วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง สัญญาณความอ่อนแอเศรษฐกิจไทย

ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง สัญญาณความอ่อนแอเศรษฐกิจไทย

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวจนไปถึงขั้นชะงักงัน ทั้งปัจจัยภายในที่ประชาชนมีกำลังซื้อลดลง ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีผลต่อความไม่มั่นใจด้านการลงทุน หรือปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่สร้างคลื่นระลอกใหญ่ส่งผลกระทบไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลก

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะวิกฤตมาได้ระยะหนึ่ง กำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด ทว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายเป็นสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย ที่ทำลายระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากเป็นวงกว้างขึ้น

นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินต่างๆ วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทยค่อยๆ ไต่อันดับลงอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส บทวิเคราะห์เศรษฐกิจจึงเป็นไปในทิศทางที่ว่า เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ถึงจะพ้นจากวิกฤตและสามารถฟื้นฟูไปถึงขั้นเติบโตได้อีกครั้ง

ความง่อนแง่นของเศรษฐกิจไทยส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศไทย เห็นได้จากความสามารถในการจับจ่ายซื้อสินค้าในปริมาณที่ลดลง และใช้จ่ายแต่เฉพาะที่จำเป็น รวมไปถึงภาวะหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ค่อยๆ สูงขึ้น

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยด้านสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพีใน 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยในปี 2560 หนี้ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 78.1 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มขึ้นเป็น 78.4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561 ในปีถัดมา 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 79.8 เปอร์เซ็นต์

กระทั่งมาถึงปี 2563 ในไตรมาสแรกที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 80.1 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า ภาคครัวเรือนของไทยกำลังรับมือกับปัญหาการหดตัวของรายได้ ซึ่งเร็วกว่าการชะลอตัวของการกู้ยืม

ทั้งนี้ แม้ภาพดังกล่าวจะตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยกำลังเผชิญ แต่ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะ 1.2 ปีข้างหน้านี้ ทำให้โจทย์เฉพาะหน้าของทางการและสถาบันการเงินยังต้องเน้นไปที่การช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้รายย่อย เพื่อช่วยประคองให้ผ่านพ้นระยะวิกฤตนี้ไปได้ก่อน

นอกจากนี้ ข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด พบเรื่องที่น่าเป็นกังวลต่อสถานการณ์นี้คือ คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย ขณะที่คนชรายังมีหนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกร และครัวเรือนมีแนวโน้มติดอยู่ในวงจรหนี้มากขึ้น

และข้อมูลของเครดิตบูโรในไตรมาส 1/2563 แสดงผลกลุ่มที่มีการสร้างหนี้มากที่สุดคือ กลุ่มเจนวาย ที่มียอดหนี้คงค้างรวมกันถึง 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียถึง 2.7 แสนล้านบาท อันดับสองคือ กลุ่มเจนเอ็กซ์ มีการก่อหนี้ 3.7 ล้านล้านบาท มีหนี้เสียอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท กลุ่มเบเบี้บูมเมอร์ มีหนี้สินคงค้างรวม 1.2 ล้านล้านบาท มีหนี้เสียอยู่ที่ 8.4 หมื่นล้านบาท และกลุ่มเจนแซด มีหนี้สินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้เสีย 1.2 พันล้านบาท

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของคนไทยมีความน่ากังวลอยู่เป็นทุนเดิม แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากพิษโควิด-19 ทำให้วิกฤตเริ่มหนักขึ้น แม้ภาครัฐและสถาบันการเงินจะมีมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ ทว่า กลับไม่ได้ทำให้ระดับหนี้สินของประชาชนลดลง

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการพักชำระหนี้ ส่งผลทำให้ระดับหนี้ไม่ลดลงมากตามภาพเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในระดับสูงนี้เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่มีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 97.7 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี ออสเตรเลีย 125 เปอร์เซ็นต์ นิวซีแลนด์ 94.7 เปอร์เซ็นต์ มาเลเซีย 82.5 เปอร์เซ็นต์ ฮ่องกง 82.1 เปอร์เซ็นต์ สิงคโปร์ 63.1 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่น 59.9 เปอร์เซ็นต์ และจีน 57.7 เปอร์เซ็นต์ (อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสิ้นไตรมาส 1/2563)

