การประกาศจับมือกันระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ 2 ประเทศ อย่างบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ผู้ให้บริการทางการแพทย์และบริการด้านสุขภาพแบบครบวงจรของไทย กับกลุ่มผิงอัน เฮลธ์ (PING AN HEALTH) ผู้นำธุรกิจประกันแห่งแดนมังกร ถือเป็นการลั่นกลองรบครั้งสำคัญ เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical & Health Tourism) ที่เคยมีมูลค่ามากกว่า 3 แสนล้านบาท
ที่สำคัญ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทางการแพทย์ ด้านหนึ่งถือเป็นอีกทางรอดของกลุ่มโรงพยาบาลที่กำลังเจอวิกฤตรายได้ติดลบจากพิษ “โควิด-19” เพื่อขยายสัดส่วนกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่หายไปเป็น “0” ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
อีกด้านหนึ่งยังหมายถึงรายได้ก้อนใหม่จำนวนมหาศาล เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจในสถานการณ์ที่การท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมและมีแนวโน้มยืดเยื้อยาวนานถึงปี 2564-2565 จนกว่าการคิดค้นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอันตรายตัวนี้จะประสบความสำเร็จ มีการใช้อย่างแพร่หลายและสร้างความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจน คือตัวเลขการท่องเที่ยว ซึ่งล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตัดสินใจปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 8.2 ล้านคน ลดลง 80% จากปีก่อนที่มีจำนวนมากถึง 39 ล้านคน และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 80% เช่นเดียวกัน เหลือ 3.96 แสนล้านบาท จากปี 2562 มีรายได้ 1.9 ล้านล้านบาท หรือรายได้หายไปประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวไทยคาดอยู่ที่ 70 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 58% สร้างรายได้ประมาณ 4.18 แสนล้านบาท ลดลง 61% หรือรายได้หายไป 6.82 แสนล้านบาท
เมื่อรวมกันส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 8.14 แสนล้านบาท ลดลง 70% จากปี 2562 มีประมาณ 3.01 ล้านล้านบาท หรือรายได้หายไป 2.19 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างชัดเจนในไตรมาส 4 แบบค่อยเป็นค่อยไป
ขณะที่นโยบาย “Travel Bubble” หรือมาตรการจับคู่กลุ่มประเทศที่จะร่วมมือกันเปิดให้นักท่องเที่ยวที่เป็นประชากรของ “ประเทศในกลุ่ม” เดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันอย่างเสรี โดยเริ่มจากการจับคู่ประเทศในภูมิภาคที่การระบาดลดน้อยลงหรือสถานการณ์ดีขึ้นเช่นเดียวกับไทย และนำร่องเจรจาแล้ว 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีนั้น
ปรากฏว่ากระทรวงคมนาคมและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุชัดเจนต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดระลอก 2 และกำลังจับตาสถานการณ์การระบาดในประเทศต่างๆ หากการระบาดยังไม่มีท่าทีลดลง การเจรจากับประเทศอื่นๆ จะต้องหยุดชะงักไว้ก่อน
นั่นทำให้การเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติจึงถูกจำกัดเฉพาะ 11 กลุ่มที่ได้รับการอนุมัติตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 12 ภายใต้การคุมเข้มมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น บุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ซึ่งมาปฏิบัติงานในไทย บุคคลในหน่วยงานระหว่างประเทศตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น รวมทั้งคู่สมรส บิดามารดาหรือบุตรของบุคคลดังกล่าว และผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษกับต่างประเทศ และ “กลุ่มต่างชาติที่มารักษาในไทย”
ดังนั้น กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการผ่อนคลายให้กลุ่มต่างชาติที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาลในไทย ซึ่งไม่ใช่โควิด-19
ทั้งนี้ หากเจาะเฉพาะกลุ่มต่างชาติที่มารักษาในไทย มีมาตรการก่อนเดินทางเข้าประเทศ ประกอบด้วย 1. เลี่ยงพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ชุมชนไม่น้อยกว่า 14 วัน
2. มีเอกสารเพื่อเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่ หนังสือรับรองว่าเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (COE) ใบรับรองแพทย์ Fit to Fly ใบรับรองแพทย์ยืนยันไม่ติดเชื้อโควิด-19 (ไม่เกิน 72 ชั่วโมง) เอกสารหลักประกันสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล กรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมโรคโควิด-19 วงเงินไม่น้อยกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ หลักฐานแสดงว่าสถานที่กักตัวเป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด หนังสือรับรองของสถานพยาบาลจากประเทศต้นทาง และหนังสือรับรองของสถานพยาบาลในราชอาณาจักรที่ยืนยันการกักตัวไม่น้อยกว่า 14 วัน
3. ผ่านการคัดกรองจากประเทศต้นทาง (Exit Screening)
เมื่อเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว จะมีมาตรการต่างๆ อีก ได้แก่ การคัดกรอง การยื่นเอกสาร การเดินทางโดยพาหนะของสถานพยาบาล ใช้ระบบติดตามตามที่กำหนด ต้องเข้ารับการกักกันไม่น้อยกว่า 14 วัน ส่วนกรณีเข้ารับการรักษาไม่ครบ 14 วัน ให้กักกันต่อจนครบ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นความพยายามผ่อนคลายเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการระบาดระลอกสองในประเทศไทย
