ท่ามกลางความร้อนระอุของวิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเร่งมือหาทางจำกัดวงของผู้ติดเชื้อ และระดมสรรพกำลังคิดค้นที่จะผลิตวัคซีนเพื่อเอาชนะโรคระบาดนี้
เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของทุกประเทศ หลายแวดวงธุรกิจต้องชะลอตัวไปจนถึงหยุดชะงัก และไม่สามารถเดินเครื่องต่อไปได้ ทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การค้า การลงทุน
แม้ทั่วโลกจะเห็นสัญญาณลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งจากสงครามการค้า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน หรือกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง แต่การต้องเผชิญกับวิกฤตเชื้อไวรัสเป็นสิ่งที่นอกเหนือการคาดการณ์
ในทุกวิกฤตมักจะมีโอกาสที่ดีเสมอ และมีความเป็นไปได้ว่าสัญญาณที่ดีดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นกับภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกที่ทำรายได้มหาศาล “ข้าวไทย”
เมื่อปลายเดือนมีนาคมคณะรัฐมนตรีเวียดนามมีมติระงับการออกใบอนุญาตเพื่อการส่งออกข้าวเป็นการชั่วคราว มติดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เวียดนามจึงจำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งด้านศักยภาพ ความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประชากรในประเทศ โดยรัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติทดลองให้ส่งออกข้าวได้ไม่เกิน 4 แสนตันต่อเดือน
แน่นอนว่า หากเวียดนามลดปริมาณการส่งออกข้าวลง มีความเป็นไปได้ว่าความต้องการข้าวอาจจะหมุนมายังประเทศไทย ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าทั่วโลกจะมีความต้องการข้าวในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะตัวเลขดังกล่าวอาจทำให้ไทยสามารถเบียดผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งอย่างอินเดียได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม สัญญาณบวกของการส่งออกข้าวไทยยังต้องรอดูสถานการณ์ของโรคโควิด-19 รวมไปถึงมติคณะรัฐมนตรีของเวียดนามที่หากพิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในเวียดนามยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ รัฐบาลเวียดนามอาจผ่อนปรนหรือพิจารณามติดังกล่าวใหม่อีกครั้ง
รวมไปถึงปริมาณผลผลิตข้าวเพื่อการส่งออกของไทยจะมีมากน้อยเพียงใด เมื่อยังมีปัจจัยอีกรอบด้านที่ต้องนำมาพิจารณา ทั้งปัญหาภัยแล้งที่ดูจะผูกขาดอยู่กับเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนาน และส่งผลต่อผลผลิตให้มีปริมาณลดลงแทบทุกปี รวมไปถึงสายพันธุ์ข้าวที่อาจจะยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์
ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลให้การส่งออกข้าวไทยในปี 2562 ไทยทำได้เพียง 7.58 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี และแม้ว่าปีนี้กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศจะตั้งเป้าการส่งออกข้าวอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน แต่ยังต้องรอดูว่าปัจจัยที่รุมเร้าอยู่รอบด้านจะมีผลต่อเป้าประมาณการในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด
นอกเหนือจากปัญหาภัยแล้งที่มีผลต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลง และส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้นแล้ว ข้าวไทยยังประสบกับปัญหาผลผลิตต่อไร่ที่ข้าวหอมมะลิทำได้เพียง 350 กิโลกรัมต่อไร่ และข้าวขาว 700-800 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่เวียดนามซึ่งพัฒนาจนทำให้สามารถเพิ่มจำนวนผลผลิตได้สูงถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ และจีนสามารถปลูกข้าวได้มากถึง 1,000-2,000 กิโลกรัมต่อไร่
ด้านกรมการค้าต่างประเทศ กรมการข้าว ผู้ส่งออกข้าว โรงสี เกษตรกร หารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องผลผลิตที่มีปริมาณน้อยกว่าคู่แข่ง ทว่าปัญหาที่ยึดโยงเกษตรกรไทยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือ ปัญหาภัยแล้งที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียที
