การท่องเที่ยวไทยเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญของไทยในการสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุนี้ภาครัฐและเอกชนจึงให้ความสำคัญกับตลาดท่องเที่ยว และมักจะมีแคมเปญที่ทั้งสองฝ่ายทำร่วมกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์ การตลาดที่มีเป้าประสงค์ให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางมาเที่ยวยังประเทศไทย
นอกจากนี้อีกหนึ่งประจักษ์พยานสำคัญ คือการที่หลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงการดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติให้อยู่ในสมดุลที่ดี รวมไปถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อให้พร้อมสำหรับภาคการบริการ
ไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 การท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้รวมสูงถึง 3.01 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้เป็นการขยายตัวร้อยละ 2.37 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยแบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.93 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.05 และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สร้างรายได้ในไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย รัสเซีย ญี่ปุ่น และอินเดีย
ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ สร้างรายได้ 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.18 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทยสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต
ปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยเป็นจำนวนสูงถึง 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลี และลาว ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 166 ล้านคนครั้ง ลดลงร้อยละ 0.06
อย่างไรก็ตาม สัญญาณการชะลอตัวลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ที่เป็นห้วงยามแห่งการถดถอยทางเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยที่ส่งผลลบในหลายด้าน นอกเหนือไปจากสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่แห่งประเทศมหาอำนาจอย่าง จีนกับสหรัฐอเมริกา
ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่ต้องพึ่งพิงรายได้จากนอกประเทศเป็นหลัก ย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อหลายประเทศต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและส่งผลให้กำลังซื้อของประชากรในประเทศลดลง
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจีนตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา กระทั่งสืบเนื่องและขยายวงการแพร่ระบาดไปอีกหลายประเทศทั่วโลก กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย
เมื่อจีนซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังไทยมากเป็นอันดับ 1 กลับจำกัดการเดินทางนับตั้งแต่การระบาดของโรคอุบัติใหม่ และแม้ว่าปัจจุบันจีนจะสามารถควบคุมไปถึงระดับที่หยุดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ชาวจีนจะสามารถเดินทางออกมาท่องเที่ยวยังต่างประเทศได้
เมื่อนานาชาติยังต้องเผชิญวิบากกรรมที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า สงครามระหว่างมนุษยชาติกับเชื้อไวรัสนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยแทบจะถูกแช่แข็งนับตั้งแต่การระบาดของไวรัสที่ว่า และช่วงเวลาที่เกิดภาวะวิกฤตนี้ยังเป็นช่วงเวลาไฮซีซั่น ที่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวมักจะทำรายได้จำนวนมหาศาล ซึ่งประกอบไปด้วยเทศกาลตรุษจีน ประเพณีสงกรานต์
ผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีต้นทุนหรือสายป่านที่ยาวพอจะยืนระยะได้จนจบสงครามนี้ จำเป็นต้องประกาศให้พนักงานหยุดทำงานชั่วคราว ซึ่งรูปแบบการจ่ายค่าแรงมีทั้งแบบจ่ายเพียง 75-50 เปอร์เซ็นต์ หรือแบบที่ระงับการจ่ายค่าแรง ตามความสามารถทางการเงินของผู้ประกอบการ
สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์การท่องเที่ยวและดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 1/2563 เพื่อคาดการณ์ถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 57 ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี
โดยได้คาดการณ์ไตรมาส 1/2563 ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.70 ล้านคน ลดลงร้อยละ 37.96 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 และคาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 343,130 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 38.4 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายได้เร็ว (ภายใน 6 เดือน) สิ้นปี 2563 ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 26.59 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 33.19 และคาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 1.23 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 36.38
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในปีนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศชี้ให้เห็นว่ากำลังเดินทางเข้าสู่สภาวะปกติ เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และในหลายจังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นระยะเวลาหลายวันติดต่อกัน
นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ทั้งนี้ หากประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ กิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันและธุรกิจก็น่าจะทยอยกลับมาตามลำดับ
สำหรับภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ต้องยอมรับว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในห่วงโซ่การท่องเที่ยวอย่างหนัก จากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย
ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวในปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ทางการผ่อนคลายมาตรการลงเป็นลำดับ สถานที่ท่องเที่ยวและการให้บริการด้านการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้ เช่น สายการบินที่น่าจะเริ่มเปิดเส้นทางการบินในประเทศได้มากขึ้น เมื่อประกอบกับการทำกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจากผู้ประกอบการ จะทำให้บรรยากาศและความต้องการท่องเที่ยวในประเทศค่อยๆ กลับมา
แต่เนื่องจากตลาดไทยเที่ยวไทยยังมีหลายปัจจัยลบ อาทิ นักท่องเที่ยวยังมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงผลกระทบจากความเชื่อมั่นต่อการมีงานทำและกำลังซื้อที่อ่อนแอของประชาชน หลังกิจกรรมเศรษฐกิจส่วนใหญ่หยุดชะงัก จึงทำให้ทั้งปี 2563 ตลาดไทยเที่ยวไทยอาจหดตัวประมาณ 52.3 เปอร์เซ็นต์ ถึงประมาณ 46.4 เปอร์เซ็นต์ หรือมีจำนวน 79.5-89.5 ล้านคนครั้ง
ขณะที่รายได้ท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยจะมีมูลค่า 4.85-5.45 แสนล้านบาท หดตัวประมาณ 55.1 เปอร์เซ็นต์ ถึงประมาณ 49.4 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน (การประเมินอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่โควิด-19 ไม่กลับมาระบาดอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้) อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาพเชิงลบของตลาดโดยรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดนักท่องเที่ยวระดับบนจะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ
แน่นอนว่า นอกเหนือจากความคาดหวังให้ตลาดฟื้นตัวโดยเร็ว ที่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคตแล้ว สิ่งใหม่ที่ยังเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องเผชิญคือ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปสู่ New Normal ที่ทำให้ผู้ประกอบการจำต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business Norms) เช่นกัน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น การให้บริการที่ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากโควิด-19 ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ แต่ก็เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายเผชิญกับสภาพคล่องที่จำกัด ทำให้ยังต้องระมัดระวังควบคุมรายจ่ายโดยให้มีผลต่อการบริการน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสต็อกสินค้า การจ้างงาน หรือการจัดกิจกรรมการตลาดที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อปี 2562 ที่ 1.93 ล้านล้านบาท กับตัวเลขการคาดการณ์ที่ สทท. ประเมินไว้ว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ 1.23 ล้านล้านบาทนั้น หากผลเป็นไปอย่างที่คาดการณ์ ต้องยอมรับว่าเป็นอีกปีที่เครื่องจักรทางเศรษฐกิจของไทยตัวนี้ ได้เผชิญกับความยากลำบากอีกครั้ง และอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางรายล้มทั้งยืน