ยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ของมหาเศรษฐี นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หนีไม่พ้นพิษโควิด-19 ต้องตัดสินใจใช้นโยบายหั่นค่าใช้จ่ายทุกทาง โดยเฉพาะแผน Zero OT ตัดโอทีเหลือ “0” เพื่อฝ่าวิกฤตธุรกิจโรงพยาบาล หลังเจอผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสอันตราย ฉุดรายได้และกำไรถึงขั้นติดลบ
ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบในหลักการตามมาตรการเปิดประเทศท่องเที่ยวอย่างจำกัด หรือ Travel Bubble ซึ่งจะเป็นหนทางดึงดูดชาวต่างชาติกลับเข้ามา แต่ต้องรอลุ้นการพิจารณาอีกหลายรอบ เนื่องจากทุกฝ่ายยังหวั่นเกรงปัญหาการแพร่ระบาดรอบใหม่
ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้ามาดูแลวางหลักเกณฑ์ และให้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ามาหารือเจรจากับประเทศต่างๆ ที่สนใจร่วมกันจับคู่ ซึ่งเบื้องต้นมีเอกอัครราชทูต ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เสนอเข้าหารือความร่วมมือ Travel Bubble ทั้งวิธีการท่องเที่ยวและการคัดกรองนักเดินทางบนพื้นฐานความปลอดภัยในการควบคุมโรค และเศรษฐกิจ โดยจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ พิจารณารอบแรกในวันที่ 26 มิถุนายนนี้
ดังนั้น หากคำนวณตามกรอบเวลาและขั้นตอนต่างๆ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประเมินว่า โครงการทราเวลบับเบิลจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวประเทศแรกอย่างเร็วต้นเดือนกรกฎาคม หรืออย่างช้าในเดือนสิงหาคม-กันยายน แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเป้าหมาย ได้แก่ จีน เวียดนาม สปป. ลาว กัมพูชา เมียนมา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง
นฤมล น้อยอ่ำ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลในเครือลดลง เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติถึง 30% และกลุ่มคนไทยเกือบทั้งหมดงดเว้นการเดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาล เช่น การตรวจสุขภาพ บริการทันตกรรม การฉีดวัคซีน นอกจากเจ็บป่วยและจำเป็นต้องมารักษาตัว
แน่นอนว่า จากเครือข่ายโรงพยาบาลของกลุ่ม BDMS ที่มีมากถึง 48 แห่ง กระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศไทยและกัมพูชา ภายใต้ 6 แบรนด์หลัก ประกอบด้วยกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบี เอ็น เอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล และถือหุ้นอยู่ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เมื่อรวมพิษผลกระทบทุกแห่งทำให้ยอดรายได้หดหายไปจำนวนมาก
หากพิจารณาตัวเลขในไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดในประเทศไทยและการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ปรากฏว่า BDMS มีรายได้รวม 19,740 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 20,545 ล้านบาท ลดลง 3.9% ที่น่าตกใจ คือ กำไรสุทธิรวม 2,691 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 กำไรสุทธิสูงถึง 8,553 ล้านบาท ติดลบถึง 68.5% ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการหายไปของกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ทั้งในกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย
รวมทั้งคนไข้กลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีจำนวนลดลงจากผลพวงสงครามราคาน้ำมันโลก ทำให้ราคาน้ำมันทรุดฮวบจนกดดันรายได้ของคนไข้กลุ่มนี้ด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ประเมินภาพรวมรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน ปี 2563 จะหดตัวกว่า 6-8% จากปี 2562 โดยกลุ่มโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติสูงจะได้รับผลกระทบมากที่สุด นำโดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) โรงพยาบาลสมิติเวช (SVH) และกลุ่ม BDMS ที่มีสัดส่วนรายได้จากคนไข้ต่างชาติสูงถึง 66%, 40% และ 30% ตามลำดับ
