วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > On Globalization > ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อชีวิตผู้หญิงอินเดีย

ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อชีวิตผู้หญิงอินเดีย

Column: Women in wonderland

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นเวลามากกว่า 10 เดือนแล้ว และสถานการณ์ในหลายประเทศก็ยังคงมีการแพร่ระบาดสูง หรือบางประเทศที่เริ่มควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีระดับหนึ่ง อย่างนิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็เริ่มกลับมาแพร่ระบาดอีกตามเมืองใหญ่ๆ และยังไม่มีประเทศไหนที่ประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนออกมาใช้ได้

กระทรวงสาธารณสุขอินเดียรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 คนแรกของประเทศเมื่อ 3 มีนาคม 2020 และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนพบผู้ติดเชื้อไวรัสมากกว่า 100 คน เมื่อ 27 มีนาคม 2020 และ 500 คน เมื่อ 4 เมษายน 2020

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในอินเดียเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ วันที่ 17 กรกฎาคม 2020 จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสมากกว่า 1 ล้านคน ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง มีการยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นกว่า 32,000 คน ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่เสียชีวิตแล้วมากกว่า 25,000 คน ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและบราซิล

อินเดียมีประชากรประมาณ 1.3 พันล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แบบแออัด รวมไปถึงในพื้นที่ที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ที่สำคัญอย่างกรุงนิวเดลีและมุมไบนั้น ระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างแย่ทำให้การป้องกัน การให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนในการป้องกันตัวเองเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และการรักษาผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงตามเมืองใหญ่ๆ ที่แม้จะมีระบบสาธารณสุขดีกว่าแต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่อย่างแออัด จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์อินเดียมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50,000 คนต่อวัน โดยกระทรวงสาธารณสุขอินเดียรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2020 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 50,000 คนทุกวัน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศทะลุ 2 ล้านคน

6 สิงหาคม 2020 อินเดียมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 4.2 ล้านคน ภายในเวลา 24 ชั่วโมงพบผู้ติดเชื้อประมาณ 90,000 คน และเมื่อ 7 กันยายน 2020 อินเดียมีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

รัฐบาลอินเดียประกาศปิดประเทศและให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ ต้องปิดร้านเป็นการชั่วคราว ทำให้อินเดียประสบปัญหาเดียวกับประเทศอื่นๆ คือผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีผู้คนจำนวนมากต้องตกงาน จากการสำรวจในหลายๆ ประเทศ พบว่าส่วนใหญ่คนที่ตกงานจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อินเดียก็เช่นเดียวกัน

สถานการณ์ตกงานของผู้หญิงในอินเดียค่อนข้างเลวร้ายกว่าในประเทศอื่นตรงที่ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้หญิงอินเดียก็ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในทุกด้าน อินเดียถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 112 จาก 153 ประเทศในการจัดอันดับความไม่เท่าเทียมกันในสังคมของ World Economic Forum 2020 ซึ่งผู้หญิงในอินเดียไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการศึกษาเทียบเท่ากับผู้ชายอินเดีย ในด้านการทำงาน ผู้หญิงอินเดียน้อยกว่า 1 ใน 4 ที่สามารถหางานทำได้ นี่ถือเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างแย่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะการที่ผู้หญิงหางานทำได้น้อย ทำให้อินเดียกลายเป็น 10 ประเทศที่มีจำนวนผู้หญิงทำงานน้อยที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่อินเดียมีประชากรผู้หญิงถึง 49% แต่กลับมีผู้หญิงเพียงแค่ 18% ที่สามารถทำงานเลี้ยงดูตัวเองได้ และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ผู้หญิงอินเดียที่สามารถหางานทำได้ก็มีรายได้น้อยกว่าผู้ชายที่ทำงานลักษณะเดียวกันถึง 35% ถือว่าเป็นช่องว่างรายได้ที่มีขนาดใหญ่มาก เพราะโดยเฉลี่ยแล้วช่องว่างรายได้จะอยู่ที่ประมาณ 16% จากค่าเฉลี่ยทั่วโลก

แน่นอนว่าหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบมากและจำเป็นต้องปิดตัวลงจำนวนมาก จากสถิติเมื่อปี 2016 มีผู้หญิงอินเดีย 13.8% เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การศึกษา และงานเสริมสวย ซึ่งกิจการเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ทำให้ระยะเวลา 2 เดือน (มีนาคม-เมษายน) มีผู้หญิงอินเดียอย่างน้อย 4 ใน 10 คน หรือประมาณ 17 ล้านคนตกงาน

