วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > เอสเอ็มอีท่องเที่ยวไทย เผชิญวิกฤตที่ยังไร้ทางออก

เอสเอ็มอีท่องเที่ยวไทย เผชิญวิกฤตที่ยังไร้ทางออก

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทยที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก และเมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้สร้างผลกระทบเชิงลบในทุกระนาบ โดยที่ไม่อาจรู้ได้เลยว่า เมื่อใดสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตโควิด-19 คือ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แม้ว่าในห้วงเวลาปัจจุบันไวรัสจะยังคงอยู่บนโลกนี้อย่างไม่มีวี่แววว่าจะจางหายไป แต่สถานการณ์การส่งออกของไทยยังพอมีแรงที่จะขับเคลื่อนไปได้บ้าง เมื่อไทยยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่ประเทศคู่ค้าต้องการ ขณะที่ภาคการลงทุนที่เหล่านักลงทุนยังต้องมองสถานการณ์ในหลายๆ ด้านประกอบการตัดสินใจ ทั้งเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองที่เริ่มส่งสัญญาณความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเลื่อนการลงทุนในไทยออกไป เมื่อยังมองหาเสถียรภาพที่มั่นคงได้ยากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลายฝ่ายยอมรับว่าครั้งนี้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวประสบกับวิกฤตของจริง เมื่อรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 70-80%

โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยปี 2562 ประมาณ 39.7 ล้านคน และสร้างรายได้มากถึง 1.93 ล้านล้านบาท ขณะที่ปีนี้ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับไวรัสร้ายนี้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) มีจำนวนเพียง 6.69 ล้านคน และสร้างรายได้รวม 3.32 แสนล้านบาท

ซึ่งหากเปรียบเทียบตัวเลขรายได้กับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจะพบว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไปประมาณ 4.89 แสนล้านบาท

การสูญเสียรายได้หลักของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลให้มีผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจดทะเบียนขอเลิกประกอบกิจการประมาณ 90 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 39 ราย เชียงใหม่ 9 ราย ภูเก็ต 9 ราย และสุราษฎร์ธานี 5 ราย

ตัวเลขดังกล่าวแม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่สูงนัก และอาจจะไม่ได้เกิดจากผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เพียงอย่างเดียว ทว่า สิ่งที่ตามมาเมื่อผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเลิกกิจการ ย่อมมีผลต่อธุรกิจอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่นี้เช่นกัน ทั้งธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ที่พัก ธุรกิจมัคคุเทศก์ ธุรกิจร้านอาหาร หรือธุรกิจรถเช่าสำหรับท่องเที่ยว ที่ประกาศปิดกิจการในพื้นที่กรุงเทพฯ 77 ราย เชียงใหม่ 30 ราย ภูเก็ต 12 ราย และ สุราษฎร์ธานี 31 ราย

จำนวนการขอเลิกประกอบกิจการที่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวข้างต้นประมาณ 240 รายนั้น ชี้ให้เห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นยาวนานเกินกว่าจะประคองธุรกิจให้ไปต่อได้แล้ว แม้ความหวังภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันจะอยู่ที่นักท่องเที่ยวภายในประเทศ ทว่า สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกลายเป็นตัวชี้วัดอนาคตของผู้ประกอบการในอนาคต

สถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศยังมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่เป็นจำนวนมาก และแม้ว่าบางประเทศจะมีผู้ติดเชื้อลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ดีอย่างเช่น จีน ไต้หวัน ทว่าผู้คนในประเทศเหล่านี้กลับยังไม่สามารถที่จะเดินทางออกนอกประเทศและใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะสภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง

ตัวเลือกเดียวที่ไทยมีอยู่ ในการที่จะใช้ความพยายามอีกครั้งเพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ได้ คือ การกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทว่า นโยบายก่อนหน้าที่ชื่อโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กลับไม่สามารถสร้างให้เกิดกระแสได้อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง

เพราะสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องยอมรับคือ แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ แต่นั่นก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เมื่อพิจารณาสถิตินักท่องเที่ยวไทย ที่เดินทางเที่ยวในประเทศปี 2562 มีประมาณ 166 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1.08 ล้านล้านบาท

กระนั้นภายใต้สถานการณ์ที่ไม่อาจคาดหวังได้ ยังมีความหวังริบหรี่ปรากฏขึ้น เมื่อคณะรัฐมนตรีประกาศให้วันที่ 4 และ 7 กันยายน 2563 เป็นวันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ ด้านผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยุทธศักดิ์ สุภสร คาดว่าช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะช่วยให้ตลาดการท่องเที่ยวในไทยดีขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และอาจจะดีกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากเดิมที่ปกติในเดือนกันยายนไม่มีวันหยุด

ขณะที่โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน กรกฎาคมถึงตุลาคม 2563 มีประชาชนลงทะเบียนเข้ารับสิทธิประมาณ 5 ล้านคน แต่ยอดใช้สิทธิเพื่อซื้อห้องพักเพียง 5 แสนกว่าคืน หรือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของโควตา 5 ล้านคืน

ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า คนไทยยังอยู่ในภาวะเฝ้าระวังการจับจ่ายอยู่พอสมควร เมื่อการพัฒนาวัคซีนที่เป็นเสมือนทางออกของวิกฤตนี้ ยังไม่มีผู้ใดตอบได้ว่าวัคซีนที่สมบูรณ์แบบจะพร้อมใช้งานเมื่อไหร่ และมีความเป็นไปได้ว่า การระบาดรอบสองอาจเกิดขึ้นได้ หากมีการควบคุมหละหลวมมากขึ้น

ในขณะที่สถานการณ์ด้านการเมืองยังคุกรุ่นอยู่ทุกขณะ ต้องยอมรับว่าการออกมาเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงแม้ไม่ได้ส่งผลในทางตรงต่อสภาพเศรษฐกิจ แต่ส่งผลทางอ้อมต่อความมั่นคงด้านความรู้สึกของผู้คน ความไม่มั่นคงในหลายๆ ด้านทำให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว

แม้ว่าช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาจะเห็นภาพผู้คนเดินทางออกนอกเมืองไปท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อพิจารณาจากการใช้จ่ายต่อหัวกลับไม่สูงมากนัก

ห้วงยามนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาใน 3 ประเด็นหลัก 1. การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายคงที่ ด้วยการยืดระยะเวลาพักต้นพักดอกเบี้ย ขอความช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคมเพื่อดูแลแรงงานและจ่ายค่าไฟฟ้าตามจริง

2. การพยุงธุรกิจและการจ้างงาน เน้นช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการเป็นหลัก เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การตั้งกองทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเงินกู้ง่ายขึ้น และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อสัดส่วนการค้ำประกัน

3. การสร้างรายได้เพิ่ม เร่งเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม Safe and Sealed Area ที่เน้นความปลอดภัย ควบคุมดูแลแบบพิเศษ

ขณะที่วรสิทธิ์ ผ่องคำพันธุ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยเริ่มคลี่คลาย เพราะเกาะสมุยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 98 เปอร์เซ็นต์

โดยสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย เตรียมเสนอ ศบค. ชุดเล็กในการเข้าร่วมเป็นสถานที่กักตัวแห่งรัฐทางเลือกหรือ Alternative State Quarantine (ASQ) ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องผ่านการตรวจ PCR มีใบรับรองแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง จากประเทศต้นทางก่อนทำวีซ่า และต้องถูกทดสอบด้วยการทำสวอป 2 รอบที่สนามบินสุวรรณภูมิ และทำซ้ำอีกรอบเมื่อเดินทางเข้าเกาะสมุย พร้อมถูกกักตัว 14 วันในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน ASQ หากผลเป็นลบจะได้รับริชแบนด์สวมใส่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ และต้องเดินทางเข้าไทยด้วยสายการบินไทยเท่านั้น โดยทำโปรโมชั่นราคาพิเศษ ส่วนต่างรัฐเป็นผู้ออก ส่วนประเทศที่เปิดนำร่องให้เข้ามาได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เยอรมนี จีน (บางเมือง) และเวียดนาม

ไม่แน่ว่าข้อมูลของบริษัท Tourlane ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวของเยอรมนี ที่ระบุว่า จุดหมายการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวในช่วงการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 สิบอันดับ โดยอันดับ 1 คือ ประเทศไทย ตามมาด้วย จอร์แดน เฟรนช์โปลินีเซีย กรีซ อุรุกวัย อิตาลี กัมพูชา ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ และบอตสวานา อาจจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตก็เป็นได้

ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยที่สุดในโลก เพราะสามารถรักษากฎอนามัยระหว่างประเทศที่ 85 เปอร์เซ็นต์ ความหนาแน่นของประชากรอยู่ในระดับปานกลาง และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในระดับต่ำ

ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีท่องเที่ยวจำนวนกว่า 6 หมื่นราย และมีแรงงานกว่า 4.3 ล้านคน และส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับมาเปิดธุรกิจได้เหมือนเดิม ขณะที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่อยากให้ภาครัฐขยายมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยต่อไป คิดเป็น 78.9 เปอร์เซ็นต์ อีก 21.1 เปอร์เซ็นต์มองว่ายังไม่ควรขยายระยะเวลามาตรการ

ทั้งมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐที่น่าจะยังไม่เพียงพอให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประคองตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์นี้ไปได้แบบตลอดรอดฝั่ง รวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไร้กำลังซื้อ น่าจะส่งผลให้เอสเอ็มอีท่องเที่ยวเดินต่อไปได้ด้วยความยากลำบาก หรือร้ายที่สุดคือเราจะได้เห็นผู้ประกอบการปลิดปลิวจากวงการธุรกิจท่องเที่ยว

ใส่ความเห็น