ภาพดังกล่าวสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง พร้อมๆ กับประเด็นที่ต่อเนื่องต่อคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยในระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสำหรับธนาคารพาณิชย์นั้น โจทย์เฉพาะหน้าที่ยาก จะมีอยู่ 2 เรื่อง คือ การเร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และลูกค้าบุคคลให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปก่อน และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยดูแลความสามารถในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็จะส่งผลดีต่อคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เองด้วยเช่นกัน

แม้ว่ามาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 5 ที่ภาครัฐประกาศใช้ เพื่อให้กิจการกิจกรรมสามารถดำเนินกิจการได้มากขึ้น โดยมุ่งหวังให้ธุรกิจหลายขนาดสามารถขับเคลื่อนไปได้หลังจากที่หยุดชะงักมาในระยะหนึ่ง

ทว่า เมื่อสถานการณ์โรคระบาดยังไม่สิ้นสุดเสียทีเดียว ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งยังมีความกังวลเกินกว่าที่จะออกมาใช้ชีวิตหรือกลับมาจับจ่ายซื้อสินค้าดังเดิม นั่นส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยความยากลำบาก เมื่อความเงียบเหงาแผ่ปกคลุมไปทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่ตลาดนัด ร้านค้าในชุมชน หรือกระทั่งห้างสรรพสินค้า ที่แม้จะเปิดดำเนินการแล้ว แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น

นั่นอาจจะเป็นเพราะตัวเลขรายได้ยังไม่กลับมาเท่าเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 แต่ตัวเลขหนี้สินกลับเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้ภาครัฐต้องพิจารณามาตรการการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มมากขึ้น หรือเพิ่มเงื่อนเวลาในการพักชำระหนี้ออกไป

ซึ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีออกมานั้นสอดคล้องกับมาตรการของประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่แม้ระดับหนี้ครัวเรือนจะไม่สูงเท่าของไทยก็ตาม โดย ธปท. มีมาตรการลดภาระผ่อนต่อเดือน เลื่อนการชำระหนี้ พักชำระหนี้เงินต้น เงินต้นและดอกเบี้ย ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยประคองให้ลูกหนี้สามารถก้าวข้ามภาวะวิกฤตนี้ไปก่อน ขณะที่สิงคโปร์มุ่งความสนใจไปที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยให้ลูกค้าธนาคารพาณิชย์สามารถเลื่อนระยะเวลาชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ของมาเลเซีย เป็นการพักชำระหนี้สินเพื่อรายย่อยทุกประเภทในระบบธนาคารพาณิชย์โดยอัตโนมัติ (ยกเว้นบัตรเครดิต) ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทย ในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศติดต่อกันนานนับเดือน และภาครัฐได้ผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ในระยะต่างๆ โดยผลการสำรวจพบว่า

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 36.0 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน อันเป็นผลจากภาครัฐคลายล็อกดาวน์ โดยออกมาตรการผ่อนปรนเพิ่มเติม สำหรับกิจการกิจกรรมในกลุ่มสีเหลือง (ระยะที่ 3) และกลุ่มสีแดง (ระยะที่ 4) รวมถึงยกเลิกประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาเป็นปกติ ส่งผลต่อรายได้และภาวะการจ้างงานของครัวเรือนไทย ทยอยปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2563 แต่ครัวเรือนไทยยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ เนื่องจากระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าสาธารณูปโภค อีกทั้งครัวเรือนบางส่วนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลาน ก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 1 ก.ค. 2563

ในส่วนของดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.-ก.ย. 2563) อยู่ที่ระดับ 37.4 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 35.9 ในการสำรวจครั้งก่อนเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ดัชนีฯ ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับสูงกว่าดัชนีฯ เดือนปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนมองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่ 3/2563 จะทยอยปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี สภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยยังอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐและสถาบันการเงิน ซึ่งมีผลต่อมุมมองการครองชีพของครัวเรือน จึงยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย หลังมาตรการเหล่านี้สิ้นสุดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยังมีความเปราะบางอยู่มาก แม้ภาครัฐจะมีมาตรการผ่อนปรนสำหรับทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ผลสำรวจนี้จะสะท้อนผลที่แตกต่าง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปและเราคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสฯ ในไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายรัฐในการจัดการปัญหาต่างๆ และทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ใส่ความเห็น