วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > 38 ปี โรงแรมรอยัล ออคิด สมบัติผลัดกันฟันกำไร

38 ปี โรงแรมรอยัล ออคิด สมบัติผลัดกันฟันกำไร

“รอยัล ออคิด” ปักหมุดสร้างความหรูหราริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาบนเส้นทางธุรกิจนานเกือบ 40 ปี โดยเปลี่ยนผ่านมือทุนยักษ์ใหญ่หลายค่าย กลายเป็น “สมบัติ” ผลัดกันสร้างรายได้และกำไร จนล่าสุด ผู้ถือหุ้นใหญ่ยุคปัจจุบัน คือ บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ในเครือ “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” ประกาศเร่งเปลี่ยนมือปิดดีลขายกิจการโรงแรมแห่งนี้ภายในเดือนกรกฎาคม และคาดว่าจะฟันมูลค่าเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท

หากถามถึงเหตุผลสำคัญในการตัดขายกิจการ ทั้งที่ทีมผู้บริหารระบุทุกครั้งกับสื่อว่า รอยัล ออคิด เชอราตัน มีทำเลริมน้ำดีเยี่ยม อยู่ฝั่งตรงข้ามกับแลนด์มาร์กขนาดใหญ่ “ไอคอนสยาม” และอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งศูนย์การค้าเอเชียทีค ศูนย์การค้าแนวศิลปะ ล้ง 1919 และตลาดเก่าแก่คลองสาน

คำตอบ คือ เรื่องความถนัด เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการสร้างที่อยู่อาศัยหลากหลายรูปแบบและโครงการในอนาคตพุ่งเป้าโปรเจกต์มิกซ์ยูส ขณะที่การเลือกตัดขายกิจการสามารถสร้างผลกำไรมากกว่า ซึ่งโชคดีที่พอร์ตธุรกิจมีสัดส่วนโรงแรมไม่ถึง 20% จึงบาดเจ็บจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ไม่มาก

ชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) และในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการขายหุ้น รอยัล ออคิด ที่บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 98% อยู่ระหว่างการเจรจาหาข้อตกลงกับนักลงทุน 4 ราย เป็นกลุ่มทุนในไทย 2 ราย และกลุ่มทุนต่างชาติ 2 รายจากสิงคโปร์และฮ่องกง

แรกเริ่มเดิมทีนั้นบริษัทต้องการขายหุ้น 49% แต่มีบางกลุ่มต้องการขอซื้อหมด 100% ทำให้บอร์ดบริหารกำหนดราคาขายหุ้น 100% ต้องไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำเงินส่วนนี้มาใช้คืนหุ้นกู้กว่า 80% และลงทุนในโครงการมิกซ์ยูสในจังหวัดระยองที่มีทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาว คอนโดมิเนียม และวิลล่า มูลค่าโครงการรวม 2,500 ล้านบาท โดยเชื่อมั่นว่า การเจรจาซื้อขายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังแพร่ระบาดจะไม่กระทบต่อราคาขายโรงแรมรอยัล ออคิดฯ

แน่นอนว่า ท่ามกลางปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ต้องปรับแผนการดำเนินงานรอบคอบมากขึ้น แม้ตั้งเป้าหมายรายได้รวมอยู่ที่ 22,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อน ประกอบด้วยรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 16,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นของ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค 15,400 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของแกรนด์ แอสเสทฯ 1,000 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจโรงแรม 3,300 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงแรมในประเทศ 2,000 ล้านบาท โรงแรมในญี่ปุ่น 1,300 ล้านบาท รายได้จากการขายที่ดินและการลงทุน 2,000 ล้านบาท และธุรกิจให้เช่า 300 ล้านบาท

แต่ล่าสุด ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 51.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน กำไรลดลง 666.9 ล้านบาท คิดเป็น 108.4% เนื่องจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักมีรายได้ 2,637.4 ล้านบาท ลดลง 39.8% ส่วนธุรกิจโรงแรม มีรายได้ 955.4 ล้านบาท ลดลง 306.8 ล้านบาท หรือ 43.3% เกิดจากการเข้าพักลดลง ผลพวงมาตรการการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 การควบคุมและจำกัดการเดินทาง

ทั้งหมดทำให้บริษัทต้องชะลอการลงทุนใหม่และตัดขายสินทรัพย์ที่สามารถทำกำไร ทั้งที่ดินในมือและหุ้นของโรงแรมรอยัล ออคิดฯ

หากย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน รอยัล ออคิด เชอราตัน หรือชื่อเดิม รอยัล ออคิด เริ่มต้นจากกลุ่มอิตัลไทยต้องการดำเนินธุรกิจโรงแรม จัดตั้งบริษัท อิตัลไทย อินเตอร์เนชั่นแนล โฮเต็ล เมื่อปี 2521 ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 80 ล้านบาท ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โรงแรม รอยัล ออคิด (ประเทศไทย) ก่อสร้างโรงแรมรอยัล ออคิด และเริ่มเปิดให้บริการบางส่วนในเดือนธันวาคม 2525

22 กรกฎาคม 2526 บริษัทได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้านางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยถือเป็นโรงแรมสุดหรูหราด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวตึกออกแบบเป็นตัววาย (Y) เพื่อให้แขกได้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำจากห้องพักทุกห้อง

ปี 2528 บริษัททำสัญญาการจัดการบริหารงานโรงแรมกับ Sheraton Overseas Management Corporation และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน และทาวเวอร์