แน่นอนว่า กลุ่มโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ต่างต้องการกลุ่มลูกค้าต่างชาติ เนื่องจากมีกำลังซื้อสูงกว่าคนไทยหลายเท่าตัว ซึ่งดูเหมือนว่า กลุ่ม BDMS สามารถพลิกสถานการณ์และงัดกลยุทธ์เดินหน้าธุรกิจเจาะตลาดต่างชาติได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการบรรลุข้อตกลงกับ ผิงอัน เฮลธ์ บริษัทในเครือผิงอัน อินชัวรันส์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันรายใหญ่ในประเทศจีน มีฐานลูกค้าหลากหลาย ทั้งลูกค้าประกันชีวิต จำนวนประมาณ 63 ล้านคน ลูกค้าประกันรถยนต์ 50 ล้านคน ลูกค้าธนาคาร 69 ล้านคน ลูกค้าบัตรเครดิต 57 ล้านคน ลูกค้าหลักทรัพย์และกองทุน 47 ล้านคน อื่นๆ 50 ล้านคน เพื่อดึงผู้ป่วยจีนมารักษาพยาบาลในไทย และยังสอดรับแผนส่งเสริมสุขภาพของทางการจีนที่กำหนดเป้าหมายต้องการให้ประชาชนกว่า 100 ล้านคนมีสุขภาพที่ดีภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า
นางนฤมล น้อยอ่ำ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS กล่าวว่า บริษัทใช้เวลาเจรจากับกลุ่มผิงอัน เฮลธ์ นานกว่า 1 ปีครึ่ง และถือเป็นครั้งแรกของ BDMS ที่เข้าไปทำตลาดในประเทศจีนอย่างจริงจัง เนื่องจากเห็นโอกาสขยายฐานลูกค้าต่างประเทศไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งแง่ปริมาณคนไข้และกำลังซื้อ จากเดิมบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าคนไทย 70% กลุ่มลูกค้าต่างชาติ 30% โดยกลุ่มลูกค้าต่างชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น เมียนมา จีน และกลุ่มสแกนดิเนเวีย
บริษัทคาดว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าจีนติดท็อปทรีจากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 1-2% หรือเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,000-4,000 คนต่อปี และสร้างรายได้จากกลุ่มลูกค้าคนจีนในปีแรก ไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท โดยพยายามเน้นย้ำจุดแข็งของ BDMS แนวทางการรักษาที่หลากหลายและบริการสุขภาพที่พัฒนาขึ้นเฉพาะกลุ่มลูกค้า PING AN HEALTH
เช่น โปรแกรมการตรวจร่างกายพื้นฐาน โปรแกรมการตรวจและรักษาโรคเฉพาะทางทั้งระดับทั่วไปและที่มีความซับซ้อนโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โปรแกรมตรวจคัดกรองและการรักษาโรคมะเร็ง การรักษาด้านศัลยกรรมกระดูก การผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกและการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า การรักษาโรคหัวใจและระบบประสาท
นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการในเครือข่าย BDMS ที่มีจำนวนมากถึง 49 แห่ง จำนวนเตียงรองรับ 6,000 เตียงใน 6 กลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาล BNH และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล
ขณะเดียวกัน กลุ่ม BDMS ยังมีโรงแรม Movenpick BDMS Wellness Resort Bangkok รองรับการพักอาศัย โดยมีห้องพักรวม 294 ห้อง และเป็นศูนย์สุขภาพเวลเนสระดับสากล เชื่อมโยงกับ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ซึ่งมีคลินิกดูแลสุขภาพหลากหลาย ทั้งคลินิกเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Regenerative Clinic) คลินิกสุขภาพสมองและความจำ (Neuroscience Clinic)
คลินิกสร้างเสริมและฟื้นฟูระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal and Sports Clinic) คลินิกป้องกันดูแลเส้นเลือดหัวใจ (Preventive Cardiology Clinic) คลินิกสุขภาพทางเดินอาหาร (Digestive Wellness Clinic) คลินิก บีดับเบิลยูซี (BWC Dental Clinic) และคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก (Fertility Clinic) เน้นให้บริการการแพทย์อาศัยการดูแลแบบองค์รวมที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคล
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่มีเพียงกลุ่ม BDMS ที่เร่งเปิดศึกช่วงชิงเม็ดเงินจากกลุ่มเมดิคอลทัวริซึม เพราะโรงพยาบาลระดับไฮเอนด์ต่างลงทุนรองรับลูกค้าต่างชาติต่อเนื่อง เช่น โรงพยาบาลพระราม 9 โรงพยาบาลเอกชัย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และกลุ่มธนบุรีเฮลท์แคร์กรุ๊ปที่ลงทุนเปิดโรงพยาบาลบำรุงเมือง เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มเป้าหมายของบิ๊กเนมเหล่านี้เป็นกลุ่มคนจีนเช่นเดียวกัน รวมถึงกลุ่ม CLMV
ดังนั้น หากย้อนดูข้อมูล Global Wellness Institute ที่เคยระบุมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลก สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 320,000 ล้านบาท มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทยมากกว่า 12.5 ล้านทริป แต่ยังเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพียง 60,000-70,000 คนต่อปี สร้างรายได้ประมาณ 23,000 ล้านบาท
นี่ย่อมหมายถึงโอกาสการเติบโตหลายเท่าตัว โดยเฉพาะยุคโควิด-19 ที่ประเด็นเรื่อง “สุขภาพ” มาเหนือทุกสิ่ง และผลลัพธ์การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดน่าจะเป็นสิ่งยืนยันความสามารถของระบบสาธารณสุขไทยได้อย่างดีที่สุดด้วย