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการตกงานของผู้หญิงอินเดีย คือการมีภาระงานบ้านและการดูแลครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่าเดิม จากปกติที่มีภาระงานที่ต้องทำเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ภาระงานเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนผู้หญิงอินเดียที่สามารถหางานทำได้น้อยลงไปอีก และอาจเป็นการกดดันทางอ้อมให้ผู้หญิงอยู่บ้านเพื่อทำงานบ้านดูแลครอบครัว ดีกว่าออกไปหางานทำนอกบ้าน

ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เริ่มนโยบายผ่อนปรนการปิดประเทศไปบางส่วน แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะยังคงเพิ่มขึ้นก็ตาม จากนโยบายผ่อนปรนทำให้ร้านค้าและบริษัทกลับมาเปิดได้ตามปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ แม้ร้านค้าและบริษัทต่างๆ จะกลับมาเปิดทำการ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ทำให้มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องตกงานเพิ่ม และหากบริษัทหรือร้านค้าต้องการคนทำงานเพิ่มก็น่าจะเลือกผู้ชายเข้ามาทำงานก่อน หรือหากผู้หญิงได้โอกาสในการเข้าไปทำงานก็อาจจะเจอข้อเรียกร้องจากนายจ้างที่ต้องการจ่ายค่าจ้างถูกลงและทำงานหนักมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ความเท่าเทียมในสังคมของอินเดียแย่ลงไปอีก

แม้ว่าอินเดียจะมีการผ่านกฎหมาย Mahatma Gandhi National Rural Employment Guarantee Act ในปี 2005 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่มีรายได้น้อยว่า ทุกคนจะมีงานที่ดีทำได้ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จัดหางานเหล่านั้นให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย แต่งานเหล่านี้ผู้หญิงมักไม่ได้รับเลือก เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะเลือกผู้ชายเข้าทำงาน และผู้หญิงจะได้งานทำก็ต่อเมื่องานนั้นผู้ชายไม่เลือกทำ ดังนั้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้ผู้หญิงแทบไม่เหลือตัวเลือกในการหางาน

ผู้หญิงอินเดียที่สามารถหางานทำได้จะได้รับการยอมรับและมีอำนาจต่อรองมากขึ้นกับคนในครอบครัว กลายเป็นคนหลักในการหารายได้มาดูแลทุกคน เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่ตกงานในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวอย่างมาก

International Labour Organization คาดการณ์ว่าผู้หญิงอินเดียส่วนใหญ่จะทำงานในโรงงานเย็บผ้า ซึ่งไม่ได้มีสวัสดิการหรือการคุ้มครองใดๆ สำหรับแรงงานที่ดีมาก เมื่อโรงงานต้องปิดลงชั่วคราว ทำให้ผู้หญิงกว่า 70% ในอินเดียตกงาน และอาจไม่ได้รับเงินชดเชยด้วย การแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และกว่าที่ผู้หญิงจะสามารถกลับมามีงานทำและดูแลตัวเองและครอบครัวได้เหมือนเดิมน่าจะใช้เวลามากกว่าผู้ชายหลายเท่า ทำให้สถานะความเท่าเทียมในการทำงานถอยหลังไปมากกว่า 10 ปี

ทางออกสำหรับผู้หญิงอินเดียคือ หลายครอบครัวบังคับให้ลูกสาวแต่งงาน เพื่อเป็นการรับประกันว่าพวกเธอจะมีอนาคตที่ดีกว่าการตกงานและไม่รู้จะหางานทำได้เมื่อไหร่ ดังนั้นการแต่งงานจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และตั้งแต่รัฐบาลอินเดียประกาศปิดประเทศมีผู้ส่งคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเพิ่มขึ้นกว่า 30%

สำหรับครอบครัวคนอินเดียอาจมองว่าการแต่งงานเป็นการรับประกันอนาคตที่น่าจะดีที่สุดสำหรับลูกสาวในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่การแต่งงานจะทำให้ผู้หญิงอินเดียแทบไม่มีโอกาสกลับไปหางานทำ เพราะภาระดูแลครอบครัวจะเพิ่มมากขึ้น และในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ หากผู้ชายไม่อนุญาตผู้หญิงก็ไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้ และนี่จะส่งผลกระทบต่อประเทศอินเดียโดยตรง ที่ในสถานการณ์ปกติก็มีผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านน้อยอยู่แล้วให้ยิ่งน้อยไปอีก อาจทำให้สถานะความเท่าเทียมในสังคมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในประเทศอินเดียอยู่ในขั้นวิกฤต

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/rural-women-of-india-1327839

ใส่ความเห็น