หลายฝ่ายมองว่าไทยต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีความเสถียรภายในระยะเวลา 3-5 ปี กระนั้นเวลาดังกล่าวอาจจะยังนานเกินไป และทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังก่อนที่อันดับการส่งออกข้าวไทยจะตกไปอยู่อันดับที่ 3
ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยไว้ว่า “การหาตลาดใหม่เป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันตลาดส่งออกข้าวไทยไปทุกประเทศทั่วโลกแล้ว ไทยต้องแก้ปัญหาที่ไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ ว่าจะทำอย่างไรให้กลับมาขยายตัว และฟื้นส่วนแบ่งตลาดให้ดีขึ้นได้”
ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2562 ที่ส่งออกไปทั้งสิ้น 7.58 ล้านตันนั้น แบ่งเป็น ตลาดแอฟริกา 3.99 ล้านตัน ลดลง 24.2% ตลาดเอเชีย 1.78 ล้านตัน ลดลง 56.5% ตะวันออกกลาง 0.48 ล้านตัน ลดลง 4.6% อเมริกา 0.68 ล้านตัน ยุโรป 0.36 ล้านตัน ลดลง 5.4% ออสเตรเลีย 0.16 ล้านตัน
นอกจากปัญหาข้าวไทยในตลาดโลกที่ทุกฝ่ายต้องเร่งแก้แล้ว ตลาดข้าวในประเทศที่กำลังเพิ่มขึ้นคือ ปัญหาการปรับขึ้นราคาของข้าวบรรจุถุงที่มีการปรับขึ้นราคาอีก 20% เป็นการปรับขึ้นมากสุดในรอบ 10 ปี
นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ อธิบายว่า ราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลจากผลผลิตที่มีปริมาณลดลงจากภัยแล้ง ส่งผลให้ต้นทุนข้าวสารที่ใช้ผลิตข้าวสารบรรจุถุงปรับตัวสูงขึ้น และทำให้ราคาข้าวสารบรรจุถุงปรับตัวจากเดิมในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกที่ลดลงจะไม่ส่งผลกระทบให้ข้าวเพื่อการบริโภคขาดตลาด เพราะสต๊อกข้าวสารรวมทุกฝ่าย ทั้งจากโรงสี ข้าวถุง ผู้ส่งออก คาดว่าจะมีประมาณ 5 ล้านตัน และข้อมูลการบริโภคข้าวของคนไทยทั้งประเทศ มีการบริโภคข้าว 83-84 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ย 230 กรัมต่อคนต่อวัน คิดเป็นปริมาณรวม 4 แสนตันต่อเดือน หากไม่มีข้าวใหม่มาเติม ข้าวในสต๊อก 5 ล้านตันนี้สามารถใช้บริโภคได้อีกเป็นปี
ในแต่ละปีปริมาณการบริโภคข้าวของไทยอยู่ที่ปีละ 9-10 ล้านตัน ทว่าจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง กระทบต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสแรกความต้องการบริโภคในประเทศจะลดลงไปถึง 20% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่มีปริมาณ 1.5 ล้านตัน
ไม่น่าแปลกใจที่ในระยะหลังไทยจะโดนคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดผู้ส่งออกข้าวไปได้เป็นจำนวนมาก เพราะเวียดนามพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิจนคว้าแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกไปเมื่อปี 2562 อีกทั้งราคาข้าวหอมมะลิเวียดนามยังมีราคาถูกกว่าไทยอยู่ที่ตันละ 600-700 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ข้าวหอมมะลิของไทยอยู่ที่ตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ
และไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวของเวียดนามเท่านั้นที่ทำให้เวียดนามแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวจากไทยได้ไป เวียดนามยังได้เปรียบจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีข้าวในตลาดยุโรปอีกด้วย
นอกจากนี้ จีนยังเป็นอีกประเทศที่อาจก้าวเข้ามาแย่งชิงตลาดส่งออกข้าวไปจากไทย เมื่อราคาขายข้าวขาวของจีนมีราคาถูกกว่าข้าวไทยถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งทำให้จีนสยายปีกยึดตลาดข้าวในพื้นที่แถบแอฟริกาจากไทยไปได้ไม่ยากนัก และแอฟริกาคือตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย
แม้จะมีสัญญาณบวกที่จะเป็นโอกาสให้ข้าวไทยเพื่อการส่งออกมีปริมาณสูงขึ้นหรืออย่างน้อยก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 7.5 ล้านตัน ทว่าสัญญาณบวกก็ดูจะเบาบางและยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ อีกรอบด้าน ทั้งความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังซื้อหยุดชะงักในสินค้าบางชนิด ปริมาณผลผลิตจะเพียงพอต่อการส่งออกหรือไม่ ความต้องการของตลาด นอกจากจะต้องมองคู่แข่งภายนอกแล้ว การแข่งขันกันเองของผู้ส่งออกไทยก็ส่งผลกระทบเช่นกัน
ปีนี้ “ข้าวไทย” อาจจะต้องเหนื่อยอีกปี และต้องรอดูกันว่า ไทยจะเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งให้แก่อินเดียติดต่อกันเป็นปีที่ 5 หรือไม่