การแพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและการจ้างงาน ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือทุกกลุ่ม ในขณะที่แนวโน้มการเลิกจ้างยังคงมีอยู่แม้ว่าสถานการณ์การระบาดในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มจะคลี่คลาย ก่อนที่จะเกิดกรณีผู้ได้รับการยกเว้นจากต่างประเทศนำเชื้อเข้ามาใหม่อย่างไร้การควบคุม จนเป็นเหตุให้ต้องมีการพิจารณามาตรการควบคุมใหม่อีกครั้ง
ข้อมูลที่น่าสนใจจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา มีสถานประกอบการมากถึง 4,458 แห่ง ที่ยื่นขอใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกจ้างเป็นจำนวน 896,330 คน รวม 247,031 วัน โดยในจำนวนนี้หยุดกิจการบางส่วน 2,117 แห่ง หยุดกิจการทั้งหมด 3,030 แห่ง
สำหรับประเภทกิจการที่ใช้มาตรา 75 มากที่สุดอันดับ 1 อยู่ในกลุ่มของอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก อันดับ 2 เป็นกิจการโรงแรมและภัตตาคารและอันดับ 3 เป็นกิจการบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ เช่น บริการจัดหางานและการสรรหาบุคลากร การให้เช่า การขาย การซื้อและการดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์
เหตุผลหลักที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ใช้ยื่นขอแนวทางการหยุดกิจการตามมาตรา 75 นอกจากจะเป็นเพราะการระบาดของโรค COVID-19 แล้ว ยังประกอบส่วนด้วยการที่ลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อ และไม่มีคำสั่งซื้อใหม่จากลูกค้าตามปกติ ทำให้เกิดภาวะขาดทุนสะสมจำนวนมาก ซึ่งการที่ผู้ประกอบการขอใช้มาตรา 75 ในการยุติกิจการในปริมาณที่มากเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนของวิกฤตทั้งผู้ประกอบการและแรงงานที่จะได้รับผลกระทบ
ขณะที่ข้อมูลเลิกจ้างประจำปีงบประมาณ 2563 ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 ถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 พบว่ามีสถานประกอบการเลิกจ้าง 1,266 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 20,696 คน เงินสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับรวม 365.5 ล้านบาท แบ่งเป็น ออกคำสั่ง 199.7 ล้านบาท ตกลงกันได้ 165.8 ล้านบาท โดยประเภทกิจการที่เลิกจ้าง อันดับ 1 ยังเป็นกิจการภาคการผลิต โดยเฉพาะชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ การผลิตเครื่องแต่งกาย การทำเครื่องประดับจากเพชรพลอย โลหะมีค่าและไข่มุก การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่น
กลุ่มที่มีการเลิกจ้างเป็นอันดับ 2 อยู่ในภาคของการขายส่ง ขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ครัวเรือน การขายปลีกยานยนต์ การขายส่งสินค้าประเภทอื่น การขายส่งสินค้าเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและส่วนประกอบ ร้านขายปลีกอื่น
ธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ บริการจัดหางานและการสรรหาบุคลากร การให้เช่า การขาย การซื้อและการดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ บริการรักษาความปลอดภัย เป็นกลุ่มที่มีการเลิกจ้างเป็นอันดับ 3 ซึ่งสาเหตุของการเลิกจ้างหลักอยู่ที่การขาดทุนสะสมจำนวนมาก และไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้า การระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้เกิดความยากลำบากในการประกอบกิจการ และทำให้ต้องเลิกกิจการในที่สุด
ประเด็นความน่ากังวลใจสำหรับการเลิกจ้างที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้ ในด้านหนึ่งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีสภาพคล่องทางการเงินหรือขาดทุนสะสมต่อเนื่อง เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในห้วงเวลาเช่นนี้ จึงต้องหยุดกิจการไปโดยปริยาย ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3 จะมีผู้ประกอบการหยุดกิจการและเลิกจ้างอีกเป็นจำนวนมาก
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจและเกิดขึ้นแล้ว อยู่ที่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จำนวนเงินที่ฝ่ายผู้ประกอบการหรือนายจ้างตกลงกันได้กับฝ่ายลูกจ้างมีเพียง 4 แสนบาท ส่วนเงินชดเชยอีกจำนวนกว่า 4.9 ล้านบาท ต้องมีการออกคำสั่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการถูกเลิกจ้างในช่วงเวลาหลังการระบาด COVID-19 จากนี้มีแนวโน้มที่ลูกจ้างจะถูกละเมิดสิทธิ และต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมายหรือคำสั่งจากรัฐเข้าไปหาข้อเท็จจริงว่าสถานประกอบการที่เลิกจ้างมีสถานภาพอย่างไร
ความเป็นไปของตลาดแรงงานไทยในช่วงเวลาหลังการระบาด COVID-19 ดูจะตั้งอยู่บนฐานความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะนอกจากแรงงานที่เคยอยู่ในระบบเดิมจะทยอยถูกเลิกจ้างจากการหยุดกิจการของผู้ประกอบการแต่ละราย รวมถึงการปรับตัวของธุรกิจแต่ละประเภทเป็นจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบนับล้านรายแล้ว บัณฑิตหรือผู้สำเร็จการศึกษาที่รอคอยเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมากกว่า 5 แสนรายก็มีแนวโน้มที่จะว่างงานอีกด้วย