ปี 2532 บริษัทจดทะเบียนเป็นบริษัทรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้ชื่อหุ้นว่า ROH มีทุนจดทะเบียนรวม 937.5 ล้านบาท

14 พฤษภาคม 2544 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อกลุ่มสตาร์วูด โรงแรมและรีสอร์ตเวิลด์ไวด์ ประเทศสิงคโปร์ บรรลุข้อตกลงซื้อหุ้น ROH ตามข้อเสนอซื้อขายหุ้น จำนวน 44% หรือ 93.75 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 29 บาท บวกกับเงินปันผลอีก 1.70 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท

สำหรับจำนวนหุ้น 44% เป็นของผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ อิตัลไทย มิชิแกนอินเวสเม้นท์ และฮ่องกงแลนด์ ส่วนผู้ถือหุ้นที่เหลือ คือ การบินไทย สัดส่วน 24% เอ็มบีเค ดีเวลลอปเมนท์ 25% และผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยกลุ่มอิตัลไทยตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้งหมด เพราะธุรกิจโรงแรมไม่ใช่ธุรกิจหลักและอยากหันไปทุ่มการลงทุนกับธุรกิจหลักที่ถนัดมากกว่า

26 ตุลาคม 2544 นางประคอง ลีละวงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็มบีเค พร็อพเพอร์ตีส์ แอนด์ ดีเวลล็อปเมนท์ ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทมีนโยบายขยายการลงทุนธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อสร้างโครงการใหม่และซื้อหุ้นในโรงแรมอื่น โดยเข้าซื้อหุ้นโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน 29-34% มูลค่า 718 ล้านบาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่จึงประกอบด้วย บริษัท สตาร์วูด โฮเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด สัดส่วน 44% บริษัท เอ็ม บี เค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด 29.865% และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 24%

จนกระทั่งวันที่ 24 มกราคม 2561 กลุ่มแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ประกาศเข้าซื้อหุ้นบริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH จากบริษัท สตาร์วูด โฮเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 44% ราคาหุ้นละ 35 บาท รวมทั้งสิ้น 1,440 ล้านบาท และจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 24% ราคาหุ้นละ 41 บาท รวมเป็นเงิน 922.5 ล้านบาท รวม 68% พร้อมทำคำเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดอีก 32% ที่ราคาหุ้นละ 41 บาท

อีกไม่กี่เดือนต่อมา นายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน มีมติอนุมัติในหลักการเบื้องต้นให้ บริษัท เอ็ม บี เค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (MBK-HR) ขายหุ้นทั้งหมดของโรงแรมรอยัล ออคิด ที่ถืออยู่ 29.86% หรือ 27,998,051 หุ้น ให้กลุ่ม แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ มูลค่าขายรวมสุทธิ 1,144,840,305 บาท

การซื้อหุ้นต่อจากเอ็มบีเคครั้งนั้น เพื่อต้องการเทกโอเวอร์โรงแรมรอยัล ออคิดฯ 100% อย่างรวดเร็ว โดยแกรนด์ แอสเสทฯ เห็นว่า โรงแรมแห่งนี้ตั้งอยู่ในทำเลริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพฯ ที่หาไม่ได้อีกแล้วและใช้เงินเพียง 3,500 ล้านบาท เฉลี่ยราคาราว 5 ล้านบาทต่อห้อง แต่หากสร้างโรงแรมใหม่ต้องลงทุนสูง เฉลี่ยห้องละกว่า 10 ล้านบาท ไม่รวมที่ดิน โดยวางแผนปรับปรุงใหม่ หลังจากสร้างมานานมากกว่า 30 ปี

นอกจากนั้น นายวิชัย ทองแตง ทนายความที่มีความใกล้ชิดกับนายทักษิณ ชินวัตร และผันตัวเองมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในหลายบริษัทและหลายธุรกิจ จนได้ฉายา “พ่อมดตลาดหุ้น” ในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัท แกรนด์ แอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อลุยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรม

ปัจจุบัน โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน มีห้องพักทั้งสิ้น 726 ห้อง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยผลประกอบการเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 986.52 ล้านบาท กำไรสุทธิ 147.42 ล้านบาท และช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 มีรายได้รวม 174.28 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6.93 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ กลุ่มบริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) ยังร่วมประมูลโครงการดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ โดยคาดหวังจะสร้างการเติบโตครั้งใหญ่ แต่สุดท้าย กลุ่มคิง เพาเวอร์ คว้าสัมปทานไปได้ ยึดสัมปทานยาวนาน 10 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563-31 มีนาคม 2573 เนื่องจากเสนอค่าตอบแทนสูงกว่าที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เคยได้รับอยู่เดิมและสูงกว่าที่ ทอท. คาดหมาย

ขณะที่ผู้ได้คะแนนอันดับ 2 คือ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนามกิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี และอันดับ 3 คือ บริษัทโรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนามกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บริษัทโรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UK LIMITED ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี ที่มีฐานในประเทศอังกฤษ

ดังนั้น ต้องติดตามก้าวต่อไปของโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน จะลงเอยกับทุนไทยหรือต่างชาติ หรือพิษโควิดจะทำให้ดีลการขายสุดท้ายยังไม่ยอมจบลงง่ายๆ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนเช่นนี้

ใส่ความเห็น