แต่หากจะฟันธงอย่างมั่นใจ ธุรกิจโรงพยาบาลน่าจะกลับมาพลิกฟื้นรายได้ประมาณปี 2564 เนื่องจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวยังมีข้อจำกัด แม้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 0 แต่ผู้ป่วยต่างชาติอาจบินเข้ามารักษาน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะปัญหาการกักตัวตามมาตรการด้านสาธารณสุข 14 วัน ก่อนเข้าประเทศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 53,000 บาทต่อคน ถ้ามากันทั้งครอบครัวอย่างน้อย 3-4 คน ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากเดิม 3-4 เท่า
นฤมลยอมรับว่า ประเมินสถานการณ์ต่างๆ การพลิกฟื้นรายได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องทำให้ดีที่สุด โดยปีนี้ BDMS ต้องปรับแผนการดำเนินงานทั้งหมด แบ่งเป็นการตัดลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ บุคลากร ประมาณ 1,000 ล้านบาท ได้แก่ การลดต้นทุนด้านบุคลากรภายใต้นโยบาย Zero OT ลดค่าล่วงเวลา (โอที) เหลือน้อยที่สุดจนเหลือ 0 ลดพนักงานพาร์ตไทม์และชะลอการจ้างพนักงานประจำ ให้พนักงานใช้วันหยุดหรือพักงานแบบไม่ต้องจ่ายเงิน (Leave without Pay) ลดค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม
สำหรับกลุ่มแพทย์จะมีการปรับวันทำงานและวันหยุดของแพทย์ ลดการประกันรายได้ขั้นต่ำ ลดการฝึกอบรม และทุนต่างๆ นอกจากนี้ ให้ปรับค่าใช้จ่ายด้านการบริการต่างๆ ตามความจำเป็น เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แม่บ้านทำความสะอาด เน้นระบบการประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด
ส่วนที่ 2 ด้านการลงทุนจะเลื่อนบางโครงการและพิจารณาการลงทุนเท่าที่จำเป็น ซึ่งในส่วนนี้ตั้งเป้าหมายตัดลดลงจากแผนเดิม 1,000 ล้านบาท
ที่สำคัญ เครือ BDMS ต้องเร่งหารายได้เพิ่มขึ้นหลังรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการต่างๆ แบบ New Normal โดยเฉพาะการจัดแพ็กเกจการตรวจสุขภาพ แพ็กเกจวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยง เด็กและผู้สูงอายุ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างฐานรายได้ใหม่
อย่างล่าสุดเครือโรงพยาบาลพญาไทประกาศจับมือกับบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) เปิดตัว “บ้านนวัตกรรมอากาศบริสุทธิ์ ปลอดเชื้อ ปลอดฝุ่น” ในโครงการเพอร์เฟค มาสเตอร์พีซ 5 ทำเล ได้แก่ สุขุมวิท 77 พระราม 9-กรุงเทพกรีฑา รามคำแหง แจ้งวัฒนะ และรัตนาธิเบศร์
นอกจากนั้น ยังขยายฐานจากบริการ Clinic Connect ให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการของพร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค สามารถใช้บริการปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง (TeleMedicine) บริการเจาะเลือดนอกสถานที่ตามคำสั่งแพทย์ และจัดส่งยาภายใน 2 วันทำการ ฟรีค่าส่งยาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งกลุ่มผู้มีประวัติเดิมกับโรงพยาบาลยังมีสิทธิพิเศษส่วนลดค่าห้องพักกรณีผู้ป่วยใน ส่วนลดค่ายาและค่าบริการทางทันตกรรม โปรแกรมตรวจสุขภาพและวัคซีน โดยสามารถให้บริการที่บ้าน บริการรถพยาบาลฟรี รวมถึงบริการ Webinar และ Virtual Workshop ให้ลูกบ้านทุกเดือน
ทั้งหมดล้วนเป็นการปรับตัวแบบ New Normal ของ BDMS และเป้าหมายไม่ใช่แค่การเพิ่มศักยภาพเชิงกลยุทธ์ แต่หมายถึงการอยู่รอดในยุคโควิดที่มีรายได้และผลกำไรเป็นเดิมพัน