วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > ชีวิตของผู้หญิงที่เปลี่ยนไป หลังการแพร่ระบาด COVID-19

ชีวิตของผู้หญิงที่เปลี่ยนไป หลังการแพร่ระบาด COVID-19

Column: Women in wonderland

อย่างที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้นยังคงมีไปทั่วโลก บางประเทศผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บางประเทศเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ แต่ก็กลับมามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก และในขณะเดียวกันบางประเทศก็เริ่มที่จะไม่มีผู้ที่ติดเชื้อแล้ว

จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 7.4 ล้านคน และเสียชีวิตแล้ว 414,780 คน โดยประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ สหรัฐฯ บราซิล และรัสเซีย สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อ 2.1 ล้านคน ส่วนบราซิลและรัสเซียมีผู้ติดเชื้อ 742,084 คน และ 493,657 คน ตามลำดับ เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรกคือ สหรัฐฯ 114,267 คน สหราชอาณาจักร 40,883 คน และอันดับสามคือบราซิล 38,497 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2563)

ขณะเดียวกันหลายประเทศเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้แล้ว อย่างฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ที่เคยเป็นประเทศในอันดับต้นๆ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงเช่นเดียวกัน แต่ขณะนี้ก็เริ่มลดลงแล้ว ขณะที่สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และไทย มีผู้ติดเชื้อน้อยมากหรือแทบไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ และเริ่มลดระดับการควบคุมโดยรัฐ ประชาชนเริ่มออกมาทำงานและใช้ชีวิตตามปกติ แต่ยังมีมาตรการป้องกันและรักษาระยะห่าง เป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัส COVID-19 กลับมาแพร่ระบาดอีก

สถานการณ์ COVID-19 เริ่มดีขึ้น หลายประเทศเริ่มพิจารณาการเดินทางข้ามประเทศเพื่อท่องเที่ยว หรือติดต่อธุรกิจ หรือการศึกษาเช่นแต่ก่อน แน่นอนว่าเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายประเทศปิดน่านฟ้า หรือไม่อนุญาตให้เครื่องบินจากต่างประเทศบินเข้ามานอกจากจะได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่มาจากต่างประเทศนำเชื้อไวรัสมาแพร่กระจายในประเทศ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมประสบปัญหาอย่างหนัก

U.N. World Tourism Organization ได้ทำการประเมินคร่าวๆ ว่า ปีนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างประเทศจะมีรายได้ลดลงมากกว่า 80% เมื่อเทียบกับ ปี ค.ศ. 2019 และจากที่รายได้จากการท่องเที่ยวและโรงแรมลดลงอย่างมากจะส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากมีโอกาสที่จะตกงานสูงขึ้น ซึ่ง U.N. World Tourism Organization คาดการณ์ว่า จะมีคนมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกที่อาจตกงาน แน่นอน คนที่ทำงานในสายงานการท่องเที่ยวและโรงแรมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานะว่างงาน

ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานไปในทิศทางเดียวกันว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องรับภาระหนักขึ้นในการดูแลลูก เพราะโรงเรียนยังคงปิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ในขณะเดียวกันเมื่อหลายประเทศประกาศปิดเมืองหรือปิดประเทศ ทำให้บริษัทต้องปิดตัว มีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องตกงาน

เบื้องต้นพบว่า ผู้หญิงที่ตกงานมีมากกว่าผู้ชายในช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาด โดย the Institute for Fiscal Studies และ UCL Institute of Education ได้ทำการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม พบว่า 47% ของผู้หญิงที่มีลูกแล้วตกงานหรือถูกให้ออกจากงาน อีก 14% ถูกให้พักงานไม่มีกำหนด โดยทั้งสองสถาบันคาดการณ์ว่าสองอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการบริการ และร้านค้าขายปลีก ซึ่งคนที่ทำงานอยู่ในสองอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

ถึงแม้ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดผู้หญิงจะมีงานทำแต่ก็ยังคงประสบปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในที่ทำงาน แน่นอนว่าเมื่อเกิดการแพร่ระบาดย่อมส่งผลกระทบ

