วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > 3 อุตสาหกรรมฟื้นตัวช้า พิษโควิด-19 ทำซึมนาน

3 อุตสาหกรรมฟื้นตัวช้า พิษโควิด-19 ทำซึมนาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อธุรกิจในหลายกลุ่มด้วยกัน มาตรการของภาครัฐในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค ด้วยการสั่งหยุดดำเนินกิจการและกิจกรรมหลายด้าน ตั้งแต่ระดับที่ต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว การจำกัดพื้นที่ให้บริการ หรือบางธุรกิจที่ยังพอจะสามารถดำเนินกิจการได้ แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ซึ่งเป็นเหตุให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น

ถึงกระนั้น การที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นอาจเป็นทางออกที่ดีกว่า เมื่อยังสามารถดำเนินกิจการได้ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับบางกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่รู้ว่า หากในอนาคตอันใกล้นี้ รัฐบาลประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 แล้ว จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านธุรกิจให้กลับมาดีดังเช่นก่อนโควิดจะแพร่ระบาดได้หรือไม่

และ 3 กลุ่มธุรกิจที่อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างยาวนานต่อเนื่อง คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจยานยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นั่นเพราะเงื่อนไขที่จะส่งผลให้ธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มนี้กลับมาเดินเครื่องได้เฉกเช่นเดิม ไม่ใช่เพียงมาตรการปลดล็อกมาตรการในระยะ 4 หรือ 5 เท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยจากประเทศอื่นร่วมด้วย ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในประเทศอื่นๆ จะจบลงเมื่อใด จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก รวมไปถึงมาตรการดูแลรักษาและการจำกัดวงของการแพร่ระบาด สามารถทำได้ดีมากน้อยเพียงใด ขณะที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า “วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19” อาจเป็นข้อสรุปของทุกปัญหา

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ด้วยรายได้จากการท่องเที่ยวในแต่ละปี ที่มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 17-20% ของจีดีพี แม้ว่าปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562) ไทยต้องเผชิญกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรอบด้าน ทั้งสงครามการค้า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่ลดลง

ทว่า การท่องเที่ยวยังเป็นพระเอกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ โดยรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวไทยและต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีบทบาทสำคัญถึง 17% ของจีดีพี

แต่ความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวในปีนี้คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาพรวมของตัวเลขการท่องเที่ยวทั้งปีให้น่ากังวล

โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าอาจลดลงไปอย่างมากถึง 65% จากปีก่อน โดย ททท. ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะเหลือเพียงราว 14-16 ล้านคน จากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 39.8 ล้านคน

กระนั้น เมื่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเป็นศูนย์อย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการหลายด้าน เพื่อให้กิจการและกิจกรรมสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งหนึ่ง นั่นทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเริ่มจัดทำแผนเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ

ระยะแรก เป็นระยะที่รัฐจะผ่อนคลายให้มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง การเคลื่อนย้ายผู้คน และสถานที่ชุมนุม โดยจะใช้ช่วงเวลานี้เตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากร ยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะที่สอง

ระยะที่สอง ททท. วางแผนเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน โดยจะเริ่มเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวไม่เกิน 60% ของพื้นที่ที่อนุญาตให้เดินทาง โดยใจความสำคัญกับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศที่ควบคุมโรคได้ดีแล้วให้เข้ามาในไทย ที่อาจเริ่มกลับเข้ามาเที่ยวไทยได้ในเดือนตุลาคม โดยสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่เป้าหมาย อาจเลือกพื้นที่เบื้องต้นเป็นเกาะก่อนที่จะเข้าสู่ระยะที่สาม

ระยะที่สามจะเป็นการเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ โดยเน้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับบน ด้วยภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะจุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก

ซึ่งในระยะที่สามจะสอดคล้องกับการที่ไทยได้รับการจัดอันดับด้านสุขภาพว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดมากที่สุด โดยเป็นรายงานจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

นอกจากนี้ ยังมีรายงานสุขภาพคนไทย 2563 ที่ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 จาก 195 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยมีคะแนนรวม 73.2 คะแนน (คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 40.2 คะแนน) ข้อมูลจากตัวชี้วัดที่รวบรวมจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา และองค์กรความริเริ่มด้านภัยคุกคามนิวเคลียร์

สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ กำลังซื้อของประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยภายใน กระนั้นยังมีปัจจัยภายนอก เช่น จำนวนประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เป็นผลสำเร็จ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ แผนกวิจัยและการสื่อสารของคอลลิเออร์ส อินเตอร์แนชั่นแนล ประเทศไทย บริษัทให้บริการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ระบุในรายงานของบริษัทฉบับเดือนพฤษภาคมว่า ในปี 2563 ประเทศไทยอาจมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ลดลงประมาณ 6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 30.7% จากปีก่อนหน้า

นอกจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสแล้ว คอลลิเออร์ส อินเตอร์แนชั่นแนล ประเทศไทย ยังมองด้วยว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การแข็งค่าของเงินบาท ที่ทำให้การแลกสกุลเงินต่างชาติเป็นเงินไทยมีมูลค่าลดลง 10-20% ข้อจำกัดเรื่องการรองรับของสนามบินหลักของไทย เป็นต้น