ภายใต้สถานการณ์ที่ตลาดการจ้างงานภายในประเทศถูกบีบให้แคบลงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ แนวความคิดที่จะส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศ ดูจะเป็นทางเลือกที่มีความน่าสนใจ หากแต่ข้อเท็จจริงในห้วงสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ที่การระบาดของโรคทำให้มีการควบคุมการเคลื่อนที่ของประชากรและกลุ่มแรงงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับการยกเว้น
แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างแดนจะเป็นกลุ่มที่นำเงินเข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านบาท แต่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทำให้การคาดหวังที่จะส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศหลัง COVID-19 คลี่คลายจึงดูจะเป็นสิ่งยากลำบากและท้าทายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าในห้วงเวลาก่อนที่จะได้งานใหม่ในต่างประเทศ กลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือว่างงานอยู่ในขณะปัจจุบันนี้ จะได้รับการเยียวยาอย่างไร
กรอบโครงในเชิงนโยบายเพื่อกำหนดมาตรฐานแรงงานในช่วงวิกฤต COVID-19 และมาตรการของภาครัฐ นอกจากจะต้องคุ้มครองแรงงานในสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบการ ผ่านการบังคับใช้มาตรการความปลอดภัยและชีวอนามัย การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ทั้งการทำงานผ่านระบบออนไลน์ สลับตาราง รวมถึงการจัดหาการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ และขยายสิทธิการให้ลาป่วยโดยได้รับเงินค่าตอบแทนแล้ว
กลไกภาครัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการแรงงาน ผ่านนโยบายทางการคลังเชิงรุก นโยบายทางการเงินที่ผ่อนปรน การสนับสนุนเงินกู้และช่วยเหลือด้านการเงินกับบางอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและรายได้เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน การขยายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับทุกคน ทั้งการทำงานระยะสั้น การหยุดงานโดยได้รับค่าตอบแทนและความช่วยเหลืออื่นๆ การผ่อนปรนทางด้านภาษีและการเงินกับสถานประกอบการรายย่อย
จริงอยู่ที่ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกมาตรการภาครัฐมาช่วยเหลือแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสิทธิผู้ประกันตน การลดอัตราการจ่ายเงินสมทบในส่วนของประกันสังคม โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน โครงการจ้างงานเร่งด่วน และฝึกทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อช่วยแรงงานนอกระบบ โครงการจ้างบัณฑิตที่ว่างงานเพื่อให้เป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ จำนวน 1,682 ตำแหน่ง และเปิดคอร์สออนไลน์เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในอนาคตหลังวิกฤต COVID-19
หากแต่ภายใต้สถานการณ์ว่าด้วยแรงงานและการว่างงานที่กำลังเกิดขึ้นจากผลของ COVID-19 และความถดถอยทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ดูจะมีความน่ากังวลมากกว่าความวิตกว่าจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่คล้ายจะเป็นเพียงมายาภาพ ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่แหลมคมและกำลังทิ่มแทงสังคมไทยอยู่ในขณะนี้
การปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมาในด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดการหลั่งไหลของแรงงานในเมืองกลับสู่ภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไม่สามารถหาเลี้ยงชีพต่อไปได้ การกลับภูมิลำเนาจึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่งสำหรับความอยู่รอดและสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งภาคการเกษตรยังเป็นหลักพิงเพื่อความอยู่รอดและการหาเลี้ยงชีพ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประมาณการไว้ว่าอาจจะมีแรงงานที่กลับภูมิลำเนาประมาณ 76,000 ราย
แต่สถานการณ์และบริบททางสังคม เศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาปัจจุบันแตกต่างจากสภาพแวดล้อมในปี 2540 ไปมากแล้ว สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรไม่ใช่แค่วิกฤต COVID-19 แต่เพียงอย่างเดียว หากยังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องภัยแล้งร่วมด้วย โดยในปี 2563 ปัญหานี้ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างมาก และทำให้แรงงานภาคการเกษตรต้องมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
สิ่งที่ต้องพิจารณานับจากนี้จึงอยู่ที่ว่าสังคมไทยมีศักยภาพอย่างไรในการสร้างความยั่งยืนและสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ภาคการเกษตรที่ควรเป็นหลักอิงสำคัญของสังคมควรมีวิถีการผลิตแบบใด ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบเกษตรกรรมยั่งยืน มีความปลอดภัยและมีความมั่นคงทางอาหาร
ขณะที่สวัสดิการของแรงงานและเกษตรกรที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานรับจ้างภาคการเกษตรให้ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งสวัสดิการของเกษตรกรควรครอบคลุมถึงเรื่องการประกันราคาผลผลิตและการประกันความเสี่ยงด้วย
นี่อาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้วมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการมากกว่าที่จะจัดแถลงความคืบหน้าในการควบคุมโรค COVID-19 อย่างไม่อาจเทียบได้