ความรุนแรงของการแพร่ระบาดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงานถอยหลัง เพราะเกือบทุกภาคส่วนประสบปัญหาด้านการเงิน มีคนจำนวนมากตกงาน รัฐบาลต้องมุ่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงบริษัทต่างๆ ที่ยังอยู่รอดก็จำเป็นเลือกคนที่มีศักยภาพสูง ดังนั้นผู้หญิงจึงอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดในช่วงวิกฤต ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสิทธิสตรีจึงมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานที่ทุกฝ่ายพยายามร่วมกันมาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาอาจจะถอยหลังกลับไปยังจุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อวันฉลองครบรอบ 50 ปีกฎหมายการจ่ายเงินค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน Sam Smethers ผู้บริหารขององค์กรการกุศล Fawcett Society ได้พูดเรื่องความเท่าเทียมหลังการแพร่ระบาด COVID-19 ว่า ความเท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงานน่าจะถอยหลังไปอีกหลายสิบปี นอกจากรัฐบาลจะแทรกแซงให้บริษัทและองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะปีนี้หลายบริษัทน่าจะมีการขอยกเว้นแสดงรายจ่ายที่เท่าเทียมกันในที่ทำงาน โดยให้เหตุผลการแพร่ระบาดของ COVID-19 และหลายบริษัทประสบปัญหาการเงินและพยายามลดค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจรวมถึงการลดเงินเดือนของผู้หญิงลงมากกว่าผู้ชายด้วย

การคาดหวังให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานน่าจะมีความเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจาก หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ ผู้ชายกลับไปทำงานและผู้หญิงอยู่บ้านเพื่อดูแลลูกและครอบครัว ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้จะทำให้เราย้อนกลับไปอีกอย่างน้อย 20 ปี ที่ผู้ชายออกมาทำงานข้างนอกและผู้หญิงอยู่ดูแลบ้าน ในความเป็นจริงสังคมของเราใช้เวลาประมาณ 20 ปีในการทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ได้ออกมาทำงานนอกบ้านเหมือนกับผู้ชาย แต่การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทำให้สถานะของผู้หญิงย้อนกลับไปเป็นเหมือนในอดีตทันที

เมื่อเดือนพฤษภาคมประชาชนมากกว่า 170,000 คนในสเปนเรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ เนื่องจากการแพร่ระบาดของของ COVID-19 ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ตกงาน การบีบผู้หญิงให้ไม่มีทางเลือกและต้องกลับไปรับภาระหลักอยู่บ้านเพื่อดูแลครอบครัว จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือให้ผู้หญิงได้กลับไปมีงานทำ หรือสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ซึ่งจนถึงตอนนี้รัฐบาลสเปนก็ยังไม่มีนโยบายให้ความช่วยเหลือใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีประกาศแล้วว่าจะพยายามช่วยให้ผู้หญิงกลับไปมีงานทำ ไม่เดินถอยกลับไปอดีตที่ให้ผู้ชายทำงานนอกบ้านและผู้หญิงทำงานบ้านและดูแลลูก

แม้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะมีส่วนที่ดีอยู่บ้าง ตรงที่ผู้หญิงและผู้ชายที่ยังมีงานทำสามารถทำงานที่บ้านได้ และจากการทำงานที่บ้านนี้เองที่ทำให้ผู้ชายมีโอกาสเลี้ยงดูลูกมากขึ้น ช่วยทำงานบ้านเพิ่มมากขึ้น และนี่น่าจะเป็นช่วงโอกาสดีที่ผู้ชายจะได้เรียนรู้ว่าเมื่อก่อนพวกเขาเสียเวลาอันมีค่าของครอบครัวไปและเสียโอกาสในการเห็นลูกๆ ของพวกเขาเติบโตและมีพัฒนาการขึ้นทุกวัน ซึ่งอาจทำให้เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ผู้ชายอาจจะช่วยทำงานบ้านและช่วยเลี้ยงดูลูกมากขึ้น

แต่การทำงานจากที่บ้านตามข้อเรียกร้องของชาวสเปนไม่น่าช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เนื่องจากผู้หญิงที่ทำงานข้างนอกส่วนใหญ่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว และจากการเก็บข้อมูลพบว่า มีผู้หญิงเพียงแค่ 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่จะสามารถทำงานจากที่บ้านได้ และยังไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้เต็มที่เหมือนผู้ชาย เพราะเมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ใครสามารถออกไปจากบ้านได้ นั่นหมายความว่าผู้หญิงยังต้องรับผิดชอบดูแลทุกคนในครอบครัวเป็นหลัก ทำให้ผู้หญิงต้องรับภาระหนักขึ้นในการดูแลครอบครัวและยังต้องทำงานไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

ทางออกของปัญหานี้อาจไม่ใช่การทำงานจากที่บ้าน หรือมีชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น แต่น่าจะเป็นนโยบายของภาครัฐว่า รัฐบาลจะส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ รับผู้หญิงเข้าไปทำงานและจ่ายค่าจ้างในอัตราที่เท่าเทียมผู้ชายในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่นี้อย่างไร
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/mop-1431228

ใส่ความเห็น