วิกฤตเศรษฐกิจที่ยังต้องฝ่ามรสุมอีกหลายลูก

ใส่ความเห็น