ธุรกิจรถยนต์ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งตัวเลขยอดการผลิต ยอดขาย รวมไปถึงการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปที่ลดลง เป็นตัวชี้วัดทิศทางของตลาดรถยนต์ในไทยที่น่าเป็นห่วง

โดย สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขยอดผลิต ยอดขายในประเทศ และยอดการส่งออกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ในเดือนเมษายนปีที่ผ่านมาว่า รถยนต์ผลิตได้ 24,711 คัน ลดลง 83.55% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบ โรงงานผลิตส่วนใหญ่ปิดทำการ เป็นการผลิตรถยนต์ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2530 ทั้งที่ก่อนหน้าตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งปีไว้ที่ 2 ล้านคัน ซึ่งปีนี้จะถึง 1 ล้านคันหรือไม่คงต้องดูจากสถานการณ์ เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกประเทศได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 30,109 คัน ลดลง 65.02% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และลดลงจากเดือนมีนาคม 49.91% และยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 20,326 คัน ลดลง 69.71% การส่งออกลดลงในทุกตลาด เพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 12,389.07 ล้านบาท

ทั้งนี้ภาพรวมธุรกิจยานยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน รถยนต์มียอดขาย 230,173 คัน ลดลงจากปี 2562 ในระยะเวลาเดียวกัน 34.17% รถจักรยานยนต์ยอดขาย 509,603 คัน ลดลง 12.51%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถจักรยานยนต์ ซึ่งมีผู้ซื้อหลักเป็นประชากรในกลุ่มฐานราก

ทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดประเทศ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน และการส่งออกที่ต้องหดตัวลงหลังทั่วโลกต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่เกษตรกรซึ่งเป็นอีกกลุ่มผู้ซื้อหลัก นอกจากจะจำหน่ายสินค้าได้ลดลงจากภาวะปัจจุบันแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในช่วงครึ่งหลังของปีด้วย ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้ออย่างไม่อาจเลี่ยง

ทิศทางดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเลขยอดขายรถจักรยานยนต์รวมในประเทศปี 2563 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 1,300,000 ถึง 1,350,000 คัน สู่จุดต่ำสุดในรอบ 19 ปี ของตลาดซื้อขายรถจักรยานยนต์ในประเทศ ด้วยอัตราการหดตัวลงที่สูงถึงกว่าร้อยละ 21 ถึง 24

ตัวเลขลดลงที่แม้จะไม่ถึงขั้นติดลบของธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจรถยนต์ ทว่าก็ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากในการที่จะทำให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้น หรือตัวเลขรายได้บวกขึ้นมา

ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจในไทยอยู่ก่อนหน้า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลง ส่งผลต่อกำลังซื้อทั้งภายในประเทศและกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน

โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คาดว่าเหตุการณ์นี้จะส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศในปี 2563 อาจทำให้ภาพรวมหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ฯ ลดลงประมาณ 333,000-312,000 หน่วย หรือลดลง 11.1% ถึง 16.7% และมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ฯ ลดลง 755,000-726,000 ล้านบาท ลดลง 13.8% ถึง 17.1% ซึ่งจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ฯ ในรอบ 5 ปี แม้ว่ายังคงมีนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาฯ ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองให้เหลือประเภทละ 0.01% อยู่ถึงปลายปี 2563 ก็ตาม

การปรับตัวของผู้ประกอบการอสังหาฯ ภายใต้สภาวการณ์นี้ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับลูกค้าที่สนใจเข้าชมโครงการ รวมไปถึงการซื้อขายที่ต้องกระทำผ่านช่องทางออนไลน์ หรือนำเสนอขายโครงการผ่าน E-commerce

กระนั้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบจาก Offline ไปสู่ Online คงไม่สามารถสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้ เพราะนั่นเป็นเพียงช่องทางที่ผู้ประกอบการใช้นำเสนอสินค้าของตนให้ถึงมือผู้บริโภคเท่านั้น ทว่า ความสามารถทางการเงินในปัจจุบันขณะและในอนาคตต่างหากที่จะเป็นตัวตัดสิน ว่าซัปพลายที่คงค้างอยู่ในตลาดจะถูกดูดซับไปได้บ้างหรือไม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจท่องเที่ยว รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ถือเป็น 3 อุตสาหกรรมสำคัญที่คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่หากมองจากมิติของการจ้างงาน ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานในห่วงโซ่มากถึง 4 ล้านคน จะเป็นธุรกิจที่ภาครัฐจะพุ่งเป้าหมายการเยียวยาไปที่ธุรกิจและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเป็นอันดับต้นๆ โดยต้องยอมรับว่าธุรกิจหลักของไทยอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปี ในการฟื้นตัวให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19

คงต้องรอดูกันว่า นโยบายกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนจากภาครัฐจะส่งผลให้เกิดกำลังซื้อมากน้อยเพียงใด เมื่อประชาชนจำนวนมากยังจับจ่ายด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่ใช่เพียงแต่เศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่สภาวะชะลอตัว ทว่า เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังดำเนินไปภายใต้สภาวะแวดล้อมไม่ต่างกัน

ใส่ความเห็น